วันนี้ (12 มกราคม 2565) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตามที่มีข่าวในโซเชียลมีเดียเป็นภาพแชตประกาศตามหาเด็กเอนฯ ที่ติดเชื้อโควิด 19 โดยคาดว่า ลูกค้าต้องการติดเชื้อโควิด 19 เพื่อเบิกประกันเจอ-จ่าย-จบนั้น เป็นเรื่องที่ได้ไม่คุ้มเสียในการนำร่างกายเข้าไปเสี่ยงได้รับเชื้อ เพราะการติดเชื้อโควิด 19 มีอาการรุนแรงได้หลายระดับ ตั้งแต่อาการทั่วไป ได้แก่ อาการระบบทางเดินหายใจ มีไข้ ไอ หายใจถี่ หายใจลำบาก แต่ในรายที่อาการรุนแรงมากอาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม ปอดอักเสบ ไตวาย รุนแรงได้ถึงขั้นเสียชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว
นายแพทย์โอภาส กล่าวอีกว่า ในบางรายผู้ป่วยโควิด 19 ที่หายดีไม่มีเชื้อไวรัสในร่างกายแล้ว อาจมีอาการหลงเหลืออยู่เรียกว่า ภาวะลอง โควิด (Long COVID) หรืออาการหลงเหลือของเชื้อโควิด 19 ระยะยาว ซึ่งเกิดขึ้นได้ในช่วง 1-3 เดือนแรก ส่วนผู้ป่วยกลุ่มป่วยรุนแรงอาจส่งผลต่อเนื่องยาวนาน 3-6 เดือน กว่าที่ร่างกายจะกลับมาเป็นปกติ เพราะมีปัจจัยเรื่องความเครียดสะสมมาตั้งแต่ช่วงที่ป่วย ซึ่งจะมีอาการที่แสดงออกได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ สำหรับอาการทางกาย เช่น ไอ มีไข้ ปวดศีรษะ การรับรู้กลิ่นหรือรสชาติลดลง เจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่ม เหนื่อยล้า ปวดข้อหรือกล้ามเนื้อ ท้องเสีย อันเนื่องมาจากภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง ส่วนอาการทางจิตใจ เช่น วิตกกังวล สมาธิสั้นลง หรือซึมเศร้าร่วมด้วย จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและรักษาอย่างต่อเนื่อง จึงขอย้ำอีกครั้งเรื่องมาตรการป้องกันตนเองขั้นสูงสุด ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา หมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล 70% เว้นระยะห่าง และไม่ไปสถานที่เสี่ยง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร.1422