ความสำคัญของการพูดคุยเรื่องเพศกับลูก
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข อธิบายถึงความสำคัญของการพูดคุยเรื่องเพศกับลูก ของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ว่า เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างลูกกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง และการสื่อสารที่เหมาะสมจะเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง ในทางกลับกันถ้าได้รับการสื่อสารทางลบอยู่เสมอ จะทาให้เกิดความรู้สึกไม่พอใจ น้อยใจ และไม่ร่วมมือในคำตักเตือน บางครั้งมีการต่อต้าน เรียกร้องความสนใจจากผู้อื่นแทน ซึ่งอาจทาให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา เช่น หนีออกจากบ้าน มีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน ดังนั้นจุดเริ่มต้นของการพูดคุยเรื่องเพศกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง จึงควรเริ่มจากการสื่อสารทางบวก เป็นรูปแบบและเทคนิคการสื่อสารเชิงสร้างสรรค์ สร้างความรู้สึก ความสัมพันธ์ที่ดี เกิดความเข้าใจ จูงใจให้ร่วมมือ ยอมรับและเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม สิ่งที่ได้รับจากการพูดคุยเรื่องเพศกับพ่อแม่ จะเกิดประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย ดังนี้
สิ่งที่ลูกจะได้รับ
1. กล้าเปิดใจพร้อมพูดคุย และแสดงความคิดเห็น
2. เติบโตและเข้าใจเรื่องเพศได้อย่างถูกต้อง
3. เกิดความมั่นใจและปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง
4. รู้สึกว่าพ่อแม่เป็นที่พึ่งได้เสมอ
5. สร้างสัมพันธภาพที่ดีและเข้าใจความรู้สึกของพ่อแม่
สิ่งที่พ่อแม่จะได้รับ
1. พ่อแม่เข้าใจความรู้สึกและแสดงความคิดของลูก
2. พ่อแม่ได้รู้พัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงร่างกายของลูก
3. เกิดความภูมิใจที่ช่วยผลักดันให้ลูกเดินในทางที่ถูกต้อง
4. สร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว
การเตรียมตัวของพ่อแม่
สสส.จัดทำคำแนะนำ "8 วอร์มอัพ ก่อนคุยกับลูกเรื่องเพศ" สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง ในการพูดคุยเรื่องเพศกับลูกๆ ดังนี้
1. เตรียมความคิด
เรื่องเพศไม่ได้หมายถึงแค่การมีเพศสัมพันธ์ แต่เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต
2. เตรียมใจ
ไม่กังวลในสิ่งที่ลูกจะถาม เมื่อไม่รู้ก็บอกลูกตามตรง แล้วช่วยกันหาคำตอบ
3. พร้อมรับฟัง
ไม่ด่วนตัดสินใจว่าผิดหรือถูก
4. เรียนรู้โลกของลูก
ทำให้รู้แนวทางว่าควรคุยอย่างไร
5. ใช้เหตุการณ์รอบตัว
มาเปิดประเด็น
6. ถามแบบเปิดกว้าง
ชวนคุยแบบอ้างอิงถึงคนอื่นทำให้ลูกสบายใจ
7. ไม่ยัดเยียดข้อมูล
8. ไม่ล้อเลียน หรือ ขู่
คำแนะนำจากแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ
อ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร (คุณหมอโอ๋) กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อเล่าถึงวิธีการคุยกับลูกอย่างไรให้ได้ผล ไว้ใน
เว็บไซต์ Social Marketing of Thaihealth โดย สสส. มีประโยชน์มากดังนี้
พ่อแม่ควรมีวิธีคุยกับลูกเรื่องเพศอย่างไร
หลายคนมักเข้าใจว่าจะคุยกับลูกเรื่องเพศตอนเข้าวัยรุ่น แต่จริงๆ ควรจะคุยกับลูกมาตั้งแต่เล็กๆ เพื่อให้ลูกรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่เราก็คุยกันในครอบครัว เด็กเล็กๆ ก็สอนได้ตั้งแต่ที่เขาเริ่มรู้จักตัวเอง 2-3 ขวบก็สอนได้แล้ว สอนจากเรื่องง่ายๆ เช่น เวลาที่เราอาบน้ำให้เขา อันนี้เรียกจิ๋มนะลูก ของผู้ชายจะไม่เหมือนกัน ของผู้ชายจะมีจู๋ และอาจจะสอนมากไปกว่านั้นคือ จิ๋ม เป็นสิ่งที่ห้ามใครมาจับนะ ถ้าใครมาจับหรือมาเล่น หนูต้องมาบอกพ่อกับแม่ สอนให้เขาดูแลตัวเอง รู้จักปกป้องตัวเอง พอเข้าวัยรุ่น พ่อแม่ต้องมีทัศนคติที่ดีก่อนว่า เรื่องเพศเป็นเรื่องคุยได้ เราต้องคุยกับลูก เพราะถ้าเราไม่คุยกับลูก ลูกก็อาจจะไปหาข้อมูล ไปซึมซับการคิดต่างๆ จากที่อื่น อย่างที่สองคือ เปลี่ยนทัศนคติว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องห้ามพูด สกปรก จริงๆ เรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมชาติที่อยู่กับเราทุกคน หลักการที่สาม หมอคิดว่า อย่าจ้องจะสอนแบบเลคเชอร์ หรือจะหาเวลาเรียกลูกมา เดี๋ยวแม่จะมาคุยกับลูกเรื่องเพศ เด็กจะรู้สึกตกใจ ทำให้เรื่องเพศเป็นเรื่องที่เหมือนเราคุยกันปรกติ เช่น บางทีเราอาจจะเจอข่าวเกี่ยวกับวัยรุ่นถูกข่มขืน เราจะชวนลูกคุย แต่ส่วนใหญ่พ่อแม่มักจ้องจะสอน แต่หมอจะแนะนำพ่อแม่เสมอว่า พยายามรับฟังและป้อนคำถาม เช่น แทนที่เราเห็นข่าว สมมุติว่ามีข่าววัยรุ่นถูกล่อลวง เราไม่ควรจะหันไปแค่บอกลูกว่า เนี่ย อย่าทำอย่างนี้นะอันตราย เราจะไม่ได้ฝึกให้เขารู้จักคิด อาจจะใช้วิธีการถามคำถาม หนูได้ยินข่าวนี้มั้ยลูก หนูว่าเกิดจากอะไร ทำไมคนนี้ถึงโดนล่อลวงไป ติดต่อกันทางไหนเหรอลูกเดี๋ยวนี้ ก็คือชวนลูกคุย ให้ลูกรู้จักค่อยๆ คิด แล้วลูกคิดว่ายังไง ลูกรู้สึกยังไง คำถามเหล่านี้ จะทำให้เรารู้จักลูก แล้วค่อยแลกเปลี่ยนความคิดกัน
เวลาไหนที่เหมาะสมกับการคุยเรื่องเพศกับลูก
เวลาที่เหมาะมากๆ เลย คือ เวลาที่ลูกอยากรู้ เช่น เวลาที่ลูกตั้งคำถาม พ่อ ฝันเปียกคืออะไรอ่ะ เราก็อย่าไปปิดโอกาสนั้นโดยการ โอ๊ย ยังเด็กอยู่ อย่าเพิ่งไปรู้เรื่องนี้ หรือทำไมคิดอะไร อยากจะทำอะไรเหรอ ทำไมถามเรื่องนี้ มันจะปิดโอกาสในการคุยกับลูกทันที เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่ลูกอยากรู้ นั่นคือโอกาส ป้อนคำถามกับลูก แล้วลูกคิดว่าเป็นอะไร แล้วเราก็ค่อยแลกเปลี่ยน บางอย่างเราอาจจะไม่รู้นะคะ เราก็ไปช่วยกันหาคำตอบกับลูกได้ โอกาสอื่นๆ คือเวลาที่ลูกไม่สนใจอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง บางคนลูกดูทีวีอยู่ ก็จ้องจะสอนอยู่ตลอดเลย ทำให้ลูกหงดหงิดรำคาญ อะไรกันนักหนา คือเวลาที่ลูกจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง น่าจะไม่ใช่เวลาที่ดี อย่าสอนตอนที่เรามีอารมณ์ เช่น เราฟังข่าวแล้วรู้สึก โห นี่แย่มากเลย อย่าจ้องไปสอนลูกตอนนั้น ลูกจะไม่รับฟัง เพราะลูกไม่ชอบอะไรที่ผ่านมากับอารมณ์ สอนตอนอารมณ์ดีๆ สอนตอนลูกไม่ได้จดจ่อกับสิ่งอื่น แล้วก็ทำให้เป็นเรื่องธรรมชาติที่จะพูดคุย
อะไรที่เด็กควรรู้ หรือ ไม่ควรรู้ เกี่ยวกับเรื่องเพศ
เด็กควรรู้ทุกเรื่องที่อยากรู้ ไม่มีเรื่องที่ไม่ควรรู้ เพราะเดี๋ยวนี้ไม่มีอะไรที่เป็นความลับ หรือต้องปกปิด ทุกอย่างหาง่าย คำตอบข้อสงสัยอะไรก็ตามที่มี แต่ควรจะรู้ว่าตัวเองมีขอบเขตในการจะรู้มากน้อยแค่ไหน หรือควรใช้เวลาอยู่กับความอยากรู้อยากเห็นเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน เด็กควรจะรู้เรื่องของขอบเขต แต่หมอไม่คิดว่าจะมีเรื่องที่ไม่ควรรู้
พ่อแม่แบบไหนที่จะคุยกับลูกเรื่องเพศได้ดี
พ่อแม่ที่คุยเรื่องอื่นได้ดีก่อน บางทีเด็กมีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่ เช่น วันๆ ไม่มีเวลาให้กัน พ่อแม่ก้มหน้าอยู่แต่กับหน้าจอ ต่างคนต่างอยู่แต่กับเครื่องของตัวเอง อยู่ดีๆ วันนึงจะลุกขึ้นมาคุยเรื่องเพศกับลูก ก็ไม่ง่าย ฉะนั้นหมอคิดว่า ก็ต้องกลับไปอยู่ในเรื่องที่ลูกและพ่อแม่มีเวลาให้กันเยอะๆ ก่อน เวลาดีๆ ที่เราจะอยู่ด้วยกันแบบมีความสุข มีเสียงหัวเราะมีรอยยิ้ม อันนั้นจะเป็นพ่อแม่ที่ทำให้สามารถพูดคุยในเรื่องอื่นๆ ได้ไม่ยาก เช่นถาม เพื่อนเป็นยังไงบ้างลูก แล้ววันนึงจะมาคุยเรื่องเพศ ก็คงไม่ใช่เรื่องที่ลูกรู้สึกว่าเป็นเรื่องใหญ่ สำคัญเลย คือทักษะการพูดคุยกับเด็กวัยรุ่น ซึ่งบางทีเราจะเข้าใจว่าเป็นโอกาสที่เราจะสอนเรื่องนั้นเรื่องนี้กับเขา ซึ่งต้องเข้าใจธรรมชาติของวัยรุ่น ว่าเขาไม่ได้อยากรู้สึกเด็ก เขาอยากจะรู้สึกว่าตัวเขาใช้ได้ คิดเก่ง ทำได้ เพราะฉะนั้นการที่มีพ่อแม่มาคอยบอกว่าต้องคิดแบบนี้สิ ต้องอย่างนี้นะ พ่อเคยอาบน้ำร้อนมาก่อน แม่เคยผ่านมาก่อน เป็นอะไรที่เด็กไม่ชอบฟัง หลักๆ คือพ่อแม่ทำให้ลูกรู้สึกว่าลูกใช้ได้ ตั้งคำถามกับเค้า ลูกคิดว่ายังไง เจออย่างนี้ที่โรงเรียน เขามาเล่าให้ฟังว่า เพื่อนๆ เป็นแฟนกันด้วย เราจะถามลูก เหรอ แล้วลูกคิดว่ายังไงล่ะ ตัวลูกคิดว่าจะมีแฟนเมื่อไหร่ ที่สำคัญคืออย่ารีบสอน รับฟังเยอะๆ แล้วเราค่อยเติมเต็มสิ่งที่เราคิด ตอนที่เรารู้สึก ตอนที่เรารับฟังเขาได้้ดีมากๆ แล้ว
ถ้าลูกมาถามว่าอยากมีแฟน?
อย่างที่หนึ่ง พ่อแม่อย่าตระหนกตกใจกับคำว่าแฟนของลูก คือเด็กบางทีก็ใช้คำว่าแฟนกับอะไรที่ดูพิเศษขึ้นมาหน่อย กับคนที่เขาปลื้มชอบ แล้วคำว่าแฟนก็ไม่ได้แปลว่า เซ็กซ์ ความรักกับเซ็กซ์ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน อย่าเพิ่งไปคิดว่า แฟน=มีอะไรกัน ความรักหรือความรู้สึกดีเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะเกิดขึ้น เกิดขึ้นกับคนทุกวัย แล้ววัยรุ่นเป็นวัยที่สมองส่วนอารมณ์จะโตเยอะหน่อย ก็อยู่กับความตื่นเต้น หวือหวา เพ้อฝัน ฟิน เวลามีแฟน ก็เป็นเรื่องดี อันดับแรกที่หมออยากให้พ่อแม่รู้ว่า ลูกเข้ามาบอกว่า หนูอยากมีแฟน อยากให้ดีใจว่าเราคือคนนึงเลยนะที่ลูกอยากคุยด้วย หรือลูกไม่ปิดบังเรา ลูกคิดว่าเราคือคนที่คุยได้ เราก็แทนที่จะแบบ เด็กแค่นี้แทนที่จะคิดเรื่องอื่น มันก็ปิดโอกาส เราควรจะถามลูกง่ายๆ ว่า แฟนของลูกเป็นยังไง คำว่าแฟนเป็นยังไง แล้วลองฟัง อาจจะไม่ได้เป็นอะไรใหญ่โตอย่างทีเราคิด แล้วเราก็ค่อยๆ คุยกับลูกว่า แล้วแฟนของลูก ขอบเขตมันอยู่แค่ไหน ลูกจะทำอะไรกันบ้าง มีอะไรที่พิเศษกว่าเพื่อนทั่วไป ทำให้เขาได้ค่อยๆ มองคำว่าแฟน แล้วเราจะได้ค่อยๆ สอน แล้วลิมิตเราอยู่ตรงไหน แฟนของลูกนี่จับมือได้มั้ย หอมแก้มได้มั้ย แล้วเราจะได้ใช้เวลาอย่างนี้คุยกับลูกว่าตัวเราคิดยังไง แล้วลูกคิดยังไง รับฟังลูก แล้วก็อย่าปิดโอกาสที่จะบอกลูกว่า ไม่ได้ รอจบก่อน ห้ามมีแฟนตอนเรียน พ่อรับไม่ได้ หมอคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่ได้ทำให้ลูกเลิกมีแฟน แต่จะทำให้ลูกมีแฟนแบบที่เราไม่ได้รับรู้ แล้วก็ถูกปิดบัง ซึ่งนั่นเป็นอันตราย เพราะเขาก็จะต้องไปเจอกัน หรืออยู่ด้วยกันในที่ที่ไม่มีคนเห็น ซึ่งสถานที่เหล่านั้นก็มักจะนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ได้ในที่สุด เพราะฉะนั้นเปิดใจกว้างกับลูก ทำความรู้จักกับเพื่อนของลูก หรือคนพิเศษของลูก ว่าเขาเป็นยังไง การที่เราไม่รู้จัก เราจะวิจารณ์ไม่ได้ พูดถึงลำบาก เพราะฉะนั้นพามารู้จักกัน ให้ลูกมาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย นั่นคือบ้าน เวลาที่เราอยู่
พ่อแม่ควรจะคุยกับลูกวัยรุ่นในเรื่องอะไรบ้าง
พ่อแม่หลายคนอาจจะคิดว่า การจะคุยเรื่องเพศกับลูก คือคุยเรื่องแฟน เพศสัมพันธ์ แต่จริงๆ แล้วมิติของคำว่าเพศเยอะมาก พ่อแม่ควรจะต้องคุยแล้วทำความเข้าใจกับลูก มีตั้งแต่เรื่องการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย วัยรุ่นเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงร่างกายเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ผู้หญิงมีหน้าอก มีประจำเดือน สิ่งเหล่านี้เราควรจะอธิบายให้ลูกฟังว่าเกิดจากอะไร การดูแลร่างกายตัวเองขณะมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายควรทำอย่างไรบ้าง เป็นเรื่องธรรมชาติที่จะมีฝันเปียก มีอวัยวะเพศแข็งตัว นอกจากนี้ ก็เป็นการคุยเรื่องเพศ ในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง โอกาสที่จะมีเพศสัมพันธ์ ตั้งครรภ์ ป้องกันการตั้งครรภ์ การคุมกำเนิด นอกจากนี้มิติอื่นๆ ของเรื่องเพศ ก็มีเรื่องความหลากหลายทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ แต่ละคนมีความเป็นชายเป็นหญิงไม่เท่ากัน มีการแสดงออกทางเพศ บทบาททางเพศที่ไม่เหมือนกัน เรามีรสนิยมทางเพศที่ไม่เหมือนกัน ผู้ชายส่วนใหญ่ชอบผู้หญิง ผู้หญิงส่วนใหญ่ชอบผู้ชาย แต่ว่าก็มีผู้ชายบางกลุ่มชอบผู้ชาย ผู้หญิงบางกลุ่มชอบผู้หญิง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปรกติที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ แล้วคนเหล่านี้ก็เป็นคนปรกติที่อยู่ร่วมกับเราได้ หมอคิดว่าเป็นสิ่งที่พ่อแม่จะช่วยปลูกฝังในเรื่องความเข้าใจ ในเรื่องความหลากหลายทางเพศที่ดีขึ้น
นอกจากนี้หมอคิดว่ามีเรื่องของสิทธิทางเพศ ตัวเรามีสิทธิที่จะปกป้องดูแลตัวเอง ไม่มีใครมีสิทธิที่จะเข้ามารุกล้ำ ล่วงเกินตัวเรา แม้กระทั่งคนในครอบครัว จริงๆ ความหลากหลายทางเพศ ในปัจจุบันเราพบว่าเป็นเรื่องปรกติทางธรรมชาตินะคะ แต่ก่อนอาจจะเคยถูกมองว่าเป็นความเบี่ยงเบน เป็นความผิดปรกติ แต่ปัจจุบันวิทยาศาสตร์ก็มีการทำความรู้จักในเรื่องเพศของมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ พบว่าจริงๆ เป็นความหลากหลายทางธรรมชาติ รสนิยมทางเพศ อย่างเช่นคนที่ชอบเพศเดียวกัน ก็ไม่ได้ถือเป็นความผิดปรกติเลย กลุ่มคนที่เป็นข้ามเพศเช่น ตุ๊ด กระเทย ทอม แต่ก่อนถูกวินิจฉัยว่าเป็นความผิดปรกติ แต่ว่าเดี๋ยวนี้ทางสมาคมจิตแพทย์ก็ตัดเรื่องความผิดปรกติออกไป แค่บอกว่าเป็นภาวะที่ไม่มีความสุขกับเพศที่เป็น เพราะฉะนั้นหมอคิดว่าพ่อแม่ต้องทำความเข้าใจกับวิทยาศาสตร์ที่เราค้นพบ แล้วก็เรียนรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับมนุษย์ คือความหลากหลายทางเพศไม่ได้เป็นความผิดปรกติ ไม่ได้เป็นสิ่งที่ลูกเลือก มันเป็นธรรมชาติที่แต่ละคนมี เป็นธรรมชาติที่เขาแสดงออกตามสมองของเขา ปัจจุบันเรายังไม่รู้ว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ชัดเจน ก็อาจจะเป็นสาเหตุหลากหลายร่วมกัน แต่พบว่าปัจจัยทางชีวภาพมีผลเยอะ ที่จะทำให้ใครแต่ละคนเติบโตมาเป็นอย่างไร ไม่ใช่แค่เรื่องของการเลี้ยงดูในเมื่อคนเหล่านี้เป็นคนที่ปรกติเหมือนๆ คนอื่น สำคัญที่สุดก็คือการได้รับการยอมรับจากครอบครัว การที่พ่อแม่จะแสดงความเข้าใจในสิ่งที่เขาเป็น ยอมรับกับสิ่งที่ลูกไม่ได้เลือก แต่ก็เป็นธรรมชาติของลูก ขณะเดียวกัน เราก็ไม่ถึงกับสนับสนุนไปแบบสุดโต่ง เอาเลยอยากทำอะไรก็ทำ อาจจะมีขอบเขตที่น่าจะปลอดภัย แล้วก็ดีกับลูก ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เราสามารถพูดคุยกับลูกได้ว่าลูกอยากจะทำอะไรแค่ไหนอย่างไร แล้วจะส่งผลกระทบยังไงบ้าง ซึ่งหมอคิดว่าการยอมรับของครอบครัวจะส่งผลที่ดีต่อการพัฒนาของวัยรุ่น จะส่งผลในเรื่องของการรู้สึกดีกับตัวเอง ยอมรับนับถือตัวเอง ส่งผลต่อการพัฒนาตัวเอง แล้วก็กลายเป็นคนที่มีความสุข
คำแนะนำเรื่องเพศในวัยรุ่น โดย มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง LINK
มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง สนับสนุนโดย สสส. จัดทำข้อมูลเพื่อการสร้างความเข้าใจเรื่องเพศในวัยรุ่น ไว้อย่างครอบคลุมในหลายมิติที่สอดคล้องกับชีวิตและสถานการณ์จริงๆ มีประเด็นที่น่าใจ ดังนี้
ทำไมต้องคุยกับลูกเรื่องเพศ?
เพราะสังคมรอบข้างพูดเรื่องเพศอยู่ตลอดเวลา ทั้งในหนัง-ละคร โฆษณา เอ็มวี ข่าว ฯลฯ แล้วเด็กๆ ก็ใช้อินเทอร์เน็ตได้เอง แต่เด็กมักจะแยกแยะไม่ได้ ว่าเรื่องไหนจริง ไม่จริง ควรทำตาม หรือไม่ควรลอกเลียนแบบ
เด็กวัยไหน ต้องคุยอย่างไร
เด็กวัยก่อนเข้าเรียน (3-5 ปี) – เด็กวัยนี้สนใจเรื่องความแตกต่างของสรีระร่างกาย ผู้ชายกับผู้หญิง แต่เด็กยังแยกแยะบทบาทระหว่างเพศไม่ได้ เพราะฉะนั้น เด็กไม่ได้ต้องการคำตอบที่ซับซ้อน
จะคุยกับลูก เริ่มต้นอย่างไร
เริ่มต้นที่การเตรียมพร้อมของตัวคุณเอง ...เตรียมอะไรบ้าง?
เริ่มคุยเรื่องเพศกับลูกเมื่อไรดี
ยิ่งเร็วยิ่งดี อย่าให้สื่อเรื่องเพศที่ไม่เหมาะสมเป็นช่องทางเดียวในการรับรู้ของลูกหลาน เด็กยุคนี้ เผชิญความเสี่ยงจากสื่อและสังคมรอบข้างที่กระตุ้นความสนใจใคร่รู้เรื่องเพศในช่วงวัยที่ลดลงเรื่อยๆ เป็นไปไม่ได้ที่ผู้ปกครองจะติดตามปกป้องลูกหลานทุกฝีก้าว
เตรียมพร้อมลูกเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น
ควรทำ
เล่าให้ลูกฟัง ว่าสิ่งที่ลูกต้องเผชิญเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นมีอะไรบ้าง
ให้กำลังใจ บอกลูกว่าไม่ต้องวิตกกังวล เพราะพัฒนาการเปลี่ยนแปลงร่างกายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนเร็ว บางคนช้า และแต่ละคนก็มีการเปลี่ยนแปลงไม่เหมือนกันทั้งหมด
สอนทักษะที่สำคัญในการดูแลตัวเอง เช่น การล้างหน้าเพื่อป้องกันสิว การดูแลผิวหน้า การรักษาความสะอาดร่างกาย และการรับมือกับร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป
อย่าทำ
เพิกเฉยไม่สนใจความวิตกกังวลของลูก จะกลายเป็นการเปิดช่องให้ลูกไปหาข้อมูลเองในอินเทอร์เน็ต ซึ่งข้อมูลที่ได้อาจไม่ถูกต้อง และเด็กยังขาดวิจารณญาณที่จะแยกแยะ
ลูกวัยรุ่นเริ่มมีอารมณ์ทางเพศ และเป็นช่วงวัยที่เพศสัมพันธ์อาจเกิดขึ้นได้
ควรทำ
ถือเป็นโอกาสที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจ โดยการให้ข้อมูลกับลูกอย่างตรงไปตรงมา ถ้าวันหนึ่งลูกต้องเผชิญสถานการณ์ จะได้มีข้อมูลในการคิด และตัดสินใจ
สามารถอธิบายให้ลูกเข้าใจอารมณ์ทางเพศ ว่าเมื่อร่างกายถูกกระตุ้นเร้า เช่น การดูหนังโป๊ การกอด จูบ สัมผัส สามารถทำให้เกิดอารมณ์ทางเพศได้ และอาจนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้น ถ้าไม่ต้องการมีเพศสัมพันธ์ ต้องหลีกเลี่ยงสถานการณ์ดังกล่าว
อธิบายให้ลูกเข้าใจว่า เมื่ออารมณ์ทางเพศเกิดขึ้น ไม่จำเป็นต้องจบลงที่การมีเพศสัมพันธ์เสมอไป เพราะอารมณ์ดังกล่าวสามารถหายไปได้เอง ลูกจึงสามารถปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์ ถ้าเห็นว่าเป็นเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย หรือไม่พร้อม ในขณะเดียวกัน หากถูกปฏิเสธ ลูกต้องเคารพการตัดสินใจของคนอื่นด้วย
แนะนำให้ลูกรู้จักประเมินความพร้อมของการมีเพศสัมพันธ์ เช่น ชวนให้ลูกคิดว่าเพศสัมพันธ์ที่ดีต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง อาทิ ความรัก ความยินยอมพร้อมใจของสองฝ่าย ต้องเป็นเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยเท่านั้น เป็นต้น
อย่าทำ
ไม่คุยกับลูกเรื่องนี้ เพราะคิดว่าลูกยังเล็ก ไม่มีความสนใจเรื่องเพศ เพราะในความเป็นจริงเด็กรับรู้และเติบโตเกินกว่าที่พ่อแม่คิดเสมอ โดยเฉพาะถ้าพ่อแม่คิดว่าลูกยังเด็ก ปฏิบัติต่อลูกเหมือนเป็นเด็กอยู่ตลอดเวลา เด็กก็จะแสดงออกให้ตรงกับความคาดหวังของพ่อแม่ เพื่อไม่ให้พ่อแม่ผิดหวัง
เมื่อลูกพูดคุยหรือขอคำปรึกษา การตอบสนองด้วยการว่ากล่าว ตำหนิ หรือขู่ปราม จะทำให้เด็กรับรู้ว่า พ่อแม่ไม่ยอมรับเรื่องเหล่านี้ หากมีข้อสงสัยใด ลูกจะไม่ซักถามพ่อแม่อีก แต่อาจหาข้อมูลเองจากอินเทอร์เน็ต หรือถามเพื่อน ซึ่งเสี่ยงที่จะได้รับข้อมูล และความเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน
ไม่พูดคุย เพราะคิดว่า จะเป็นการชี้โพรงให้กระรอก จะทำให้ลูกขาดข้อมูลความเข้าใจ และหากต้องเผชิญสถานการณ์ ลูกจะไม่รู้ว่าควรรับมือ หรือแก้ปัญหาอย่างไร
คิดว่าครูที่โรงเรียนสอนก็เพียงพอแล้ว ในความเป็นจริง เด็กต้องการข้อมูลมากกว่าในห้องเรียนเสมอ อีกทั้งบรรยากาศในการเรียนการสอนมักไม่เอื้อให้เกิดการซักถาม ลูกอาจไม่ไว้วางใจครูมากพอ พ่อแม่เป็นคนที่ทำหน้าที่นี้ได้ดีที่สุด
ลูกดูหนังโป๊บ่อย
ควรทำ
ควรสอนลูกให้มีวิจารณญาณ และมีความรู้เท่าทันสื่อ ว่าหนังโป๊เป็นการแสดง ที่มีการจัดแสดงภาพ แสง สี เสียง และเขียนบท ไม่ต่างจากหนังประเภทอื่นๆ สิ่งที่เห็นไม่ใช่เรื่องจริง ลูกไม่ควรลอกเลียนแบบ อาจเกิดผลเสียได้
สร้างเงื่อนไขการใช้อินเทอร์เน็ตลูก เช่นกำหนดให้ลูกใช้ได้วันละกี่ชั่วโมง และต้องแบ่งเวลาไปทำอย่างอื่นอย่างเหมาะสม
สามารถชวนลูกทำกิจกรรมอย่างอื่น เช่น ไปเล่นกีฬา ไปเที่ยวกับเพื่อน ฯลฯ เพื่อให้ลูกเรียนรู้อย่างรอบด้าน ไม่หมกมุ่นกับสื่อมากเกินไป
อย่าทำ
การสั่งห้ามไม่ให้ลูกดู เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะสื่อทุกวันนี้เข้าถึงเด็กอย่างง่ายดาย และรวดเร็ว
การจับตามอง และควบคุมพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของลูกตลอดเวลา เพราะกลัวลูกดูหนังโป๊ จะทำให้ลูกไม่เชื่อใจและคิดว่าพ่อแม่จุ้นจ้านเรื่องส่วนตัว
พบว่าลูกมีการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง หรือช่วยตัวเอง เป็นประจำ
ควรทำ
พ่อแม่ควรยอมรับและทำความเข้าใจว่า ลูกอยู่ในช่วงวัยรุ่น มีความต้องการทางเพศที่ต้องการปลดปล่อย
บอกลูกว่า การช่วยตัวเองเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ บางคนอาจมีความต้องการทางเพศที่สูงกว่าคนอื่น แต่แสดงว่ามีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี แต่ก็ไม่ควรช่วยตัวเองจนอวัยวะเพศได้รับบาดเจ็บ
ถ้าลูกกังวลว่าช่วยตัวเองบ่อยเกินไปหรือไม่พ่อแม่สามารถแนะนำให้ลูกสังเกตร่างกายตัวเอง ถ้ารู้สึกเหนื่อย เพลีย ไม่มีแรง ก็สันนิษฐานได้ว่าร่างกายต้องการการพักผ่อน
พ่อแม่อาจจะชวนลูกทำกิจกรรมอื่นๆ ร่วมกันเพื่อให้ลูกแบ่งเวลาไปทำอย่างอื่นบ้าง เช่น เล่นกีฬา ทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อไม่ให้ลูกหมกมุ่นอยู่กับเรื่องเพศเพียงอย่างเดียว
อย่าทำ
จับตาสอดส่องพฤติกรรมลูกแม้กระทั่งในเวลาส่วนตัวเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกช่วยตัวเอง จะทำให้ลูกอึดอัดและรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่เคารพความเป็นส่วนตัว
พูดเชิงขบขันหรือล้อเลียนลูก ทำให้ลูกรู้สึกอับอาย จะทำให้เด็กรู้สึกไม่ดีต่อร่างกายตัวเอง และยิ่งตีตัวออกจากพ่อแม่
การดุด่า ต่อว่า หรือทำโทษ เมื่อพบว่าลูกแอบช่วยตัวเอง จะทำให้ลูกมีทัศนคติไม่ดีต่อเรื่องเพศ และกระทบความสัมพันธ์ในครอบครัว
การนำเหตุการณ์ที่พบเห็นลูกช่วยตัวเองไปเล่าให้ญาติ คนรู้จักฟัง อาจด้วยความกังวลของพ่อแม่ จะทำให้เด็กรู้สึกว่า พ่อแม่ไม่เคารพความเป็นส่วนตัว เด็กจะปิดบัง และไม่ขอคำแนะนำปรึกษา หรือหากเกิดปัญหาก็จะไม่ขอความช่วยเหลือจากพ่อแม่
ลูกเปรียบเทียบรูปร่างหน้าตาตนเองกับเพื่อน
ควรทำ
พ่อแม่ควรอธิบายและสร้างความมั่นใจให้วัยรุ่นว่า ลูกเองก็สามารถสวย/หล่อ ในแบบตัวของตัวเองได้ เพราะความสวยความงามขึ้นอยู่กับมุมมองของคนของแต่ละสังคม
ให้กำลังใจว่าลูกเองก็มีข้อดีและความสามารถหลายด้านที่ต่างจากเพื่อน ไม่มีใครที่มีหน้าตา หรือความสามารถที่เหมือนกันทั้งหมด และควรสนับสนุนให้ลูกเติบโตอย่างมีสุขภาพดี มากกว่าการให้ความสำคัญกับความสวยงามเพียงอย่างเดียว
สอนให้ลูกเข้าใจความแตกต่าง ว่าคนมีเรารูปร่างหน้าตา บุคลิกภาพ ไม่เหมือนกัน ลูกควรเป็นตัวของตัวเอง และไม่ดูถูกคนอื่น
อย่าทำ
การปลูกฝังลูกตั้งแต่ยังเล็ก ว่าแบบไหนถึงเรียกว่าสวย ไม่สวย หล่อ ไม่หล่อ เด็กจะขาดความเป็นตัวของตัวเอง ไม่เห็นคุณค่าด้านอื่นทั้งในตัวเอง และคนรอบข้าง
การตามใจลูกในการใช้จ่าย เพื่อดูแลความสวยความงาม ควรอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม และเน้นให้เด็กรู้จักคิดอย่างมีเหตุผล เพื่อไม่ให้ลูกหมกมุ่นกับเรื่องภาพลักษณ์ โดยมองข้ามคุณค่าอื่น
การตอกย้ำลูกว่าหน้าตาไม่หล่อ ไม่สวย ขี้เหร่ เพราะเชื่อว่าการชมลูกจะให้ลูกเหลิง เป็นการบั่นทอนจิตใจเด็ก และกลับทำให้เด็กเห็นความสำคัญของความสวยงามมากขึ้นอีก
ลูกพกถุงยางอนามัย ยาคุมกำเนิดในกระเป๋านักเรียน
ควรทำ
ตั้งสติ ลูกอาจใช้อุปกรณ์เหล่านี้ในการเรียน หรือแม้ว่าลูกจะไปมีเพศสัมพันธ์มาจริงๆ อย่างน้อย ลูกก็รู้จักการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย
พูดคุยสอบถามด้วยท่าทีปกติ ถือเป็นโอกาสที่จะสื่อสารเพื่อสร้างความไว้วางใจ ว่าพ่อแม่พร้อมจะพูดคุย ให้คำแนะนำ และช่วยเหลือลูกในทุกเรื่อง ชวนลูกพูดคุยเรื่องความรักความสัมพันธ์ และเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย
ถ้าลูกบอกว่า ใช้อุปกรณ์เหล่านี้ เพื่อการมีเพศสัมพันธ์จริง ให้กล่าวชื่นชมที่ลูกรู้จักใช้อุปกรณ์คุมกำเนิด และสอบถามถึงวิธีการ เพื่อเช็คว่า ลูกใช้อย่างถูกวิธีหรือไม่ หากลูกยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน พ่อแม่สามารถให้ข้อมูลเพิ่มเติม หรือหากพ่อแม่ไม่รู้ไม่เข้าใจ ก็สามารถชักชวนลูกให้หาข้อมูลด้วยกันได้
อย่าทำ
การดุด่า โวยวาย จะเป็นการปิดกั้นการสื่อสารระหว่างกัน เด็กจะขาดความไว้วางใจ คิดว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจ และไม่ยอมรับในตัวเขา
การใช้ท่าทีซักไซ้ ไต่สวน เพื่อหาข้อเท็จจริงว่าลูกไปมีเพศสัมพันธ์มากับใคร อย่างไร อาจทำให้เด็กไม่รู้สึกว่าถูกคุกคามความเป็นส่วนตัว และจะปิดบังไม่ให้พ่อแม่รับรู้เรื่องเหล่านี้อีก
ลูกเริ่มมีความรัก มีคนรัก
ควรทำ
ชวนลูกพูดคุยอย่างเป็นธรรมชาติ ในโอกาสที่เหมาะควร ชวนให้ลูกประเมินความสัมพันธ์ของลูกกับแฟนว่าเป็นอย่างไร รวมทั้งนิสัยใจคอของแฟน และของตัวลูกเอง ว่ามีการบังคับข่มขู่ เอาแต่ใจตัวเอง หรือไม่
สอนให้ลูกเข้าใจว่า การคบหาเป็นแฟนกัน สองฝ่ายต้องเคารพซึ่งกันและกัน ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
พ่อแม่สามารถสร้างข้อตกลงร่วมกับลูกได้ เช่น ให้ลูกไปเที่ยวกับแฟนได้ แต่ต้องกลับบ้านก่อน 6 โมงเย็น ถ้าจะแชตกับแฟน ต้องทำการบ้านเสร็จก่อน หรือการแสดงออกที่เหมาะสม เป็นต้น
ควรสอนให้ลูกเข้าใจว่า เพศสัมพันธ์จะเกิดขึ้นได้สองฝ่ายต้องมีความพร้อม ต้องเป็นความยินยอม ตัดสินใจร่วมกันอย่างแท้จริง และต้องเป็นเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยเท่านั้น
สอนลูกให้ประเมินสถานการณ์ที่อาจนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ ถ้าไม่ต้องการให้เกิดขึ้น ต้องหาทางปฏิเสธ หรือหลีกเลี่ยงตั้งแต่ต้น
สอนทักษะการปฏิเสธในแต่ละสถานการณ์ เสริมความเชื่อมั่นให้ลูกเป็นตัวของตัวเอง และกล้าตัดสินใจด้วยเหตุผล โดยไม่ถูกเพื่อนหรือคนรักกดดัน
อย่าลืมว่า การสอนเด็กในวัยนี้ วิธีที่ได้ผลคือการชวนคุย ชวนให้เด็กคิดในแง่มุมต่างๆ เมื่อเด็กเข้าใจและเห็นด้วย เขาจึงจะเชื่อและปฏิบัติตาม
อย่าทำ
การห้ามปราม หรือบอกลูกว่า “อย่าเพิ่งมีแฟนตอนนี้” เพราะเห็นว่าลูกยังเด็ก หรือกลัวลูกเสียการเรียน จะทำให้ลูกไม่พูดคุย หรือปรึกษาพ่อแม่ในเรื่องเหล่านี้
การแสดงความสนใจ ไถ่ถามซอกแซก รวมถึงก้าวก่ายการตัดสินใจของลูก จะทำให้ลูกวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่ต้องการพื้นที่ส่วนตัวรู้สึกอึดอัด และมีทัศนคติในแง่ลบกับพ่อแม่ ทางที่ดีควรสังเกตว่า ลูกยินดีที่จะพูดคุยเพียงใด หรือเลือกคุยในจังหวะเวลาที่เหมาะสม
การไม่คุยเรื่องนี้กับลูก เพราะคิดว่าเด็กสมัยนี้รู้ดีแล้ว หรือกลัวจะกลายเป็นการชี้โพรงให้กระรอก เท่ากับเป็นการปล่อยให้เด็กเผชิญความเสี่ยงตามลำพัง แม้เด็กจะเข้าถึงอินเทอร์เน็ต แต่เด็กจะไม่หาข้อมูลในเรื่องเหล่านี้ เพราะไม่รู้ว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญจำเป็น หรือหาก็อาจได้ข้อมูลผิดๆ
ลูกมีปัญหาความรัก เช่น แฟนหึงหวง แฟนมีกิ๊ก อกหัก
ควรทำ
ยอมรับว่า วัยรุ่นเป็นวัยที่ขาดประสบการณ์ เป็นวัยที่ต้องลองผิดลองถูก และการผิดหวัง การล้มเหลวในเรื่องความรักเป็นสิ่งที่กระทบความรู้สึกของพวกเขา
ทำตัวเป็นที่ปรึกษาที่ดี เป็นเพื่อนคู่คิด คู่ฟัง และคอยให้กำลังใจลูก
เมื่อลูกจิตใจดีขึ้นแล้ว บอกลูกว่าอย่าทุ่มเทกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนต้องเป็นทุกข์ เพราะในยังมีอีกหลายสิ่งที่ลูกต้องทำ และยังมีโอกาสเจอคนที่ดีอีกในอนาคต
อย่าทำ
มองเป็นเรื่องไร้สาระ และคิดว่ายังลูกยังเป็นเด็ก ไม่ควรจะมาให้ความสำคัญหรือทุ่มเทกับเรื่องแบบนี้ ลูกจะตีตัวออกห่าง เพราะคิดว่าพ่อแม่ ไม่เข้าใจ ไม่ใส่ใจความทุกข์ร้อนของเขา
ให้คำแนะนำในเชิงสั่งสอน หรือชี้นำ โดยถือคติว่าพ่อแม่มีประสบการณ์มาก่อน จะทำให้ลูกไม่สนใจ และตีตัวออกห่าง เพราะคิดว่าประสบการณ์ของพ่อแม่ใช้ไม่ได้กับวัยรุ่นปัจจุบัน
ลูกคบเพื่อนที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น เพื่อนลูกเคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว หรือมีเพื่อนท้องในวัยเรียน
ควรทำ
ชวนคุย ถามความคิดเห็น ว่าลูกคิดอย่างไรกับเพื่อนที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เพื่อสำรวจทัศนคติและมุมมองของลูก รวมทั้งชี้ชวนให้ลูกคิดในมุมมองที่กว้างขวางขึ้น และช่วยเสริมทักษะที่คิดว่าลูกยังขาด
เชื่อมั่นในการเลือกคบเพื่อนของลูก สอนทักษะให้ลูกรู้จักประเมินผู้คน และสถานการณ์ รวมทั้งการวางตัว รักษาความสัมพันธ์ และระยะห่างอย่างเหมาะสม
อย่าทำ
ห้ามลูกว่าอย่าไปคบเพื่อนไม่ดี เพราะลูกจะมองว่าพ่อแม่ไม่เคารพการตัดสินใจในการคบเพื่อนของตนเอง มองว่าพ่อแม่ใจคอคับแคบ และไม่เชื่อใจลูก
ตัดสิน วิจารณ์ เพื่อนลูกว่าเป็นเด็กที่มีพฤติกรรมไม่ดี เพราะเราอาจมีข้อมูลของเพื่อนลูกอย่างจำกัด จะทำให้ลูกมองพ่อแม่ว่าใจคอคับแคบ
การใช้เพื่อนลูกเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้ลูกเห็นว่าทำตัวไม่ดี จะทำให้ลูกขาดความไว้วางใจ และคิดว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจ ไม่เห็นใจคนอื่น
ลูกหาข้อมูลเรื่องเพศในอินเทอร์เน็ต และเชื่อเพื่อนมากกว่าพ่อแม่
ควรทำ
ควรมีท่าทีเป็นมิตร และเป็นที่พึ่งให้ลูกได้ตั้งแต่ลูกยังเล็ก เพราะเมื่อลูกโตขึ้น ลูกจะได้กล้าเข้าหาและถามปัญหาเรื่องเพศกับพ่อแม่
ถ้าหากไม่เคยคุยเรื่องเพศมาตั้งแต่ลูกยังเล็ก พ่อแม่ก็ควรเข้าหา และแสดงจุดยืนว่าพ่อแม่พร้อมที่จะเป็นที่ปรึกษา โดยไม่ต่อว่าหรือตัดสินลูก
ควรบอกวัยรุ่นที่เชื่อข้อมูลเรื่องเพศในอินเทอร์เน็ตและจากเพื่อนว่า สิ่งที่เห็นในอินเทอร์เน็ตอาจไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้องเสมอไป เช่น เว็บไซต์ปลอม หรือเว็บไซต์ที่มีการขายโฆษณาแฝง ถ้าลูกเชื่อสิ่งเหล่านี้และไปปฏิบัติ ก็อาจจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย ขณะเดียวกัน ก็ควรบอกลูกว่า เพื่อนของลูกก็ไม่ได้รู้ข้อมูลมากไปกว่าลูกเองเท่าใดนัก เพราะมีวัยและประสบการณ์เรื่องเพศใกล้เคียงกัน
อย่าทำ
ปิดกั้นการคุยเรื่องเพศ ไม่คุยเรื่องเพศกับลูกเลย เพราะคิดว่าถ้าพูดไปแล้วจะยิ่งเป็นการชี้โพรงให้กระรอกและลูกจะไปปฏิบัติตาม
ต่อว่า หรือใช้คำพูดดุด่าลูก เช่น “เป็นเด็กเป็นเล็กจะรู้ไปทำไม” จะทำให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่พร้อมที่จะคุยและให้ข้อมูลเรื่องเพศที่เด็กอยากรู้ และหันไปใช้อินเทอร์เน็ตในการหาคำตอบแทน
การคุยเรื่องเพศในเชิงสั่งสอน ถือคติว่าพ่อแม่มีประสบการณ์มาก่อนและย่อมรู้ดีกว่า จะทำให้ลูกไม่อยากเข้าหา และคิดว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจบริบทของวัยรุ่นยุคปัจจุบัน
ลูกใช้โซเชียลมีเดีย หรือเว็บหาเพื่อน หาคู่
ควรทำ
พ่อแม่ควรใช้โอกาสนี้คุยกับลูกและสอนให้ลูกมีภูมิต้านทางในการรับมือมากกว่าการสั่งห้าม
อธิบายให้ลูกฟังว่า ลูกไม่มีทางรู้ว่าคนที่ตนเองคุยในโลกโซเชียล เป็นใคร มาจากไหน มีนิสัยใจคออย่างไร แม้แต่ประวัติที่มีการระบุไว้ในเว็บไซต์ก็อาจจะไม่จริง ฉะนั้น อย่าเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวมากเกินไป หรือเร็วเกินไป
ชวนลูกคุย เพื่อให้ลูกหัดประเมินผู้คนและสถานการณ์ โดยเฉพาะคนบนโซเชียลที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน การพูดคุยแบบไหนถือว่าไม่เหมาะสม แค่ไหนควรยุติความสัมพันธ์ เป็นต้น
ย้ำกับลูกว่า หากมีการนัดหมายคนที่รู้จักกันทางอินเทอร์เน็ต ต้องบอกพ่อแม่ก่อน อาจชวนเพื่อนไปด้วย ต้องนัดกันในที่สาธารณะที่มั่นใจว่าปลอดภัย ไม่ออกนอกเส้นทาง รวมทั้งต้องระมัดระวังตัว และหาทางหนีทีไล่ไว้ล่วงหน้า
ชี้ให้ลูกเห็นว่า อินเทอร์เน็ตไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัว เพราะข้อมูลต่างๆ เมื่อเผยแพร่แล้ว คนอื่นอาจบันทึก หรือเผยแพร่ต่อได้ ดังนั้น ต้องไม่โพสต์รูปภาพหรือข้อความส่วนตัว และต้องไม่ละเมิดคนอื่น
อย่าทำ
บังคับให้ลูกเป็นเพื่อนกับพ่อแม่ในโลกโซเชียล เพราะส่วนใหญ่ ถึงลูกจะรับเป็นเพื่อน แต่ลูกจะหนีไปใช้โซเชียลอื่น หรือสร้างบัญชีปลอมเพื่อหลบพ่อแม่
การโพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะเชิงอบรม สั่งสอน หรือต่อว่า ในโซเชียล เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะสำหรับวัยรุ่น โซเชียลฯ ถือเป็นพื้นที่ส่วนตัวของพวกเขา
ลูกแต่งตัวไม่เหมาะสม เน้นสื่อเรื่องเพศ โชว์สัดส่วน เรือนร่าง
ควรทำ
ชวนลูกคุยว่าเพราะเหตุใดถึงชอบแต่งตัวเช่นนี้ ซึ่งลูกอาจมีเหตุผลเป็นของตัวเอง
ชวนให้ลูกคิด หรือประเมินสถานการณ์ว่าการแต่งตัวแบบนี้เหมาะสมหรือไม่กับสถานที่ และช่วงเวลาต่างๆ รวมถึงมุมมองและการยอมรับของผู้คนที่ลูกจะต้องไปพบเจอ
พ่อแม่สามารถชวนให้ลูกวัยรุ่นคิดว่า การแต่งกายเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงออกที่จะดึงดูดความสนใจคนที่ได้พบเจอ แต่ก็ยังมีสิ่งอื่นๆ ที่สามารถสร้างความประทับใจ เช่น การยิ้มแย้มแจ่มใส ดูแลเอาใจใส่คนอื่น เป็นต้น
หาทางสายกลางที่ทั้งพ่อแม่ และลูกวัยรุ่นยอมรับร่วมกันได้
อย่าทำ
กล่าวโทษ หรือใช้คำพูดรุนแรง ต่อว่า จิกกัด เช่น “แต่งตัวแบบนี้จะไปยั่วใคร” เพราะเป็นการดูถูกลูก
แสดงอารมณ์ฉุนเฉียวเกรียวกราด จะทำให้ลูกมองข้ามความห่วงใยและหวังดีของพ่อแม่
เข้าควบคุมบงการเสื้อผ้าหน้าผม การแต่งกายของลูก จะทำให้ลูกอึดอัด และคิดว่าพ่อแม่มองตนว่าเป็นเด็กตลอดเวลา ซึ่งทำให้ลูกขาดความไว้วางใจ คิดว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจ ลูกอาจปิดบังความเป็นตัวของตัวเอง เพื่อไม่ให้พ่อแม่ผิดหวัง หรือหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง
ลูกมีพฤติกรรม หรือความสนใจไม่ตรงกับเพศกำเนิด หรือชอบเพศเดียวกัน
ควรทำ
พ่อแม่ต้องเข้าใจก่อนว่า ลูกไม่ได้ผิดปกติ ไม่ได้ป่วย แต่เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ รสนิยมทางเพศของคนเรามีได้หลากหลาย
เคารพการตัดสินใจของลูก และเป็นกำลังใจเพื่อให้ลูกใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุข
ทำความเข้าใจตัวตนของลูก ให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ เช่น การไม่ได้รับความยอมรับ และอุปสรรคทางสังคมที่ลูกอาจได้พบเจอ รวมถึงการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
ถ้ายังยอมรับสิ่งที่ลูกเป็นไม่ได้ ควรให้เวลาตัวเองใคร่ครวญ และทบทวนว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับลูกคือพ่อแม่ที่เข้าใจ และคอยเป็นกำลังใจ เพื่อที่เขาจะก้าวเดินต่อไปข้างหน้า
อย่าทำ
การคิดว่า บุคคลหลากหลายทางเพศเป็นโรคภัย เป็นความเข้าใจแบบเดิมๆ นับตั้งแต่ปี 1973 เป็นต้นมา ความหลากหลายทางเพศถูกตัดออกจากเกณฑ์การวินิจฉัยโรคทางจิตเวช และปี 2013 วงการแพทย์เลิกใช้คำว่า “เพศสภาพที่ผิดปกติ” เปลี่ยนเป็นการวินิจฉัยว่า “การไม่มีความสุขกับเพศสภาพที่เป็น”
ตั้งความหวังกับลูกว่าจะต้องรักเพศตรงข้ามเท่านั้น และพูดให้ลูกฟังเป็นประจำว่าอนาคต ลูกชาย ลูกสาวจะต้องแต่งงานมีครอบครัว และมีหลานให้พ่อแม่อุ้ม อาจสร้างความอึดอัดใจให้แก่ลูกที่มีความหลากหลายทางเพศ และยิ่งเป็นการปิดกั้นไม่ให้ลูกพูดคุยขอคำปรึกษาจากพ่อแม่
การแสดงท่าทีไม่ยอมรับลูกด้วยอารมณ์รุนแรง เช่น การดุด่า ไล่ลูกออกจากบ้าน หรือกล่าวตัดขาดสัมพันธ์ มีแต่จะทำให้สถานการณ์เลวร้าย ครอบครัวร้าวฉานแตกแยก และส่งผลต่อการเติบโตและอนาคตของลูก