ความหมายของเลขสารบบอาหารในเครื่องหมาย อย.
เลข สารบบอาหาร คือ เลขประจำตัวผลิตภัณฑ์อาหาร จะเป็นตัวเลข 13 หลักแสดงอยู่ภายในกรอบเครื่องหมาย อย. ถูก นำมาใช้แทนตัวอักษรและตัวเลขซึ่งอยู่ในกรอบเครื่องหมาย อย. แบบเดิม ซึ่งเลขสารบบอาหารนี้จะระบุข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับสถานที่ และข้อมูลผลิตภัณฑ์อาหารครบถ้วนมากกว่าในอดีต ช่วยให้เจ้าหน้าที่ติดตามตรวจสอบง่ายขึ้น โดยส่วนใหญ่เลขสารบบอาหารจะปรากฏอยู่บนฉลากของอาหารควบคุมเฉพาะ / อาหารกลุ่มที่กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน และ อาหารกลุ่มที่ต้องมีฉลาก แต่ ก็จะมีอาหารบางชนิดที่อยู่ในกลุ่มดังกล่าว อาทิ เกลือบริโภค ฯลฯ และอาหารกลุ่มที่มีระดับความเสี่ยงต่ำมาก ได้แก่ อาหารอื่นที่อยู่นอกเหนือจากกลุ่มข้างต้นเช่น น้ำตาลทราย เครื่องเทศฯลฯ ที่ฉลากไม่ต้องแสดงเลขสารบบอาหาร เพียงแค่ผู้ผลิตปฏิบัติส่วนอื่นให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น สำหรับรายละเอียดของเลขสารบบอาหาร 13 หลักนี้ จะแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้
โดย
กลุ่มที่ 1
ประกอบด้วยเลข สองหลัก หมายถึง จังหวัดที่ตั้งของสถานที่ผลิตอาหารหรือนำเข้าอาหาร โดยใช้ตัวเลขแทนอักษรย่อของจังหวัด เช่น 12 หมายถึง จังหวัดนนทบุรี (ตัวเลขที่ใช้แทนชื่อจังหวัดตามเอกสารแนบท้าย)
กลุ่มที่ 2
ประกอบด้วยเลข หนึ่งหลัก หมายถึง สถานะของสถานที่ผลิตอาหารหรือนำเข้าอาหาร และหน่วยงานที่เป็นผู้อนุญาต ดังนี้
- หมายเลข 1 หมายถึง สถานที่ผลิตอาหารที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เป็นผู้อนุญาต
- หมายเลข 3 หมายถึง สถานที่นำเข้าอาหารที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เป็นผู้อนุญาต
- หมายเลข 2 หมายถึง สถานที่ผลิตอาหารที่ จังหวัดเป็นผู้อนุญาต
- หมายเลข 4 หมายถึง สถานที่นำเข้าอาหารที่ จังหวัดเป็นผู้อนุญาต
กลุ่มที่ 3
ประกอบด้วยเลข ห้าหลัก หมายถึง เลขสถานที่ผลิตอาหารหรือเลขสถานที่นำเข้าอาหาร ที่ได้รับอนุญาต และปี พ.ศ.ที่อนุญาต โดยตัวเลขสามหลักแรก คือ เลขสถานที่ผลิตหรือนำเข้าอาหารแล้วแต่กรณี ส่วนตัวเลขสองหลักสุดท้าย คือ ตัวเลขสองหลักสุดท้ายของปี พ.ศ. ที่ได้รับอนุญาต เช่น 00244 แทน เลขสถานที่ผลิตหรือนำเข้าอาหาร ซึ่งได้รับอนุญาตเลขที่ 2 และอนุญาตในปี พ.ศ. 2544
กลุ่มที่ 4
ประกอบด้วยเลข หนึ่งหลัก หมายถึง หน่วยงานที่ออกเลขสารบบอาหาร ดังนี้
1 หมายถึง อาหารที่ได้รับเลขสารบบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
2 หมายถึง อาหารที่ได้รับเลขสารบบจากจังหวัด
กลุ่มที่ 5
ประกอบด้วยเลข สี่หลัก หมายถึง ลำดับที่ของอาหารที่ผลิต หรือนำเข้า ของสถานที่แต่ละแห่ง แยกตามหน่วยงานที่เป็นผู้อนุญาต เช่น 0002 แทนลำดับที่ 2 หรือ 0099 แทนลำดับที่ 99 เป็นต้น
นอกจากนี้การแสดงเลขสารบบ อาหารในเครื่องหมาย อย. ยังกำหนดให้ใช้ตัวเลขที่มีสีตัดกับสีพื้นของกรอบ มีขนาดไม่เล็กกว่า 2 มิลลิเมตร และสีของกรอบตัดกับสีพื้นของฉลาก ทั้งนี้ผู้บริโภคบางท่านอาจพบผลิตภัณฑ์อาหารบางยี่ห้อแสดงเครื่องหมาย อย. แบบเดิมที่มีตัวอักษรและตัวเลขปรากฎอยู่ แทนที่จะเป็นเลขสารบบอาหารอยู่ในเครื่องหมาย อย. เนื่องจากอาหารบางประเภท มีอายุการเก็บรักษานานฉลากเก่าจึงยังคงเหลืออยู่ ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจึงผ่อนผันให้อาหารที่วางจำหน่ายอยู่ก่อนวัน ที่ 24 กรกฎาคม 2546 สามารถใช้ฉลากเดิมจำหน่ายต่อไปได้ตามอายุการบริโภคของอาหารนั้น หรือในระยะเวลาที่อาหารนั้น ๆ ยังมีคุณภาพและมาตรฐานปลอดภัยต่อการบริโภค แต่อาหารที่ผลิตหรือนำเข้าหลังจากวันที่ 24 กรกฎาคม 2546 ฉลากจะต้องแสดงเลขสารบบอาหารเท่านั้น
จากข้อมูลที่กล่าว ข้างต้น จะเห็นว่ากฎหมายให้ความสำคัญต่อการให้ผู้ผลิตแสดง ข้อมูลซึ่งผู้บริโภคควรต้องทราบระบุบนฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่ปลอดภัย คุ้มค่า และสมประโยชน์ที่สุด ดังนั้นผู้บริโภคทุกคนจึงควรให้ความใส่ใจต่อการอ่านและใช้ประโยชน์จากข้อมูล ที่ระบุบนฉลาก สำหรับผู้บริโภคที่เคยพิจารณา เลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารโดยพิจารณาเฉพาะเครื่องหมาย อย. ก็ควรหันมาใส่ใจอ่านข้อมูลอื่นบนฉลากประกอบการตัดสินใจซื้อด้วย เพราะจะทำให้มั่นใจในผลิตภัณฑ์อาหารนั้นมากขึ้น สำหรับผู้บริโภคที่พบเห็นผลิตภัณฑ์อาหารแสดงฉลากไม่ถูกต้อง สามารถแจ้งข้อมูลมาได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 2590 7354-5 หรือ สายด่วนผู้บริโภคกับ อย.หมายเลขโทรศัพท์ 1556