ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

รายงานประสิทธิผลของวัคซีนโควิด mRNA 3 ชนิด ต่อการป้องกันการ "ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล" (CDC สหรัฐ)

รายงานประสิทธิผลของวัคซีนโควิด mRNA 3 ชนิด ต่อการป้องกันการ "ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล" (CDC สหรัฐ) Thumb HealthServ.net
รายงานประสิทธิผลของวัคซีนโควิด mRNA 3 ชนิด ต่อการป้องกันการ "ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล" (CDC สหรัฐ) ThumbMobile HealthServ.net

บทความฉบับนี้สรุปมาจากบทความที่ตีพิมพ์ในรายงานการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตรายสัปดาห์ (Morbidity and Mortality Weekly Report, MMWR) ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (Center for Disease Control and Prevention, CDC) เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2564

 
การประมาณการเบื้องต้นของประสิทธิผลของวัคซีนโควิด-19 ต่อการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ที่นำไปสู่การเข้ารับการรักษาที่แผนกฉุกเฉิน (Emergency Department) หรือที่คลินิกดูแลเร่งด่วน (Urgent Care Clinic) และการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ที่ทำให้ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ในกลุ่มประชากรผู้ใหญ่ระหว่างช่วงเวลาที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ใน 9 รัฐ ของประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่าง เดือนมิถุนายน - สิงหาคม 2564
 
 
รายงานฉบับนี้ ดำเนินการโดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC)  โดยมีกรอบการศึกษา ดังนี้

• ใช้ข้อมูลการเข้ารับการรักษาจำนวนทั้งสิ้น 32,867 ราย จากโรงพยาบาลจำนวน 187 แห่งและจากสถานพยาบาลประเภทแผนกฉุกเฉิน และคลินิกดูแลเร่งด่วน จำนวน 221 แห่ง ใน 9 รัฐของประเทศสหรัฐอเมริกาที่อยู่ในเครือข่าย VISION

• ทำการประเมินเบื้องต้นถึงประสิทธิผลของวัคซีนโควิด-19 ต่อการป้องกันการติดเชื้อที่นำไปสู่การเข้ารับการรักษาที่แผนกฉุกเฉินหรือที่คลินิกดูแลเร่งด่วน และ การป้องกันการติดเชื้อที่ทำให้ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

• ศึกษาในกลุ่มประชากรผู้ใหญ่ (อายุ 18 ปีขึ้นไป) ระหว่างเดือน มิถุนายน - สิงหาคม 2564 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้า

• การประเมินประสิทธิผลของวัคซีนครั้งนี้จะเป็นการวิเคราะห์ในผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบจำนวนโดสที่กำหนดไว้ กล่าวคือ สองเข็มสำหรับวัคซีนไฟเซอร์ หรือวัคซีนโมเดอร์น่า และ หนึ่งเข็มสำหรับวัคซีนแจนส์เซ่น ตั้งแต่ 14 วันขึ้นไปแล้วเท่านั้น และการเก็บข้อมูลเริ่มต้น ณ.วันที่ แต่ละสถานพยาบาลของแต่ละรัฐตรวจพบไวรัสสายพันธุ์เดลต้าเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% ขึ้นไปจากตัวอย่างทั้งหมด
 
 


ผลการศึกษา

จากการศึกษาพบว่า ประสิทธิผลโดยรวมของวัคซีนต่อการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในประชากรผู้ใหญ่ประเภทที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอยู่ที่ 86% อย่างไรก็ดีประสิทธิผลดังกล่าวจะลดลงอย่างมีนัยสําคัญในผู้ใหญ่ที่มีอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป เมื่อเทียบกับผู้ที่มีอายุ 18-74 ปี (76% เทียบกับ 89%) โดยที่ค่าประมาณประสิทธิผลของวัคซีนโควิด-19 ที่พบว่ามีความแตกต่างกันในช่วงอายุที่ต่างกันนั้นมีความคล้ายคลึงกันในวัคซีนไฟเซอร์ และวัคซีนโมเดอร์น่า นอกจากนี้แล้วยังพบว่าประสิทธิผลของวัคซีนในกลุ่มที่ทำการศึกษาทุกช่วงอายุนั้น ผู้ที่ได้รับวัคซีนโมเดอร์น่าจะแสดงประสิทธิผลในการป้องกันที่สูงกว่า (95%)  ผู้ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ (80%) และ วัคซีนแจนส์เซ่น (60%) อย่างมีนัยสำคัญ
 

ประสิทธิผลโดยรวม


สำหรับประสิทธิผลโดยรวมของวัคซีนโควิด-19 ทั้งสามชนิดต่อการป้องกันการติดเชื้อที่นำไปสู่การเข้ารับการรักษาที่แผนกฉุกเฉินหรือที่คลินิกดูแลเร่งด่วนนั้นอยู่ที่ 82% โดยพบประสิทธิผลของวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อระดับสูงสุดในผู้ที่ได้รับวัคซีนโมเดอร์น่า (92%) ตามมาด้วย ผู้ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ (77%)  และต่ำสุดพบในผู้ที่ได้รับวัคซีนแจนส์เซ่น (65%)
 

โดยภาพรวมแล้ว ถึงแม้ว่าค่าประมาณการประสิทธิผลของวัคซีนในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้านี้จะมีความคล้ายคลึงกับช่วงเวลาก่อนหน้าที่สายพันธุ์เดลต้าจะมีความโดดเด่นขึ้นมา แต่พบว่าประสิทธิผลของวัคซีนต่อการติดเชื้อโควิด-19 ประเภทที่ต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลในผู้ใหญ่ที่มีอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไปนั้น ต่ำกว่าในผู้ใหญ่ที่มีอายุน้อยกว่า 75 ปีอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในข้อมูลของเครือข่าย VISION อย่างไรก็ดีการตีความของการลดลงของประสิทธิผลของวัคซีนนี้ ควรทำด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากอาจจะมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของเชื้อไวรัสเอง, การลดระดับลงของภูมิคุ้มกันเมื่อเวลาผ่านไป หรืออาจจะเกิดจากทั้งสองปัจจัยรวมกันก็เป็นได้
 
 

สำหรับความแตกต่างของประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อระหว่างวัคซีน mRNA ทั้งสองชนิดที่พบในรายงานครั้งนี้ แม้ว่าจะไม่เคยปรากฏมาก่อนในข้อมูลของเครือข่าย VISION นั้น แต่ก็มีความสอดคล้องกับการค้นพบล่าสุดที่มีการรายงานโดย Puranik et al. ที่มีการแสดงให้เห็นถึงประสิทธิผลของวัคซีน mRNA ทั้งสองชนิดที่แตกต่างกันในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์แอลฟ่า และเดลต้า อย่างไรก็ดีการวิเคราะห์ตรวจสอบเพิ่มเติมในแง่ของขนาดของความต่างและสาเหตุที่ทำให้ประสิทธิผลของวัคซีนแต่ละชนิดมีความแตกต่างกันก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจจะศึกษาต่อไป
 

ข้อมูลจากผลการวิจัยเหล่านี้เป็นการยืนยันว่าวัคซีนโควิด-19 ช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ระดับปานกลางและรุนแรงที่นำไปสู่การเข้ารับการรักษาที่แผนกฉุกเฉินหรือที่คลินิกดูแลเร่งด่วน และ การติดเชื้อที่ทำให้ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล นอกจากนี้แล้วยังเป็นการเน้นย้ำถึงความสําคัญของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ครบจำนวนโดส และประโยชน์ที่ได้รับอย่างต่อเนื่องของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้า





ที่มา : CDC  รายงาน (ออก ณ วันที่ 17 กันยายน 2564) จากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกาในหัวข้อ
Interim Estimates of COVID-19 Vaccine Effectiveness Against COVID-19–Associated Emergency Department or Urgent Care Clinic Encounters and Hospitalizations Among Adults During SARS-CoV-2 B.1.617.2 (Delta) Variant Predominance — Nine States, June–August 2021
Weekly / September 17, 2021 / 70(37);1291–1293
 
On September 10, 2021, this report was posted online as an MMWR Early Release.

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด