จากสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา มีการแพร่ระบาด เป็นวงกว้างมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ทุกประเทศทั่วโลกต้องกำหนดมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด และจำกัดมาตรการต่าง ๆ ซึ่งกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนกว่า 2 ปี ต่อมาเมื่อการแพร่ระบาด มีแนวโน้มลดลง ประเทศต่าง ๆ เริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค มีการเดินทางระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ทั้งในด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ ตั้งแต่ช่วงปี 2565 ที่ผ่านมา ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทาง ยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลก และมีแนวโน้มที่นักท่องเที่ยวจะเดินทางมาประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในระยะถัดไป เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม รัฐบาลได้มีการจัดประชุมกำหนดมาตรการรองรับการเดินทาง เข้าประเทศไทย เพื่อป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 ครั้งที่ 1 ประจำปี 2566 เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2566 ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงคมนาคม เพื่อร่วมหารือแผนเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข โดยที่ประชุมได้เห็นชอบ ให้มีการจัดระบบและกำหนดแนวทางการให้บริการวัคซีนโควิด 19 ตามความสมัครใจ โดยคิดค่าบริการ ที่เหมาะสม ภายใต้กลไก Medical hub ต่อมาได้มีการประชุมหารือเรื่องแนวทางการบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยกรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ และกองบริหารการสาธารณสุข สำนักงาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2566 และการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2566 ณ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเห็นชอบแนวทาง การให้บริการวัคซีนโควิด 19 สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยได้มีการประชุมคณะทำงานจัดทำ แนวทางการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 ณ กรมควบคุมโรค ซึ่งได้มีมติเห็นชอบแนวทางการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เพื่อให้หน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้ใช้เป็นแนวปฏิบัติ ในการดำเนินงานอย่างถูกต้องต่อไป
กรมควบคุมโรค กำหนดหลักการและแนวทาง ไว้ดังนี้
1. หลักการบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ในนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ สำหรับหน่วยบริการที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข
วัคซีนโควิด 19 ที่ให้บริการนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ จะเป็นวัคซีนที่จัดหาโดยรัฐบาลไทยเท่านั้น ได้แก่ วัคซีนของบริษัท Pfizer และ วัคซีนของบริษัท AstraZeneca โดยไม่รวมถึงกรณีวัคซีนรับบริจาค สำหรับ หลักการบริหารวัคซีนโควิด 19 ให้คำนึงถึงปริมาณวัคซีนคงคลังที่จะไม่กระทบกับประชาชนไทย โดยจัดสรร วัคซีนโควิด 19 ให้แก่ประชาชนไทยเป็นลำดับแรก และการบริการวัคซีนสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ให้อยู่บนพื้นฐานของความสมัครใจ โดยคิดค่าใช้จ่ายอย่างเหมาะสม กลุ่มเป้าหมายที่สามารถเรียกเก็บค่าบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้แก่ ชาวต่างชาติที่ถือวีซ่านักท่องเที่ยว หรือ ชาวต่างชาติไม่สามารถแสดงเอกสารยืนยันสถานะการเข้าและพำนักในราชอาณาจักรไทย สำหรับชาวต่างชาติที่มีหลักฐานแสดงสถานะการพำนักระยะยาวในราชอาณาจักรไทย (Expatriate) หรือถือใบอนุญาตทำงาน (Work permit) หรือถือวีซ่าอื่น ๆ เช่น วีซ่าสำหรับการพำนักในราชอาณาจักรไทย ระยะยาว (Long Stay) วีซ่าทูต (Diplomatic Visa) เป็นต้น สามารถรับวัคซีนได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายตามนโยบาย การฉีดวัคซีนโควิด 19 ของประเทศไทย
2. แนวทางการเปิดให้บริการวัคซีนโควิด 19 ในนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสำหรับหน่วยบริการสังกัด
กระทรวงสาธารณสุข
1. ให้หน่วยบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการ โรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2566 และมติที่ประชุมคณะทำงานจัดทำแนวทาง การให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ครั้งที่ 1/2566 ในวันที่ 17 มกราคม 2566 นำร่องในการฉีดวัคซีนโควิด 19 สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2566 เป็นต้นไป หรือตามบริบทของพื้นที่ ดังนี้
1.1 หน่วยบริการฯ สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรีและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต
1.2 หน่วยบริการฯ สังกัดกรมการแพทย์ ได้แก่
• กรุงเทพมหานคร ได้แก่ สถาบันโรคผิวหนัง โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลราชวิถี
• จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ โรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่
1.3 หน่วยบริการฯ สังกัดกรมควบคุมโรคที่เป็นเครือข่ายเวชศาสตร์ป้องกันและการท่องเที่ยว กรมควบคุมโรค ได้แก่
• กรุงเทพมหานคร ได้แก่ ศูนย์การแพทย์บางรัก สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.)
• จังหวัดนนทบุรี ได้แก่ สถาบันบำราศนราดูร
• จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ คลินิกเวชศาสตร์การเดินทางนักท่องเที่ยวศรีดอนไชย (สคร.1)
• จังหวัดชลบุรี ได้แก่ คลินิกเวชศาสตร์การเดินทางนักท่องเที่ยวพัทยารักษ์ (สคร.6)
• จังหวัดสงขลา ได้แก่ คลินิกเวชศาสตร์การเดินทางนักท่องเที่ยวหาดใหญ่นวรัตน์ (สคร.12)
2. ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด นอกเหนือจากข้อ 1 เสนอรายชื่อหน่วยบริการฯ ที่เข้าร่วม จัดตั้งเป็นหน่วยบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ อย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง (หนังสือกระทรวงสาธารณสุข ด่วนที่สุด ที่ สธ 0207.11/1122 ลงวันที่ 18 มกราคม 2566 เรื่อง การเสนอ รายชื่อหน่วยบริการเข้ารับวัคซีนโควิด 19 สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ(ภาคผนวก 1)) โดยทำหนังสือ เสนอรายชื่อฯ เรียน อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมทั้งระบุชื่อหน่วยบริการ สถานที่ตั้ง วันและเวลาเปิดบริการ รวมถึงชื่อผู้รับผิดชอบหลักประจำหน่วยบริการฯ ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บริหารสถานพยาบาล (หนังสือ กระทรวงสาธารณสุข ด่วนที่สุด ที่ สธ 0410.4/ว35 ลงวันที่ 16 มกราคม 2566 เรื่อง ขอให้เสนอรายชื่อสถาน บริการภาครัฐที่มีความประสงค์จัดตั้งเป็นหน่วยบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ (ภาคผนวก 2))
3. ให้หน่วยบริการฯ เตรียมความพร้อมด้านวัคซีน โดยแจ้งจำนวนวัคซีนที่ต้องการขอรับการสนับสนุน สำหรับบริการฉีดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติผ่านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหรือกรมต้นสังกัด และให้สาธารณสุขจังหวัดหรือกรมต้นสังกัด บันทึกข้อมูลตามแบบฟอร์มที่กำหนด ผ่านระบบ online ภายใน วันที่ 5 และ 20 ของทุกเดือน (รอบปกติ) เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการวัคซีนเช่นเดียวกับระบบ การเบิกจ่ายวัคซีนปกติกรณีที่หน่วยบริการฯ ต้องการขอรับการสนับสนุนเพิ่มเติม (นอกรอบ) สามารถทำ หนังสือเรียน อธิบดีกรมควบคุมโรค และมารับวัคซีน ณ กรมควบคุมโรค
4. แนวปฏิบัติในการจัดบริการฉีดวัคซีนสำหรับหน่วยบริการฯ ที่เข้าร่วม
4.1 ให้ประกาศแจ้งอัตราค่าบริการ และแนวทางการเข้ารับบริการ เพื่อสื่อสารให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทราบ
4.2 ให้ผู้รับบริการลงนามในเอกสารแสดงความประสงค์ขอรับการฉีดวัคซีน รวมถึงลงนามยินยอมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง กรณีเกิดอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีน (ภาคผนวก 3)
4.3 ให้บันทึกผลการฉีดวัคซีนลงในระบบ MOPH Immunization Center (MOPH IC)
4.4 ให้ออกเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน รวมถึงจัดช่องทางการติดต่อสำหรับผู้รับบริการกรณีที่มีปัญหา
5. แนวปฏิบัติในการบริหารการเงินการคลัง
5.1 รายได้จากการจัดเก็บค่าบริการจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้แก่ ค่าบริการผู้ป่วยนอก และค่าฉีดยาให้เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้องของหน่วยงานต้นสังกัด
5.2 รายได้จากค่าวัคซีนของบริษัท AstraZeneca หรือวัคซีนของบริษัท Pfizer ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการโดยกรมควบคุมโรค เพื่อจัดทำข้อตกลงกับกระทรวงการคลัง จึงขอให้หน่วยบริการฯ ชะลอการใช้จ่ายรายได้ส่วนนี้ไปก่อน โดยมีแนวทางปฏิบัติ ดังนี้
5.2.1 ให้เพิ่มรายการ “วัคซีน AstraZeneca” และ “วัคซีน Pfizer” ในระบบจัดเก็บรายได้ของหน่วยบริการฯ เพื่อให้สามารถระบุจำนวนเงินจากค่าวัคซีนได้ โดยไม่ให้ปะปนกับรายการอื่น ๆ
5.2.2 จัดทำทะเบียนบัญชีรายชื่อนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่รับวัคซีนโควิด 19 แยกตามประเภทวัคซีน (ภาคผนวก 4 และ 5) เพื่อเก็บเป็นหลักฐานหากมีการตรวจสอบ
5.2.3 จัดทำทะเบียนรายงานการเก็บค่าวัคซีนโควิด 19 แยกตามประเภทวัคซีน (ภาคผนวก 6) เพื่อเก็บเป็นหลักฐานหากมีการตรวจสอบ
ทั้งนี้ หากกระทรวงการคลังมีหนังสือตอบกลับมาอย่างเป็นทางการ กรมควบคุมโรคจะมีหนังสือแจ้ง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบแนวปฏิบัติต่อไป หมายเหตุ หน่วยบริการฯ สังกัดกระทรวงสาธารณสุขสามารถเรียกเก็บค่าบริการ โดยมีอัตราการเรียกเก็บอัตรา ค่าบริการผู้ป่วยนอก ค่าฉีดยา และค่าวัคซีน ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (หนังสือกระทรวงสาธารณสุข ด่วนที่สุด ที่ สธ 0207.11/96 ลงวันที่ 18 มกราคม 2566 เรื่อง อัตราค่าบริการในการเข้ารับวัคซีนโควิด 19 สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ(ภาคผนวก 7) และหนังสือกระทรวงสาธารณสุข ด่วนที่สุด ที่ สธ 0207.11/150 ลงวันที่ 18 มกราคม 2566 เรื่อง อัตราค่าบริการในการเข้ารับวัคซีนโควิด 19 สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ (ภาคผนวก 8)
3. การกำกับติดตามการดำเนินงาน
ให้หน่วยงานต้นสังกัด อาทิ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด กรมการแพทย์กำกับติดตามหน่วยบริการฯ ให้ปฏิบัติตามแนวทางและระเบียบของส่วนราชการที่กำหนด ทั้งนี้ ขอให้กำชับหน่วยบริการฯ ให้จัดเก็บค่าวัคซีนให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนดอย่างรัดกุม เพื่อเป็นหลักฐานหากมีการตรวจสอบ
ภาคผนวก 8 การเก็บค่าบริการ
ประกอบด้วย ค่าบริการ และ ค่าวัคซีน สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติทุกสัญชาติ
1. ค่าบริการผู้ป่วยนอก 300 บาท
2. ค่าฉีดยา 80 บาท
3. ค่ายาค่าวัคซีนโควิด 19 แยกตามประเภทวัคซีน
3.1 ค่าวัคซีน Pfizer (ราคา 1,000 บาท/1 โดส)
3.2 ค่าวัคซีน AstraZeneca (ราคา 800 บาท/1 โดส)