ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

เมื่อใดจึงจะเรียกว่ามีความดันโลหิตสูง

เมื่อใดจึงจะเรียกว่ามีความดันโลหิตสูง Thumb HealthServ.net
เมื่อใดจึงจะเรียกว่ามีความดันโลหิตสูง ThumbMobile HealthServ.net

ในบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้รับประทานยาลดความดันโลหิต และไม่ได้อยู่ในภาวะเจ็บป่วยเฉียบพลัน ถ้าวัดความดันโลหิตพบว่า ค่าความดันโลหิตตัวบนเท่ากับหรือมากกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท จากการตรวจมากกว่า 2 ครั้งขึ้นไปให้ถือว่าผู้นั้นมีความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิตสูงคือ อะไร

คือความดันในหลอดเลือดแดงที่เกิดจากหัวใจบีบตัว ส่งเลือดผ่านหลอดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย เราสามารถรู้ระดับความดันโลหิตของตนเองได้ โดยเครื่องวัดความดันโลหิตทั่วไป จะให้ค่าความดันโลหิต 2 ค่า คือค่าความดันโลหิตตัวบนและค่าความดันโลหิตตัวล่าง ในบุคคลทั่วไป ค่าความดันโลหิตตัวบนจะมีค่าประมาณ 120 มิลลิเมตรปรอท และค่าความดันโลหิตตัวล่างมีค่าประมาณ 120/80 (คือตัวบนเท่ากับ 120 ตัวล่างเท่ากับ 80)

โดยทั่วไปค่าความดันโลหิตของเราจะไม่คงที่อยู่ตลอดเวลา เช่น หลังออกกำลังกายหนัก ๆ หรือในขณะที่มีความตื่นเต้นตกใจ ค่าความดันโลหิตก็จะสูงเพิ่มขึ้นกว่าปกติได้ แต่หลังจากได้พักหลังออกกำลังกายหรือหายจากภาวะตื่นเต้นตกใจแล้ว ค่าความดันโลหิตก็จะลดลงมาอยู่ในเกณฑ์ปกติได้เอง

การวัดความดันโลหิตที่ต่างเวลากันในแต่ละวัน ก็อาจได้ค่าความดันโลหิตที่ไม่เท่ากัน พบว่าความดันโลหิตในช่วงเวลากลางวันจะสูงกว่าเวลากลางคืน ประมาณร้อยละ 10-20 เพราะฉะนั้น การวัดความดันโลหิตเพื่อวินิจฉัยว่ามีปัญหาความดันโลหิตสูงหรือไม่ จึงมีการกำหนดกฎเกณฑ์ ให้วัดความดันโลหิตในขณะที่ผู้นั้นไม่อยู่ในภาวะเฉียบพลัน และควรใช้ค่าเฉลี่ยของการวัดมากกว่า 2 ครั้ง ในการรายงานผลค่าความดันโลหิตต่อการตรวจแต่ละครั้งในการรายงานผลค่าความดันโลหิตต่อการตรวจแต่ละครั้ง

เมื่อใดจึงจะเรียกว่ามีความดันโลหิตสูง

ในบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้รับประทานยาลดความดันโลหิต และไม่ได้อยู่ในภาวะเจ็บป่วยเฉียบพลัน ถ้าวัดความดันโลหิตพบว่า ค่าความดันโลหิตตัวบนเท่ากับหรือมากกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท จากการตรวจมากกว่า 2 ครั้งขึ้นไปให้ถือว่าผู้นั้นมีความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิตสูงมีผลต่อร่างกายเราอย่างไร

จากการศึกษาพบว่า ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงจะมีโอกาส เป็นอัมพาตเกิดจากหัวใจล้มเหลว , หลอดเลือดเลือดหัวใจตีบ มากกว่าผู้ที่ไม่มีโรคความดันโลหิตสูงและพบว่าผู้ที่มีความดันโลหิตสูงและได้รับการรักษาจนความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกติ จะสามารถลดอัตราการเกิดอัมพาต , หัวใจล้มเหลวได้อย่างมีนัยสำคัญ

อาการของความดันโลหิตสูง

อาการที่พบบ่อยเช่น เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว แต่ไม่ควรรอจนกระทั่งมีอาการแล้วค่อยตรวจเช็คความดันเพราะอาจสายไป เนื่องจากผู้ที่มีความดันโลหิตในระยะเริ่มต้น อาจไม่มีอาการผิดปกติของร่างกายให้พบได้ (***ขอแนะนำ…สำหรับท่านที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ถึงแม้จะรู้สึกแข็งแรงดีมาตลอดก็ตาม ท่านควรได้รับการตรวจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง)

ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ที่ความดันโลหิตสูง

1.ลดน้ำหนักตัวในผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน โดยการควบคุมปริมาณอาหารที่รับประทานต่อวันและเพิ่มการออกกำลังกาย โดยไม่ควรใช้ยาลดความอ้วน เพราะยามักมีผลทำให้ความดันโลหิตสูง รวมทั้งเกิดผลข้างเคียงอื่นๆ ตามมาอีกด้วย
2.งดการสูบบุหรี่ รวมทั้งงดการดื่มสุราและของมึนเมา
3.ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 3-4 วันต่อสัปดาห์ แนะนำให้เลือกออกกำลังกายที่มีการเคลื่อนไหว เช่น การเดิน การวิ่งเหยาะๆ หรือการแกว่งแขน ไม่ควรออกกำลังกายหนักเกินไปจนเหนื่อยมาก ควรให้รู้สึกเหนื่อยเล็กน้อยหลังออกกำลังกายก็พอ
4.หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเค็ม เช่น ปลาเค็ม เนื้อเค็ม ขนมขบเคี้ยวที่มีรสเค็ม เต้าเจี้ยว เต้าหู้ยี้ อาหารดองเค็ม รวมทั้งไม่ปรุงอาหารให้เค็มโดยไม่เติมเกลือหรือน้ำปลาเพิ่มเวลารับประทานอาหารนอกบ้าน นอกจากนี้ผงชูรสก็ประกอบด้วยธาตุโซเดียม จึงไม่ควรรับประทานมากเช่นกัน
(***อาหารเค็มจะมีแร่ธาตุโซเดียม ซึ่งทำให้โรคที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้นได้ การจำกัดแร่ธาตุโซเดียมในอาหาร เป็นส่วนหนึ่งของการรักษาความดันโลหิตที่ได้ผลนอกเหนือไปจากการใช้ยา)
5.รับประทานผักผลไม้เป็นประจำทุกวัน ( สำหรับผลไม้ท่านที่เป็นโรคเบาหวานต้องระมัดระวังในเรื่องระดับน้ำตาลในกระแสเลือดด้วย )
6.หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันและคลอเลสเตอรอลสูง เช่น เนย กะทิ ขนมเค้ก มันฝรั่งทอด ไข่ปลา หนังหมู หนังไก่ อาหารประเภททอดทั้งหลาย หอยนางรม กุ้ง ปลาหมึก ไข่แดง (ไม่ควรรับประทานเกิน 3 ฟองต่อสัปดาห์)
7.พักผ่อนให้เพียงพอและไม่เครียด

เมื่อใดจึงจะใช้ยารักษาความดันโลหิตสูง

เมื่อปฏิบัติตนดีแล้วแต่ยังมีความดันโลหิตสูงตลอด หรือความดันโลหิตสูงเกินไปที่จะควบคุมได้ด้วยการปฏิบัติตัวเพียงอย่างเดียว

ในปัจจุบันมียาหลายชนิดที่ใช้รักษาความดันโลหิตสูง ส่วนใหญ่สามารถใช้รักษาความดันโลหิตได้ทุกตัว แต่จะแตกต่างกันที่ ผลข้างเคียงของยา , จำนวนครั้งที่ต้องรับประทานในแต่ละวัน , และราคาของยาแต่ละชนิด การที่จะเลือกใช้ยาตัวใดนั้น แพทย์จะพิจารณาจากสภาพร่างกายของผู้ป่วยและโรคประจำตัวอื่นๆของผู้ป่วยที่ต้องรักษาร่วมด้วย

ภาวะความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การใช้ยาลดความดันโลหิตสามารถลดอัตราการเกิดอัมพาต และหัวใจล้มเหลวในผู้ป่วยได้อย่างชัดเจน เพราะฉะนั้นเพื่อให้ได้ผลดีจากการรักษาอย่างเต็มที่ ผู้ป่วยต้องเอาใจใส่ในการปฏิบัติตัวให้ถูกต้องด้วย

รับการวัดความดันโลหิตเป็นระยะ และรับประทานยาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมความดันโลหิต ของท่านให้อยู่ในเกณฑ์ปกติตลอด

ข้อมูลจาก รพ.พระมงกุฎฯ

 

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด