โครงการ "
อาหารสมุนไพรเสริมสร้างสุขภาพ" โดย
TTMIC ให้ข้อมูลน่าสนใจ เกี่ยวกับ สมุนไพรไทยว่า การดูแลสุขภาพและการเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น พืช ผัก ผลไม้ และสมุนไพร ที่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ที่อุดมไปด้วยวิตามินซีหรือสารต้านอนุมูลอิสระ หรือสมุนไพรที่มีสารสำคัญที่มีศักยภาพในการลดการติดเชื้อไวรัสได้ จะช่วยให้ร่างกายมีภูมิต้านทานที่แข็งแรงขึ้น ลดโอกาสติดเชื้อทางเดินหายใจจากโรค COVID-19 หรือหากติดเชื้อก็อาจช่วยลดความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงได้ ซึ่งเป็นการปรับธาตุ 4 ในร่างกาย ดิน น้ำ ลม ไฟ ให้กลับสู่สมดุลได้ และที่สำคัญเราต้องรับประทานอาหารที่สะอาด ใช้ภาชนะที่สะอาด กินร้อน ช้อนตัวเอง และล้างมือก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง ร่วมกับการออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อทำร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ เปรียบเสมือนสร้างป้อมปราการที่แข็งแรงให้กับตัวเราเอง
สมุนไพร ที่มีสาระสำคัญช่วยลดโอกาสการติดเชื้อไวรัสก่อโรค COVID-19
ในปัจจุบันได้มีการศึกษาวิจัยต่อยอดสมุนไพรไทยจนเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง ยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 สมุนไพรไทยนับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถใช้บรรเทาอาการเบื้องต้นของไข้หวัดได้ ได้แก่
ฟ้าทะลายโจร
ใบฟ้าทะลายโจร มีสารเคมีประกอบอยู่หลายประเภท แต่สารสำคัญในการออกฤทธิ์ คือ สารกลุ่ม Lactone คือ สารแอนโดรกราโฟไลด์ (andrographolide), สารนีโอแอนโดรกราโฟไลด์ (neo-andrographolide), 14-ดีอ๊อกซี่แอนโดรกราโฟไลด์ (14-deoxy-andrographolide)
มีการศึกษาวิจัยอย่างมาก มีข้อมูลสนับสนุนจากงานวิจัยทางคลินิก พบว่าสมุนไพรฟ้าทะลายโจรมีส่วนช่วยรักษาอาการของโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ (acute respiratory tract infection) เช่น อาการไอ อาการเจ็บคอได้ดี ผลิตภัณฑ์สารสกัดจากฟ้าทะลายโจรร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ ขนาดรับประทาน 31.5-200 มิลลิกรัม/วัน รับประทานเป็นเวลา 3-10 วัน มีผลช่วยลดความถี่และความรุนแรงของอาการไอเนื่องจากไข้หวัด (common cold) และอาการอักเสบของระบบทางเดินหายใจส่วนบนได้
มีการศึกษาวิจัยอย่างมาก มีข้อมูลสนับสนุนจากงานวิจัยทางคลินิก พบว่าสมุนไพรฟ้าทะลายโจรมีส่วนช่วยรักษาอาการของโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ (acute respiratory tract infection) เช่น อาการไอ อาการเจ็บคอได้ดี ผลิตภัณฑ์สารสกัดจากฟ้าทะลายโจรร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ ขนาดรับประทาน 31.5-200 มิลลิกรัม/วัน รับประทานเป็นเวลา 3-10 วัน มีผลช่วยลดความถี่และความรุนแรงของอาการไอเนื่องจากไข้หวัด (common cold) และอาการอักเสบของระบบทางเดินหายใจส่วนบนได้
โดยงานวิจัยในปัจจุบันที่ได้รับการรับรองแล้วพบว่า กลไกต้านไวรัสของฟ้าทะลายโจรป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าเซลล์ ลดการแบ่งตัวไวรัสภายในเซลล์ เพิ่มภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับไวรัส รวมถึงลดอาการการอักเสบที่ปอดจากการติดเชื้อไวรัส
ศาสตร์การแพทย์แผนไทย “ฟ้าทะลายโจร” จัดเป็นสมุนไพรที่มีรสขม อยู่ในกลุ่มยาเย็น มีสรรพคุณทางการแพทย์แผนไทย ใช้บรรเทาอาการไข้หวัด แก้ไอและเจ็บคอ เป็นสมุนไพรที่ได้ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (บัญชียาจากสมุนไพร) กระทรวงสาธารณสุข ในรูปแบบยาเดี่ยว
พลูคาวหรือคาวตอง
พลูคาว สารสำคัญในการออกฤทธิ์ คือ เควอซิทิน (quercetin), รูทิน (rutin) และซีแนนเซริน (cinanserin) ยับยั้งจุลชีพก่อโรคหลายชนิด ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ต้านการอักเสบและต้านอนุมูลอิสระ มีผลการศึกษาว่าสามารถยับยั้งเชื้อซาร์ (SAR) และเชื้อโคโรน่าที่ก่อโรค COVID-19 ได้
quercetin จะเข้าไปรบกวนขั้นตอนของวงจรการเข้าและจำลองของ coronavirus โดยการจับกับ M protein ของเชื้อ และสารสกัดพลูคาวด้วยเอทิลอะซิเตท และ quercetin มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ hepatitis virus (ซึ่งเป็น coronavirus ชนิดหนึ่ง)
นอกจากนี้ พลูคาวยังมี immunomodulatory activity, มีฤทธิ์ต้านอักเสบ, ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว, ฤทธิ์ต้านไวรัสที่ก่อให้เกิดเริม, ไข้หวัดใหญ่ และเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดกลุ่มอาการภูมิคุ้มกันเสื่อม, ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus, Sarcina ureae, ฤทธิ์ต้านการอักเสบ, ฤทธิ์ขับปัสสาวะ
ศาสตร์การแพทย์แผนไทย พลูคาว รสเผ็ด มีกลิ่นคาวปลา เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อปอดและตับ ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้พิษ ขับปัสสาวะ
กระชาย
ทีมวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือกันของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์
โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS ได้ศึกษาวิจัย “กระชายขาว” พบว่าสารสกัดจากกระชายขาว 2 ชนิด สามารถยับยั้งการเจริฐเติบโตของโควิด-19 ได้ถึง 100%
สารสกัดจากกระชายขาว มีสารสำคัญ 2 ชนิด ได้แก่ Pandulatin A และ Pinostrobin
สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของโควิด-19 ได้ถึง 100% ในหลอดทดลอง โดยสามารถทำหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสต้นเหตุของโควิด-19 ได้ ซึ่งสารทั้งสองตัวนี้สามารถลดจำนวนเซลล์ที่ติดเชื้อจาก 100% ให้ลดลงจนเหลือ 0% นอกจากนี้ยังสามารถยับยั้งเซลล์ในการผลิตไวรัสได้ถึง 100% อีกด้วย และจากการจำลองภาพสามมิติในคอมพิวเตอร์ พบว่า สารสำคัญที่พบ สามารถแย่งจับกับตำแหน่ง main protease (Mpro) ที่ช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 ได้
การศึกษาวิจัยปัจจุบันพบว่า มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่ดี มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ฤทธิ์ช่วยต้านการเสื่อมของกระดูกอ่อนในหลอดทดลองแล้ว ยังพบฤทธิ์ยับยั้งเชื้อจุลชีพก่อโรคทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อราอีกด้วย
ศาสตร์การแพทย์แผนไทย เหง้าและรากกระชาย มีรสเผ็ดร้อน ช่วยขับลม ลดอาการท้องอึด ท้องเฟ้อ แก้ปวดมวนท้อง
กระเทียม
สาร allicin ในกระเทียม มีฤทธิ์ต่อระบบภูมิคุ้มกัน มีฤทธิ์ลดการอักเสบ ป้องกันการหลั่งสาร cytokine ที่ทำให้เกิดการอักเสบนอกจากนี้ยังส่งเสริมการทำงานของเม็ดเลือดขาว และช่วยเพิ่มแอนติบอดี้ ชนิด immunoglobulin A (IgA) ซึ่งเป็นด่านแรกของภูมิคุ้มกันในร่างกาย โดยพบมากที่ระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหาร ตามเยื่อเมือกต่างๆ และยังช่วยกระตุ้นการทำงานของ B-cell lymphocyte รวมทั้งกระตุ้นการหลั่งของสาร interferon ซึ่งเป็นสารที่สร้างในระบบภูมิคุ้มกันเพื่อต้านไวรัส จากการจำลองภาพสามมิติในคอมพิวเตอร์ พบว่า สารสำคัญ allicin ที่พบสามารถแย่งจับกับตำแหน่ง main protease ที่ช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสโควิด-19 ได้
การศึกษาวิจัยปัจจุบันพบว่า มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
ศาสตร์การแพทย์แผนไทย ใช้หัวกระเทียมเป็นยาขับลม แก้ลมจุกเสียด แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้ธาตุพิการ อาหารไม่ย่อย ขับเสมหะ ขับเหงื่อ ลดไขมัน
ปฏิกิริยาระหว่างยา: กระเทียมในปริมาณมากทำให้เลือดแข็งตัวช้าลง จะต้องระวังในการใช้ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น warfarin , NSAIDs สมุนไพร หรือยาที่ทำให้เกล็ดเลือดต่ำ ยาลดความดันโลหิต ยาลดน้ำตาลในเลือด
ขิง
ขิง พบฤทธิ์ต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ โดยทั่วไปแล้วมักนำมากินแก้หวัด ซึ่งขิงนั้นมีสารต้านอนุมูลอิสระ (anti–oxidant) และสารต้านการอักเสบ (anti-inflammatory) อยู่มากมาย เช่น Gingerol, Shogoal และ Paradoal
การศึกษาวิจัยปัจจุบันพบว่า มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และฤทธิ์ต้านการอักเสบ
ศาสตร์การแพทย์แผนไทย ใช้เหง้า รักษาอาการท้องอืด เฟ้อ เสียดท้อง อาหารไม่ย่อย ปวดเกร็งช่องท้อง แก้คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร รักษาอาการหวัด รักษาอาการปวดศีรษะเนื่องจากไมเกรน และมีการใช้เหง้าขิงใน ”พิกัดตรีรัตตะกุลา (ตรีสัตกุลา)” คือการจำกัด ตัวยาอันสามารถ 3 อย่าง ประกอบด้วย เหง้าขิงสด ผลผักชีลา และเทียนดำ ใช้อย่างละเท่าๆ กัน ในการบำรุงธาตุไฟ ขับลมในลำไส้ แก้อาการธาตุ
ขมิ้นชัน
มีสาร curcumin ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ต้านอนุมูลอิสระ มีงานวิจัยในหลอดทดลองพบว่าขมิ้นชันช่วยยับยั้งการหลั่งสารอักเสบ และปรับภูมิคุ้มกันไม่ให้ทำลายปอดให้เกิดความเสียหายจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza A virus) และจากการจำลองภาพสามมิติในคอมพิวเตอร์ (Molecular docking) พบว่าสารสำคัญของขมิ้นชัน และ demethoxycurcumine สามารถแย่งจับกับตำแหน่งที่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 จะเข้าสู่เซลล์ปอดและตำแหน่งที่มีผลยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสได้
การศึกษาวิจัยจากการศึกษาในหลอดทดลอง พบว่ามีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ
ในการป้องกันไม่ให้เชื้อเข้าเซลล์ ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส และช่วยยับยั้งการหลั่งสารอักเสบ
ศาสตร์การแพทย์แผนไทย ขมิ้นชัน รสเผ็ดร้อน ช่วยเจริญอาหาร ยาบำรุงธาตุ ฟอกเลือด แก้ท้องอืดเฟ้อ แน่น จุกเสียด ลดน้ำหนัก ปวดประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่ปกติ อาการดีซ่าน แก้อาการวิงเวียน แก้หวัด แก้อาการชัก ลดไข้ ขับปัสสาวะ รักษาอาการท้องมาน
หอมแดง, หอมหัวใหญ่
หอมใหญ่ หอมแดง ในหัวหอมมีสารเคอร์ซิติน (Quercetin) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ เสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย อีกทั้งในปัจจุบันมีการศึกษาพบว่าสาร Quercetin ที่พบในหัวหอมหรือหอมแดง มีฤทธิ์ต้านเชื้อก่อโรค COVID-19 บรรเทาอาการหวัดคัดจมูก ช่วยต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่และยังมีฤทธิ์ต้านฮีสตามีน ช่วยขยายหลอดลม ทั้งยังมีสารฟลาโวนอล (Flavonols) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดี ช่วยลดการอักเสบ
สารสำคัญในหัวหอม หอมแดง คือ ไดโพรพิล ไดซัลไฟด์ และไดโพรพิล ไตรซัลไฟด์ ที่ช่วยยับยั้งแบคทีเรียบางชนิด และมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ บรรเทาอาการหวัดคัดจมูก
องค์ประกอบทางเคมี : หัวหอมมีน้ำมันระเหยง่ายที่มีกำมะถัน diallyl disulphide เป็นองค์ประกอบ มีธาตุฟอสฟอรัสสูง หอมสดจะมีน้ำมันหอมระเหยมากกว่าหอมที่ผ่านความร้อน แก้อาการหวัดได้ดี
ศาสตร์การแพทย์แผนไทย รสเผ็ดร้อน ขับลมในลำไส้ แก้ไข้ ขับเสมหะในทรวงอก แก้ปวดท้อง บำรุงธาตุ แก้หวัดคัดจมูก ใช้หัวตำสุมหัวเด็กแก้หวัด
มะรุม
มะรุมเป็นผักที่มีวิตามินซีสูงและยังพบสารสำคัญ Quercetin และ kaempferol ซึ่งออกฤทธิ์ต้านเชื้อได้ดี ใบมะรุมมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงมากโดยเฉพาะกลุ่มฟีนอลิกและฟลาโวนอยด์ซึ่งมีการศึกษาการใช้สารกลุ่มนี้ในการรักษาโรคหลอดลมอักเสบ ไข้มาลาเรีย ไข้เลือดออก อีกทั้งมีการจำลองภาพสามมิติในคอมพิวเตอร์พบว่าสารสำคัญที่พบสามารถแย่งจับกับตำแหน่ง Main Protease ที่ช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 ได้
การศึกษาวิจัยจากการศึกษาในหลอดทดลองพบว่ามะรุมมีสารสำคัญ quercetin, phenolic compounds และ flavonoids ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ป้องกันตับอักเสบ ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย
ศาสตร์การแพทย์แผนไทย ฝักมะรุม มีรสหวานเย็น ดับพิษถอนไข้ แก้ปัสสาวะไม่ปกติ ใบสด รสเฝื่อน มีวิตามินซีและเอมาก ใช้เป็นยากินแก้โรคเลือดออกตามไรฟัน โรคเยื่อเมือกอักเสบ น้ำมันจากเมล็ด (ben oil) ไม่มีสี กลิ่น และรส ใช้ทำยาขี้ผึ้งทาถูนวดแก้ปวดเมื่อย ปวดตามข้อ แก้ปวดลดไข้ บำรุงหัวใจ ใช้ทำเครื่องสำอาง น้ำหอม ปรุงอาหาร ใช้เป็นน้ำมันสลัด
หม่อน
พืชในตระกูลหม่อนถูกนำมาใช้ทางการแพทย์ด้วยคุณสมบัติต้านแบคทีเรียและราบางชนิด มีสาร flavonoids, benzofurans, stilbenes, polyhydroxy alkaloids, and kiwanons น้ำหม่อนและเมล็ดหม่อนมีสาร polyphenols สูง ซึ่งพบฤทธิ์ในการต้าน influenza A virus ได้ และจากการศึกษาพบว่า สาร 1-deaoxynojirimycin, kuwanon G, mulberroside A ในพืชตระกูล Morus alba ต่อต้านการที่ไวรัสจะเข้าสู่เซลล์ในหลอดทดลองได้
การศึกษาวิจัยจากการศึกษาในหลอดทดลองพบว่าหม่อนมีสารสำคัญ
- Anthocyanins เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน
- Deoxynojirimycin ช่วยลดระดับน้ําตาลในเลือด
- Phytosterol ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล
- Polyphenols สารต้านอนุมูลอิสระ
ศาสตร์การแพทย์แผนไทย ใบหม่อน รสจืดเย็น เป็นยาขับเหงื่อ แก้ไข้ แก้ตัวร้อน แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ไอ แก้เจ็บคอ ผล เป็นยาบำรุง แก้โรคเกี่ยวกับทรวงอก ขับปัสสาวะ แก้ไอ
กะเพรา
กะเพรามีสาร orientin ที่พบว่ามีฤทธิ์ลดโอกาสการติดเชื้อก่อโรค COVID-19 นอกจากนี้ กะเพรายังมีน้ำมันระเหยง่าย (volatile oil) ที่ประกอบด้วย methyl eugenol (37.7%), caryophylllene, methyl chavicol และอื่น ๆ ที่มีรายงานว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ลดปวด และสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อจุลชีพได้หลายชนิด
การศึกษาวิจัยจากการศึกษาในหลอดทดลองพบว่าใบกะเพรามีสารlinalool ต้านเชื้อแบคทีเรีย
สารโพลีฟีนอล (Pholyphenols) ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ เสริมภูมิคุ้มกัน มีฤทธิ์ต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่โดยมีผลยับยั้งเอนไซม์ neuraminidase ของไวรัสซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญในการรักษาและควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสกลไกเดียวกันกับยา oseltamivir
ศาสตร์การแพทย์แผนไทย รสเผ็ดร้อน ลดอาการท้องอืดเฟ้อ ขับลม บำรุงธาตุ แก้อาการจุกเสียด ทำให้เรอ แก้ท้องร่วง แก้คลื่นไส้อาเจียน ขับเสมหะ ขับเหงื่อ
ผลไม้ ที่มีวิตามินซีและสารในกลุ่มไบโอเฟลโวนอยด์สูง
สารอาหารที่มีส่วนช่วยในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน สิ่งแรกที่ทุกท่านนึกถึงก็น่าจะ คือ วิตามินซี ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโรค สารพิษและสิ่งแปลกปลอมที่เป็นอันตรายต่อร่างกายนั้น คือการได้รับพลังงาน สารอาหารหลัก รวมทั้งดื่มน้ำสะอาด ซึ่งการรับประทานอาหารให้ได้รับทั้งสารอาหารหลัก วิตามิน แร่ธาตุ ดังกล่าวที่เพียงพอนั้น เราสามารถได้รับจากแหล่งอาหารจากธรรมชาติ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรับประทานในรูปแบบอาหารเสริมแต่อย่างใด เพราะยังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันว่าวิตามินหรือแร่ธาตุตัวไหนจะป้องกันการติดเชื้อโคโรนาไวรัสได้ แต่เป็นแนวทางในการเลือกแหล่งอาหารที่ดี ขอหยิบยกสารอาหารตัวเด่น ๆ ที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทาน ดังนี้
ผลไม้ตระกูลส้ม
สารเฮสเพอริดีน สามารถพบได้มากตามส่วนต่าง ๆ ของผลไม้ตระกูลส้มและมะนาว โดยเฉพาะเปลือก ดังนั้นเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากการบริโภคมะนาว นอกจากจะรับประทานน้ำมะนาวแล้ว ยังควรรับประทานเปลือกมะนาวเพื่อให้ได้รับเฮสเพอร์ริดิน ซึ่งอาจจะช่วยยับยั้งไวรัสไม่ให้เพิ่มจำนวนในร่างกายอีกด้วย
จากการวิจัยในหนูทดลองยืนยันว่า เฮสเพอร์ริดินที่ได้จากพืชตระกูลส้มสามารถเข้าไปจับกับโปรตีนตัวรับ (Protein receptor) ชื่อ ACE2 (Angiotensin Converting Enzyme 2) ของเซลล์ร่างกายได้อย่างจำเพาะ ซึ่งช่วยขัดขวางไม่ให้ spike โปรตีนของไวรัสสามารถเกาะกับเซลล์ร่างกาย จึงทำให้สามารถหลีกเลี่ยงการติดเชื้อไวรัสนี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่เฮสเพอริดินมีค่าพลังงานในการจับตัว (binding energy) ต่ำ จึงสามารถจับกับ ACE2 ได้ดีกว่ายาต้านไวรัสหลายชนิด
การศึกษาวิจัยพบว่ามีสารสำคัญ hesperedin, naringenin ช่วยส่งเสริมการทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกัน B cell, NK cell ,วิตามินซี ช่วยลดระยะเวลาการเป็นหวัด เสริมภูมิคุ้มกัน แก้เจ็บคอ
ศาสตร์การแพทย์แผนไทย น้ำมะนาว มีรสเปรี้ยว ช่วยลดอาการไอ ขับเสมหะ กระตุ้นให้มีการขับน้ำลาย ทำให้ชุ่มคอ เปลือกมะนาว แก้ลมกองละเอียด กองหยาบ อาการท้องอืดท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด แก้เสมหะโลหิต ใช้ปรุงยาหอม แก้ทางลม
วิตามินซี
วิตามินซีช่วยการทำงานของเม็ดเลือดขาวและช่วยกระบวนการทำลายเชื้อโรค
โดยความต้องการปริมาณต่อวันตามข้อกำหนดปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ. 2563 ในเด็กอายุ 1-8 ปี ควรได้รับ 25-40 มิลลิกรัมต่อวัน ในเด็กและวัยรุ่นช่วงอายุ 9-18 ปี ควรได้รับ 60-100 มิลลิกรัมต่อวัน และวัยผู้ใหญ่ อายุตั้งแต่ 19 ปีขึ้นไป ควรได้รับ 85-100 มิลลิกรัมต่อวัน
วิตามินซีจะสูญเสียได้ง่ายเมื่อโดนความร้อนและสัมผัสน้ำโดยตรง ดังนั้นการปรับกระบวนการปรุงประกอบผักดิบโดยนึ่งหรือผัดที่ใช้ระยะเวลาสั้น ๆ ตามคำแนะนำการรับประทานผักผลไม้ต่อวันให้ได้อย่างน้อย 400 กรัมและเลือกผักผลไม้ที่เป็นแหล่งวิตามินซี เราก็จะสามารถได้รับวิตามินซีที่เพียงพอ