18 กันยายน 2566 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในการประชุมขับเคลื่อนการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน และมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเข้าร่วมประชุม ที่สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีมีดำริชัดเจนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยยึดหลัก “เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย” ชักชวน จูงใจให้เข้ารับการบำบัดรักษา และให้การช่วยเหลือเพื่อให้กลับเข้าสู่สังคมได้ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นบทบาทและภารกิจสำคัญที่กระทรวงสาธารณสุขขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีสถาบันบำบัดและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ ซึ่งเป็นสถาบันเชี่ยวชาญเฉพาะทาง และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ 6 แห่งในภูมิภาคร่วมดูแล รวมถึงมีโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขและกรมสุขภาพจิตเปิดวอร์ดให้การดูแลด้านจิตเวชและยาเสพติดโดยเฉพาะ
ดูแลผู้ป่วยยาเสพติดเป็น 3 กลุ่ม
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ได้รายงานที่ประชุมถึงระบบบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดของกระทรวงสาธารณสุข ว่า ปัจจุบันสถานการณ์ผู้ป่วยยาเสพติดในประเทศไทยมีประมาณ 1.9 ล้านคน มีการตั้งศูนย์คัดกรองทั่วประเทศ 9,852 แห่ง ทำหน้าที่คัดกรองและแบ่งการดูแลผู้ป่วยยาเสพติดเป็น 3 กลุ่ม คือ
1.ผู้ป่วยกลุ่มสีแดง อาการรุนแรง หรือผู้ติดยาเสพติด มีประมาณ 2% หรือ 38,000 คน มีสถานพยาบาลกรมสุขภาพจิตและกรมการแพทย์ 27 แห่ง ดูแลแบบผู้ป่วยในระยะยาว 3-6 เดือน มีศักยภาพรองรับประมาณ 3,500 ราย เมื่ออาการดีขึ้นจะจัดเป็นกลุ่มสีส้ม มีสถานฟื้นฟูฯ ของกองทัพและกรมการปกครอง 61 แห่ง และได้เปิด
มินิธัญญารักษ์ ในโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้การดูแลอีก 42 แห่ง มีศักยภาพรองรับประมาณ 20,000 คน
2.ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง หรือผู้เสพ มีประมาณ 24% หรือ 4.56 แสนคน มีโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปดูแลแบบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในระยะสั้น 120 แห่ง และระดับปฐมภูมิคือโรงพยาบาลชุมชนดูแลเฉพาะผู้ป่วยนอก 935 แห่ง ทั้งหมดมีศักยภาพรองรับ 120,000 ราย และ
3.ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว หรือผู้ใช้ยาเสพติด มีประมาณ 74% หรือ 1.4 ล้านคน จะบำบัดยาโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน มีประมาณ 10,000 แห่ง และเมื่อทุกกลุ่มอาการดีขึ้น จะมีศูนย์ฟื้นฟูสถานภาพทางสังคม กระทรวงมหาดไทย 3,258 แห่ง ดูแลเพื่อคืนคนดีสู่สังคม
นโยบาย Quick Win ในระยะ 100 วัน
“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศนโยบายยกระดับ 30 บาทพลัส โดยมี 12 ประเด็น ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเรื่องจิตเวช/ยาเสพติด มี Quick Win ในระยะ 100 วัน ด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดโดยจะจัดทำทะเบียน คัดกรอง บำบัดรักษา และฟื้นฟูกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) ทั่วประเทศ เร่งรัดจัดตั้ง 4 สหายและมินิธัญญารักษ์ให้ครอบคลุมทั่วประเทศแบบไร้รอยต่อ ซึ่งจะเสนอกำหนดตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษในโรงพยาบาลที่เปิดมินิธัญญารักษ์ 42 แห่ง และกำหนดกรอบอัตรากำลังนักจิตวิทยาคลินิกเพื่อรองรับการดำเนินงาน รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานบำบัดยาเสพติดโดยใช้ชุมชนเป็นฐานให้ครอบคลุมทุกตำบล/ชุมชนทั่วประเทศ ร้อยละ 50 ส่วนในระยะ 6 เดือน จะใช้เทเลเมดิซีนและปรับระบบบำบัดให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมาย พัฒนา System Manager และ Care Manager ในการดูแลผู้ป่วยยาเสพติด และพัฒนาความร่วมมือระหว่างกองทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการดูแลผู้ป่วย Long Term Care และผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว” นพ.โอภาสกล่าว
รู้จักโครงการ มินิธัญญารักษ์ LINK
“มินิธัญญารักษ์” เกิดขึ้นจากแนวทางใหม่ของกฏหมายที่กำหนดให้การบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติด ต้องเป็นไปในระบบสมัครใจ (ไม่บังคับ) สธ.โดยกรมสุขภาพจิตและโรงพยาบาลธัญญารักษ์ จึงได้ริเริ่มรูปแบบ "มินิธัญญารักษ์" บนแนวคิดในการมุ่งขยายพื้นที่การให้บริการ เพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยยาเสพติดในแต่ละเขตสุขภาพทั้ง 12 เขต และจะช่วยลดความแออัดสำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพระยะยาวในโรงพยาบาลเฉพาะทางซึ่งมีจำนวนเตียงไม่เพียงพอสำหรับจำนวนผู้ป่วยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นได้เป็นอย่างดี ...
อ่านต่อ