ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

การผ่าตัดทางนรีเวชผ่านกล้อง

การผ่าตัดทางนรีเวชผ่านกล้อง ( Laparoscopic Surqery In Gynaecology )เป็นอย่างไร มี
ข้อห้ามในการทำการผ่าตัดส่องกล้องอย่างไร
การเตรียมตัวผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นและ
ข้อดีของการผ่าตัดส่องกล้องเป็นอย่างไร อ่านรายละเอียดได้เลยค่ะ

Laparoscopic Surqery In Gynaecology

การผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช คืออะไร

การผ่าตัดทางนรีเวชมีวิวัฒนาการมาโดยลำดับ จากอดีตที่มีการผ่าตัดจากยากก็ง่ายขึ้น จากแผลใหญ่ก็เล็กลง จากภาวะแทรกซ้อนที่เคยมาก ก็ลดลงและสามารถแก้ปัญหาโรคต่าง ๆ ได้มากขึ้น มีความเจ็บปวดน้อยลงและการฟื้นตัวดีขึ้นมาก การผ่าตัดผ่านกล้อง หมายถึง การผ่าตัดที่ใช้กล้อง ซึ่งมีลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอกเล็ก ๆ แทนตาของแพทย์ เข้าไปดูอวัยวะต่างๆ ที่ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาโดยตรง โดยสอดผ่านช่องเล็ก ๆ ของร่างกายที่มีอยู่เดิมหรือเจาะเป็นช่องเล็ก ๆ ให้สอดเข้าไปดูอวัยวะที่ต้องการได้ และมีเครื่องมือผ่าตัดลักษณะเล็ก ๆ ยาว ๆ สอดเข้าไปแทนเครื่องมือผ่าตัดธรรมดา

สำหรับทางนรีเวชกรรม อวัยวะเป้าหมายหลัก คือ อวัยวะสืบพันธุ์ในอุ้งเชิงกรานที่ประกอบไปด้วยมดลูก รังไข่ และส่วนประกอบของมัน ซึ่ง เจริญอยู่ระหว่างกระเพาะปัสสาวะทางด้านหน้าและลำไส้ใหญ่ทางด้านหลัง มี เส้นเลือดและเส้นประสาทรวมทั้งผนังเชิงกรานทางด้านข้าง

การผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวช กระทำได้2ทางตามวัตถุประสงค์ คือ

1.การส่องกล้องโพรงมดลูกโดยใช้กล้องเล็ก ๆ สอดเข้าทางปากมดลูกเข้าไปดูพยาธิสภาพในโพรงมดลูก เพื่อการวินิจฉัยและเพื่อการผ่าตัดรักษาได้ด้วย โดยไม่ต้องทำให้เกิดแผลที่หน้าท้อง หรือไม่ต้องผ่าซีกมดลูกเพื่อทำการผ่าตัดในโพรงมดลูก ได้แก่ การมีผนังกั้นผิดปกติในโพรงมดลูกจากการเจริญผิดปกติแต่กำเนิด (ปกติโพรงมดลูกจะเป็นโพรงเดียว ) การผ่าตัดเลาะพังผืดที่ทำให้ผนังมดลูกมาติดกัน มีปัญหาต่อการตั้งครรภ์ การวินิจฉัยและการตัดเนื้องอกมดลูก ทั้งที่งอกเข้าไปในโพรงมดลูก และแม้แต่มีการให้การวินิจฉัยมะเร็งของมดลูกได้ด้วย

2.การส่องกล้องผ่านช่องท้องเข้าไปดูในอุ้งเชิงกรานโดยการทำแผลเล็ก ๆ บริเวณสะดือ (ซึ่งเป็นส่วนผนังหน้าท้องที่บาง) และใช้กล้องส่องเข้าไปในท้องและตรวจดูอวัยวะในอุ้งเชิงกรานเพื่อวินิจฉัยโรค และในปัจจุบันก็มีการประดิษฐ์เครื่องมือในลักษณะ เล็ก ๆ ยาว ๆ ที่ทำหน้าที่ต่าง ๆ กัน สำหรับจับ ยึด ตัด ห้ามเลือด ฯลฯ สอดเข้าไปเพื่อ ทำผ่าตัด อาจเจาะรูเพียง1รู หรือ2-5รู แล้วแต่ลักษณะการผ่าตัดแต่ละรูจะมีขนาดประมาณ0.5- 1ซ.ม. เท่านั้น (จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงเจ็บตัวน้อยและฟื้นตัวเร็ว)

โรงพยาบาลวิภาวดี ใช้วิธีนี้มาตั้งแต่เพิ่งตั้งโรงพยาบาลใหม่ ๆ ประมาณ20ปีมาแล้ว โดยมีวิวัฒนาการและสั่งสมความชำนาญมากขึ้นตามลำดับ

การผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวชสามารถทำอะไรได้บ้าง
ประโยชน์ของวิธีผ่าตัดผ่านกล้อง มีทั้งเพื่อการวินิจฉัยและเพื่อการรักษา

ในด้านการวินิจฉัยมีหลายโรคที่การผ่าตัดผ่านกล้องช่วยการวินิจฉัยได้ดีและแม่นยำก่อนทำการผ่าตัด เพื่อป้องกันการผิดพลาด เช่น โรคที่ทำให้ปวดท้อง โรคที่ทำให้เลือดออกผิดปกติจากมดลูก โรคที่ทำให้มีบุตรยาก เช่น มีก้อนเนื้องอกในโพรงมดลูก การมีพังพืดในอุ้งเชิงกราน มีการอักเสบหรือเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ในอุ้งเชิงกราน หรือตั้งครรภ์นอกมดลูก ที่ทำให้มีอาการปวดท้องน้อย นอกจากนี้ยังช่วยประเมินก่อนการรักษาจริงว่าควรจะใช้วิธีการรักษาวิธีใดจะเหมาะสมที่สุด

ในด้านการผ่าตัดรักษาเราสามารถใช้เครื่องมือและเทคนิคมาประกอบการผ่าตัดหลาย ๆ อย่างที่ทันสมัย ( ก่อนนี้ต้องใช้วิธีผ่าตัดเปิดหน้าท้อง) เช่น การเลาะพังผืด การตัดถุงCystหรือเนื้องอกรังไข่ เนื้องอกมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ การแก้ไขประจำเดือนมามาก รวมถึงการผ่าตัดมดลูกโดยไม่ต้องเปิดหน้าท้อง และการแก้หมันเพื่อให้มีบุตรได้อีก

การผ่าตัดผ่านกล้องดีกว่าการผ่าตัดธรรมดาอย่างไร
ข้อดี คือ

1.ทำให้สามารถวินิจฉัยโรคทางนรีเวชวิทยาหลายโรคที่วิธีต่าง ๆ ( เช่น การตรวจร่างกายและตรวจภายใน การทำCT scanหรือMRI)ไม่สามารถวินิจฉัยได้

2.สามารถประเมินสภาพของโรคในขณะที่ตรวจเพื่อตัดสินในการรักษา

3.เป็นการผ่าตัดที่บอบช้ำน้อย แผลมีขนาดเล็กประมาณ0.5-1ซ.ม. (1-5แผล แล้วแต่ชนิดการผ่าตัด) ทำให้เจ็บปวดน้อย ดูแลง่าย ผลแทรกซ้อนน้อย แผลหายเร็ว อยู่โรงพยาบาลน้อยวันและฟื้นตัวได้เร็ว

4.ผลดีทางด้านเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตในแง่ความเจ็บปวดน้อยและฟื้นตัวมาสู่ปกติได้เร็ว

5.มีความสะดวกปลอดภัยไม่แพ้วิธีผ่าตัดธรรมดา

6.ทำผ่าตัดในรายละเอียดได้ดีกว่าผ่าตัดธรรมดา เพราะกล้องสามารถขยายภาพใหญ่กว่าจริงได้

ผ่าตัดโรคได้อะไรบ้าง
1.ทำหมันหญิง
2.เลาะพังผืดในอุ้งเชิงกรานที่มาเกาะมดลูกรังไข่ ท่อนำไข่
3.ตัดเนื้องอกมดลูก เนื้องอกรังไข่ออก
4.การตั้งครรภ์นอกมดลูก
5.การตัดมดลูก
6.แก้หมัน
7.การผ่าตัดแก้ไขภาวะมีบุตรยากอื่น ๆ

ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวชมีโอกาสเกิดผลแทรกซ้อนได้เช่นเดียวกันกับการผ่าตัดธรรมดา หรือน้อยกว่าในผู้ที่มีความชำนาญ ได้แก่ การบาดเจ็บที่ลำไส้ ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ หลอดเลือด เป็นต้น

ข้อจำกัดของการผ่าตัดผ่านกล้อง
ต้องใช้เครื่องมือที่ออกแบบเป็นพิเศษ และ แพทย์ที่ผ่านการฝึกจำเพาะสมัยนี้มีข้อจำกัดน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการผ่าตัดโดยการเปิดหน้าท้อง เพราะมีการประดิษฐ์เครื่องมือออกมาให้สามารถทำงานต่าง ๆ ได้เหมือนแทนมือเข้าไปทำ ผ่าตัด ทั้งยังมีการผ่าตัดทางไกลในต่างประเทศด้วย

ข้อจำกัดบางอย่างที่มีคือ คนไข้ที่เป็นโรคปอด หัวใจ หรืออ้วนมาก หรือลำไส้อุดตันที่เป็นอุปสรรคต่อการใส่กาซเข้าไปขยายช่องท้องเพื่อการมองเห็นอวัยวะที่ดี

สรุปการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช เป็นอีกวิวัฒนาการหนึ่งในการรักษาโรคอวัยวะอุ้งเชิงกรานในสตรีที่ทำให้ลดการเจ็บปวด เวลาที่ใช่ในการพักฟื้นและผลจากการรักษาที่ดีขึ้น โรงพยาบาลวิภาวดีมีความมุ่งมั่นพัฒนาการผ่าตัดผ่านกล้องให้ขยายมากขึ้น นอกจากทางด้านสูตินรีเวชแล้ว ยังมีในแผนกผ่าตัดทางศัลยกรรมช่องท้อง ทางเดินอาหาร ศัลยกรรมทรวงอก สมอง และหูคอจมูกด้วย

โดยทีมแพทย์ผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวช
นพ.ธีรศักดิ์ ธำรงธีระกุล
นพ.ฉัตรชัย ตรีธรรมพินิจ
นพ.มนัส สุรทานต์นนท์

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด