ปัญหาที่จะเกิดขึ้นเมื่อฟันถูกถอนไป
1. ฟันที่อยู่ข้างเคียงกับช่องว่างฟันจะล้มเข้าหาช่องว่าง ทำให้การเรียงตัวของฟันและตำแหน่งฟันผิดปกติไป
2. เศษอาหารติดซอกฟันมากขึ้น เมื่อมีช่องว่างฟันเกิดขึ้นฟันข้างเคียงจะขยับเข้ามาในช่องว่าง ทำให้ฟันที่เหลืออยู่ที่เคยชิดกันจะห่างมากขึ้นอาจนำไปสู่ปัญหาเศษอาหารติดตามระหว่างซี่ฟันหรือซอกฟันมากขึ้น
3. การย่อยอาหารมีประสิทธิภาพลดลง เพราะเหลือฟันที่ใช้บดเคี้ยวน้อยลง
4. ในกรณีที่ฟันที่เป็นคู่สบกับฟันที่ถูกถอนเป็นฟันบนก็จะงอกย้อยลงข้างล่างมากขึ้น แต่ถ้าคู่สบเป็นฟันล่างก็จะค่อยๆเคลื่อนที่ไปข้างบนมากขึ้น เนื่องจากฟันที่ถูกถอนไปเคยสบกัน ค้ำยันเอาไว้ พอถูกถอนไปทำให้ไม่มีฟันสบค้ำยัน ในกรณีที่ทิ้งช่องว่างไว้หลายๆปี อาจทำให้คู่สบเคลื่อนออกมาจนรากฟันโผล่และต้องถอนฟันไปในที่สุด
5. กระดูกบริเวณที่ฟันถูกถอนไปมีการละลายมากขึ้น เนื่องจากโดยธรรมชาติเมื่อกระดูกไม่มีฟันอยู่ ทำให้กระดูกบริเวณนั้นไม่ได้ใช้งาน ก็จะเกิดการละลายไปเรื่อยๆทำให้กระดูกแคบและเตี้ยลง
6. ในกรณีที่สูญเสียฟันหน้าบนและล่างหลายซี่เป็นระยะเวลานาน ทำให้กระดูกขากรรไกรละลาย มีการยุบตัว ส่งผลให้ใบหน้ามีการเปลี่ยนแปลง คือใบหน้าดูสั้นขึ้นและคางยุบเข้าไป ทำให้ใบหน้าดูสูงอายุมากกว่าปกติ
7. เพิ่มโอกาสเป็นโรคปริทันต์หรือเหงือกอักเสบเพราะเมื่อฟันถูกถอนไปทำให้การดูแลทำความ สะอาดยากขึ้นส่งผลให้เหงือกอักเสบและเกิดฟันผุได้
8. สูญเสียความมั่นใจ ไม่กล้ายิ้ม กลัวว่าคนอื่นจะมองเห็นช่องว่างฟันที่ถูกถอนไป
ข้อดีของการทำรากฟันเทียม
1.เป็นการใส่ฟันติดแน่นถาวร ที่ช่วยทดแทนฟันที่สูญเสียไป
2.ทำให้มีฟันในการบดเคี้ยวอาหาร ทำให้การย่อยอาหารดีขึ้น
3.มีความสะดวกสบายเพราะรากเทียมเป็นฟันติดแน่นถาวร ทำให้ไม่รู้สึกรำคาญ หรือกดเจ็บจากฟันปลอมถอดได้
4.ช่วยส่งเสริมบุคลิกภาพที่ดีและมีความมั่นใจในรอยยิ้ม เพราะรากเทียมดูคล้ายกับฟันธรรมชาติ
5.ช่วยทดแทนการทำสะพานฟัน โดยปกติการทำสะพานฟันต้องมีการกรอแต่งฟันธรรมชาติที่อยู่ข้างหน้า และข้างหลังของช่องว่างฟัน แต่การทำรากเทียม ไม่ต้องไปรบกวนฟันที่อยู่ข้างเคียงของช่องว่างฟัน ทำให้ไม่ต้องกรอฟันธรรมชาติโดยไม่มีความจำเป็น
ขั้นตอนในการทำรากเทียม
แบ่งเป็น 3 ขั้นตอนใหญ่ คือ
1.การตรวจประเมินสภาพในช่องปากเพื่อวางแผนการรักษา
ผู้ป่วยมาพบทันตแพทย์เพื่อตรวจประเมินช่องปากก่อนว่าตำแหน่งที่ฟันถูกถอนไปมีความพร้อมและเหมาะสมที่จะฝังรากเทียมหรือไม่ มีการถ่ายภาพรังสีทั้งแบบธรรมดา และแบบ3มิติ (3D Cone Beam CT) เพื่อดูความกว้างและความสูงของกระดูกบริเวณที่จะฝังว่าเพียงพอหรือไม่ จากนั้นทันตแพทย์จะวิเคราะห์และวางแผนการรักษาที่เหมาะสม
2.การผ่าตัดฝังรากเทียม
หลังจากวางแผนการรักษาเรียบร้อยแล้วทันตแพทย์จะทำการผ่าตัดฝังรากเทียมเข้าไปในกระดูกขา กรรไกรโดยใช้ยาชาฉีดก่อนทำการผ่าตัด จากนั้นนัดตัดไหมและดูแผล 7-14 วันหลังการผ่าตัด และทิ้งช่วงรอเวลาให้รากเทียมยึดติดกับกระดูกขากรรไกรประมาณ 3-6 เดือน
3.การต่อส่วนแกนและครอบฟัน
เมื่อรากเทียมยึดติดกับกระดูกขากรรไกรเรียบร้อยแล้ว ทันตแพทย์จะทำการพิมพ์ปาก และเลือกแกนหลัก(Abutment)ที่เหมาะสมกับตำแหน่งฟันซี่นั้น โดยแกนหลักจะเป็นตัวเชื่อมระหว่างรากเทียมกับครอบฟันด้านบน และทำครอบฟันเพื่อมาสวมใส่ทับบนแกนหลักอีกที โดยจะนัดมาลองครอบฟันหลังจากพิมพ์ปากไปแล้ว 1-2สัปดาห์
คำแนะนำการดูแลรักษารากฟันเทียม
การดูแลรักษารากเทียมเหมือนกับการดูแลฟันธรรมชาติ ถึงแม้ว่ารากเทียมไม่สามารถผุได้ เนื่องจากเป็นโลหะทั้งซี่ แต่รากเทียมสามารถเป็นโรคปริทันต์หรือว่าโรคเหงือกอักเสบเหมือนกับฟันธรรมชาติได้ ซึ่งถ้าเป็นโรคเหงือกอักเสบจะทำให้กระดูกรอบๆรากเทียมมีการละลาย และในที่สุดกระดูกรอบรากเทียมไม่เพียงพอที่จะรองรับ จะทำให้รากเทียมโยกและหลุดออกมาได้ ดังนั้นการแปรงฟัน ใช้ไหมขัดฟัน การทำความสะอาดอย่างถูกต้องรวมถึงการตรวจสุขภาพช่องปากสม่ำเสมอมีความสำคัญทั้งรากเทียมและฟันธรรมชาติ ซึ่งข้อปฏิบัติการดูแลมีดังนี้
• ควรแปรงฟันหลังรับประทานอาหารและก่อนเข้านอน อย่างน้อยวันละ2ครั้ง
• ควรใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ1-2ครั้ง หรือใช้แปรงซอกฟันในการทำความสะอาดซอกฟัน
• ควรพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันและรากเทียมตามที่ทันตแพทย์นัด หรืออย่างน้อยทุก6เดือน
ด้วยความปรารถนาดี
ทพญ.กัญธนัช ฉัตรวรัทธนา
ศูนย์ทันตกรรม รพ.วิภาวดี