โลกาภิวัตน์ (globalization) ทำให้โลกของเราเชื่อมโยงกันมากขึ้น เราได้มอบตั๋วเครื่องบินให้กับไวรัสโดยไม่เจตนาเพื่อให้พวกมันได้แพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว
ยกตัวอย่างเช่น “อีโบลา” และ “มาร์บวร์ก” ซึ่งเป็นไวรัสร้ายแรง 2 ชนิดที่ปรกติจะอยู่ประจำถิ่น แต่กลับสามารถกระโดดขึ้นเครื่องบินและนั่งรถไปยังภูมิภาคใหม่ (ร่วมกับผู้ติดเชื้อที่ยังไม่แสดงอาการ) ได้ภายใน 2 ถึง 21 วัน (ระยะฟักตัวก่อนเริ่มแสดงอาการ) โดยผู้คนโดยรอบไม่อาจสังเกตเห็น
ในบางกรณีพวกมันจะก่อให้เกิดโรคระบาดที่อุบัติขึ้นอย่างรวดเร็ว (outbreak) แพร่ติดต่อในระดับพื้นที่ (endemic) แต่ก็มีศักยภาพที่จะสร้างความหายนะในระดับโลก (Pandemic)
อย่างกรณีการระบาดของ “ไข้หวัดใหญ่สเปน” (เข้ามาสู่ประเทศไทยทางภาคใต้ในเดือนตุลาคมปี พ.ศ. 2461 หรือเมื่อ 105 ปี ที่ผ่านมาในสมัยรัชกาลที่ 6) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 มีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสดังกล่าวไปกว่า 50 ล้านคนทั่วโลก มากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 1 (16 ล้านคน) ในส่วนของประชากรไทยในสมัยนั้นมีจำนวน 8,478,566 มีคนป่วย 2,317,662 คนและเสียชีวิต 80,223 คิดเป็นผู้ป่วยทั้งประเทศ 27% มีผู้เสียชีวิตเกือบ 1%
แต่ไม่ใช่แค่การเดินทางเท่านั้นที่เป็นต้นเหตุของปัญหา วิธีที่เราทารุณกับสภาพแวดล้อมของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดไม้ทำลายป่าและการขยายตัวของเมืองลุกล้ำพื้นที่ป่า ได้สร้างโอกาสใหม่สำหรับโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เช่น ไวรัสอีโบลา ไวรัสมาร์บวร์ก และไวรัสลาสซา ที่พร้อมจะแพร่ระบาดจากสัตว์สู่มนุษย์ โดยหากเราละเลยปล่อยให้เกิดการระบาดของไวรัสดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างคนสู่คนแล้วจะมีผู้คนต้องล้มตายจำนวนมาก การควบคุมจะทำได้ลำบากยากยิ่ง
และอย่าลืมผลกระทบของสภาพความเป็นอยู่ของประชากรในสังคมเมือง (urbanization) ที่แออัดในหมู่บ้านและคอนโดในเขตเมือง ซึ่งอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของไวรัส (reservoir) เช่น โนโรไวรัส ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและง่ายดายในค่ายผู้ลี้ภัยและชุมชนแออัด แม้ว่าเชื้อเหล่านี้อาจไม่ร้ายแรงเท่าอีโบลาหรือมาร์บวร์ก แต่ก็ยังสามารถก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อประชากรกลุ่มเปราะบาง
ยิ่งไปกว่านั้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังมีบทบาทในการแพร่ระบาดของโรคไวรัสอีกด้วย อุณหภูมิที่สูงขึ้นกำลังสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับโรคที่มีพาหะนำโรค เช่น นกป่าที่ติดเชื้อไข้หวัดนก ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคระบาดไปทั่วโลกด้วยการบินอพยพหนีหนาวหรือหนีแห้งแล้งไปยังทวีปต่างๆ อย่างเช่นไข้หวัดนก สายพันธุ์ H5N1 และ H7N9 ในอดีต ซึ่งก่อให้เกิดความตื่นตระหนกอย่างกว้างขวาง หรือยุ่งที่นำพาเชื้อไวรัสไข้เลือดเด็งกี หรือแม้กระทั่ง "อะมีบาทำลายสมอง" สามารถเดินทางเข้าไปแพร่ติดต่อกับผู้คนในเขตประเทศหนาวเพิ่มขึ้นทุกปีเนื่องจากอุณหภูมิของโลกที่เพิ่มขึ้น (global warming)
ที่น่ากังวลสุด การอุบัติขึ้นของไวรัสดื้อต่อยาต้านไวรัสซึ่งถือเป็นระเบิดเวลา ที่อาจนำไปสู่ความ “หายนะครั้งใหญ่” ได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต อย่างเช่นในกรณีของไวรัสเอชไอวีที่ดื้อต่อยาต้านไวรัสหลายชนิด (เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นแล้ว) หรือโคโรนา 2019 ที่อาจเกิดการกลายพันธุ์ดื้อต่อยาต้านไวรัสแพกซ์โลวิด (Paxlovid) เป็นต้น (เหตุการณ์นี้ยังไม่เกิดขึ้น) แม้ว่าเราอาจมีมาตรการควบคุมอยู่บ้าง แต่ระดับการกลายพันธุ์ของไวรัสเกิดขึ้นอย่างหลากหลาย ดูได้จาก ไวรัสเอชไอวี ไวรัสโคโรนา 2019 และไวรัสฝีดาษลิง ทำให้ยากที่จะคาดเดาว่าอะไรจะเกิดขึ้น
แล้วเราจะทำอย่างไร? ศักยภาพการอุบัติขึ้นแบบฉับพลัน (outbreak) การแพร่ระบาดในท้องถิ่น (endemic) หรือการระบาดใหญ่ไปทั่วโลก (Pandemic) ของโรคติดเชื้ออาจแตกต่างกันไปตามปัจจัยต่างๆ ตั้งแต่ตัวไวรัสเองไปจนถึงประสิทธิภาพของมาตรการควบคุม แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจน: การป้องกันเป็นกุญแจสำคัญ ตั้งแต่การล้างมือด้วยสบู่ของประชนชาวแอฟริกันเพื่อป้องกันไวรัสไข้เลือกรุนแรง อีโบลา มาร์บวร์ก และ สาสซา ไปจนถึงโปรแกรมการฉีดวัคซีนทั่วโลกต่อต้านโควิด-19 เราจำเป็นต้องใช้หลายกลยุทธ์เพื่อป้องกันไม่ให้สงครามไวรัสซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งในหลายประเทศขณะนี้ได้ขยายวงออกไปจนควบคุมไม่ได้
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ ซึ่งเป็นศุนย์ขนาดเล็กใน ร.พ. รามาธิบดี ได้ใช้เทคโนโลยีระดับสูงเป็นอาวุธสำคัญเข้าสนับสนุนภาคี ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรจิตอาสา ในการต่อสู้กับไวรัสตลอดช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา โดยมีการพัฒนาไปอย่างมากในการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัส บรรดาจุลชีพและมนุษย์ผู้ติดเชื้อด้วยการใช้เครื่อง NGS หลาย “แพลตฟอร์ม” ที่สามารถถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมได้อย่างรวดเร็ว ใช้ AI เข้าช่วยคนในการวิเคราะห์และแปลผล เพื่อให้ทราบว่าเป็นไวรัสประเภทใด กลายพันธุ์ไปหรือไม่ ดื้อต่อยาต้านไวรัสประเภทใด เป็นต้น ไม่ว่าจะเป็น ไวรัสโคโรนา 2019, ไวรัสอีโบลา, ไวรัสมาร์บวร์ก, ไวรัสลาสซา, ไวรัสไข้หวัดนก, โรโนไวรัส หรืออะมีบาทำลายสมอง (Naegleria fowleri) เพราะจะช่วยให้ทราบว่าศัตรูที่เรากำลังเผชิญอยู่คืออะไรกันแน่ มีความรุนแรงร้ายกาจระดับไหน เพื่อเป็นข้อมูลให้กับหลายภาคส่วนนำไปใช้ในการตรวจกรอง ควบคุม ป้องกันและรักษาชีวิตผู้ติดเชื้อได้ทันต่อเหตุการณ์
“รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งก็จะไม่เพลี่ยงพล้ำพ่ายแพ้ทั้งร้อยครั้ง” จากตำราพิชัยสงครามของซุนวู