แต่ที่แย่ไปกว่านั้นคือ ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายอื่นๆ แทรกตามมา เช่น ฝีในปอด (lung abscess) มีหนองในช่องหุ้มปอด, ปอดแฟบ (atelectasis) หลอดลมพอง, เยื่อหุ้มสมองอักเสบ, เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (pericarditis) เยื่อบุช่องท้องอักเสบ, ข้ออักเสบเฉียบพลัน, โลหิตเป็นพิษ ที่สำคัญคือภาวะขาดออกซิเจนและภาวะขาดน้ำ ซึ่งถ้าพบในเด็กเล็กและคนแก่ อาจจะทำให้เสียชีวิตอย่างรวดเร็ว
สาเหตุของโรคนี้
- ส่วนใหญ่เกิดมาจากการติดเชื้อ เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส (ไข้หวัดใหญ่ หัด และอีสุกอีใส) เชื้อรา และสารเคมี ฯลฯ โดยเชื้อโรคจะแพร่กระจายโดยการไอ จาม หรือหายในรดกัน
- การสำลักเอาสารเคมีหรือเศษอาหารเข้าไปในปอด
- การแพร่กระจายของเชื้อไปตามกระแสเลือด เช่น การฉีดยา ให้น้ำเกลือ การอักเสบในอวัยวะส่วนอื่น เป็นต้น
อาการของผู้ป่วยที่มักจะเกิดขึ้นในทันทีคือ
- มีไข้ขึ้นสูงประมาณ 39-40 องศาเซลเซียส และอาจมีอาการจับไข้ตลอดเวลา หนาวสั่น (โดยเฉพาะในระยะที่เริ่มเป็น)
- หายในเร็วแต่ถี่ๆ (หอบ)
- หน้าแดง ริมฝีปากแดง ลิ้นเป็นฝ้า
- ในระยะแรกอาจมีอาการไอแห้งๆ ไม่มีเสมหะ แต่ต่อมาเสมหะจะมีสีขุ่นข้นออกเป็นสีเหลือง สีเขียว หรือมีเลือดปน
- ส่วนอาการที่พบในเด็กโตและผู้ใหญ่นั้นอาจมีอาการเจ็บแปล๊บในหน้าอกเวลาหายใจเข้า หรือเวลาไอแรงๆ บางครั้งอาจมีอาการปวดร้าวไปที่หัวไหล่ สีข้าง หรือท้องด้วย
- ในเด็กเล็กอาจมีอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องเดิน อาเจียน กระสับกระส่าย หรือชัก ถ้าเป็นมากๆ อาจมีอาการตัวเขียว ริมฝีปากเขียว ลิ้นเขียว และเล็บจะเริ่มกลายเป็นสีเขียว
วิธีหลีกเลี่ยงอาการปอดบวมอักเสบ
ถึงแม้ว่าโรคนี้จะเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่เมื่อใดที่ร่างกายอ่อนแอก็สามารถกลับมาป่วยด้วยโรคนี้ได้ดังเดิม ดังนั้นการป้องกันและรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอย่างถูกวิธี จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราทุกคนไม่ควรละเลย และสิ่งที่จุช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ หรือการแพร่กระจายโรคปอดบวมคือ
- การรักษาสุขภาพให้แข็งแรง
- หมั่นดูแลความสะอาด และหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด
- รับประทานอาหารตามหลักโภชนาการ และอาหารเสริมสุขภาพในปริมาณที่พอเหมาะ
- อย่าฉีดยาด้วยเข็มแชละกระบอกฉีดยาที่ไม่ได้ผ่านกรรมวิธีการฆ่าเชื้อ
- อย่าอมน้ำมันก๊าดเล่น ควรเก็บน้ำมันก๊าดให้พ้นมือเด็ก
- ป้องกันมิให้เป็นโรคปอดเรื้อรัง (หลอดลมอักเสบถุงลมพอง) ด้วยการไม่สูบบุหรี่
- ในกรณีที่ผู้ที่เสี่ยงต่อโรคเป็นเด็กที่อายุต่ำกว่า 4 ปี ควรดูแลอย่างใกล้ชิด และคอยระวังไม่ให้เด็กสำลัก ควรแยกของเล่นชิ้นเล็กๆ ออกห่างจากมือเด็ก เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กนำเข้าปาก
- เมื่อเป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หัด อีสุกอีใส ฯลฯ ควรดูแลรักษาเสียแต่เนิ่นๆ หากมีอาการไม่ดีขึ้นให้รีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเร็วที่สุด
การรักษา
- สำหรับผู้ป่วยที่เริ่มเป็น ยังไม่มีอาการหอบ ให้ดื่มน้ำมากๆ ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเวลามีไข้สูง ให้ยาลดไข้และให้ยาปฏิชีวนะ ถ้าอาการดีขึ้นใน 3 วัน ควรให้ยาปฏิชีวนะต่อไปอีก 1 สัปดาห์ แต่ถ้าไม่ดีขึ้นหรือกลับมีอาการหอบควรแนะนำไปโรงพยาบาล
- ถ้ามีอาการหอบ หรือสงสัยว่ามีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ รีบให้ยาปฏิชีวนะ แล้วส่งโรงพยาบาลโดยด่วน หากรักษาไม่ทัน อาจเสียชีวิตได้ ถ้าทีภาวะขาดน้ำ ควรให้น้ำเกลือระหว่างเดินทางไปด้วย การรักษามักจะต้องทำการตรวจโดยเอกซเรย์ปอด ตรวจเสมหะหาเชื้อที่เป็นสาเหตุ หรือเจาะเลือดไปเพาะเชื้อและให้การรักษาโดยให้ออกซิเจน น้ำเกลือ และยาปฏิชีวนะ ซึ่งอาจให้เพนิซิลินฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือเส้นเลือดในขนาดสูงๆ หรือยาปฏิชีวนะตัวอื่นๆ ตามแต่ชนิดของเชื้อที่พบ
นอกจากโรคปอดบวมที่มักพบในฤดูฝนแล้ว โรคไข้เลือดออกก็เป็นอะไรที่เราต้องระมัดระวัง เพราะหน้าฝนมักมีน้ำท่วมขัง มีโอกาสที่จะถูกยุงลายกัดได้ง่าย และถ้าประกอบกับร่างกายไม่แข็งแรง ภูมิต้านทานต่ำด้วยแล้วก็จะยิ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน แต่ไม่ว่าจะด้วยโรคอะไรก็ตาม หากเราห่างไกลเข้าไว้ และรู้จักดูแลสุขภาพด้วยการรับประทานสิ่งดีๆ พักผ่อนมากๆ และคิดในสิ่งดีๆ ก็จะทำให้ทั้งกายและใจเราเป็นสุข ห่างไกลจากโรคทั้งปวง
ขอบคุณบทความจาก จาก รพ.วิภาวดี