อาการของโรค ฮีทสโตรก
โรคฮีทสโตรก เป็นโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไปจนทำให้ความร้อนในร่างกาย (core temperature) สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส อาการที่เบื้องต้น ได้แก่ เมื่อยล้า อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน วิตกกังวล สับสน ปวดศรีษะ ความดันต่ำ หน้ามืด ไวต่อสิ่งเร้าง่าย และยังอาจมีผลต่อระบบไหลเวียน ซึ่งอาจมีอาการเพิ่มเติมอีก ได้แก่ ภาวะขาดเหงื่อ เพ้อ ชัก ไม่รู้สึกตัว ไตล้มเหลว มีการตายของเซลล์ตับ หายใจเร็ว มีการบวมบริเวณปอดจากการคั่งของของเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ การสลายกล้ามเนื้อลาย ช็อค และเกิดการสะสมของ fibrin จนไปอุดตันหลอดเลือดขนาดเล็กทำให้อวัยวะต่างๆ ล้มเหลว ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิตได้
สาเหตุการเกิดโรคออกเป็น 2 ประเภท คือ
- Classical Heat Stroke เกิดจากความร้อนในสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่มีมากเกินไปส่วนใหญ่เกิดในช่วงที่มีอากาศร้อน พบบ่อยในผู้ที่มีอายุมากและมีโรคเรื้อรัง มักเกี่ยวกับความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง อาการที่สำคัญ คือ อุณหภุมิร่างกายสูง ไม่มีเหงื่อ มักเกิดในช่วงมีคลื่นความร้อนสูง ( Heat Wave) และอยู่ในบ้านที่ปิดมิดไม่มีที่ระบายอากาศ
- Exertional Heat Stroke เกิดจากการออกกำลังที่หักโหมเกินไป มักจะเกิดในหน้าร้อนโดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงานและนักกรีฑา อาการคล้ายกับ Classical แต่ต่างตรงที่กลุ่มผู้ป่วยประเภทนี้จะมีเหงื่อออกมากต่อมาเหงื่อจะหยุดออก นอกจากนี้ยังพบการเกิดการสลายเซลล์กล้ามเนื้อลาย โดยจะมีอาการแทรกซ้อน ได้แก่ ระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง ระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูง ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ และพบไมโอโกลบินในปัสสาวะด้วย เกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน หมดสติ ชัด อาจมีเลือดออกทุกทวาร
บุคคลที่มีความเสี่ยงว่าจะเกิดโรคฮีทสโตรก ได้แก่ ทหารที่เข้ารับการฝึกโดยปราศจากการเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมในการเผชิญสภาพอากาศร้อน รวมถึงบรรดานักกีฬาสมัครเล่นและผู้ที่ทำงานในสภาพอากาศที่ร้อนชื้น รวมทั้งผู้สูงอายุ เด็ก คนอดนอน คนดื่มเหล้าจัด และผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงด้วย
สัญญาณสำคัญของโรคฮีทสโตรก
4 อาการเสี่ยง สัญญาณสำคัญของโรคฮีทสโตรก
- เหงื่อไม่ออก
- สับสน มึนงง
- ผิวหนังเป็นสีแดงและแห้ง
- ตัวร้อนจัด
หากพบเจอผู้เป็นโรคลมแดดสามารถช่วยเหลือเบื้องต้นได้โดย
- นำผู้มีอาการเข้าร่ม นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง ถอดเสื้อผ้าออก
- ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกตัว คอ รักแร้ ข้อพับ ขาหนีบ ศีรษะ ร่วมกับการใช้พัดลมเป่า พ่นละอองน้ำ ระบายความร้อน
- เทน้ำเย็นราดลงบนตัวเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลงโดยเร็วที่สุด แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล
วิธีการป้องกันโรคลมแดด คือ
- หากรู้ว่าจะต้องไปทำงานท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อน ก็ควรเตรียมตัวโดยการออกกำลังกายกลางแจ้งอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้งๆ อย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้ร่างกายชินกับสภาพอากาศร้อน เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ( Heat Acclimatization)
- ดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ก่อนออกจากบ้านในวันที่มีอากาศร้อนจัด และหากต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนหรือออกกำลังกลางสภาพอากาศร้อน ควรดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม และแม้ว่าจะทำงานในที่ร่มก็ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว
- สวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน ไม่หนา น้ำหนักเบา และสามารถระบายความร้อนได้ดี
- ก่อนออกจากบ้านควรใช้ครีมกันแดดที่มีค่าเอสพีเอฟ 15 ขึ้นไป
- หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดในวันที่อากาศร้อนจัด หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในอากาศร้อนจัด ควรดื่มน้ำให้เพียงพอระหว่างออกกำลังกาย
- หลีกเลี่ยงการกินยาแก้แพ้ แก้น้ำมูก โดยเฉพาะก่อนการออกกำลังกายหรือการอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนเป็นเวลานาน
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และยาเสพย์ติดทุกชนิด
- ในเด็กเล็กและคนชราควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ต้องจัดให้อยู่ในห้องที่อากาศระบายได้ดี และอย่าปล่อยให้เด็กหรือคนชราอยู่ในรถที่ปิดสนิทตามลำพัง
ด้วยความปรารถนาดี จาก โรงพยาบาลวิภาวดี
ข้อมูลอ่านเพิ่มเติมเรื่องโรคลมร้อน ฮีทสโตรค
ลักษณะอาการ โรคลมแดด (Heat Stroke)
การดูแลผู้ป่วยติดเตียงในช่วงฤดูร้อน
การดูแล ผู้สูงอายุติดเตียงในช่วงฤดูร้อน
- จัดห้องให้สะอาด อากาศถ่ายเทสะดวก สามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้สะดวก กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
- เปิดเครื่องปรับอากาศในช่วงที่สภาพอากาศร้อนจัดในตอนกลางวัน หากไม่มี ให้เปิดหน้าต่าง เปิดพัดลมเพื่อช่วยระบายอากาศ ไม่ควรเปิดพัดลมจ่อใส่ผู้สูงอายุเพราะจะทำให้เป็นไข้หวัดได้ง่าย
- ระวังเรื่องแผลกดทับ พลิกตัวทุกๆ 2 ชั่วโมงและเปลี่ยนท่านอนสลับกันไป เพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับและความอับชื้น
- ใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาดๆ เช็ดตัวผู้สูงอายุเพื่อระบายความร้อน
- ดูแลให้ผู้สูงอายุดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพอ โดยไม่ต้องรอให้กระหายน้ำ
- เตรียมยารักษาโรคประจำตัว ให้พร้อม หากมีเหตุฉุกเฉิน ให้รับติดต่อสถานพยาบาลใกล้ที่สุด หรือ โทร. 1669
รพ.ราชวิถี แนะนำวิธีรับมือกับอากาศร้อน โรคลมแดด และ ฮีทสโตรก
กลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวังฮีทสโตรกเมื่ออยู่กลางแดดจัด
กลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวังฮีทสโตรกเมื่ออยู่กลางแดดจัด
- ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง
- เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุ
- ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ
- ผู้ที่มีภาวะอ้วน
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว
- ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก
วิธีการช่วยเหลือผู้ที่เกิดอาการลมแดด
- นำผู้มีอาการเข้าร่ม นอนราบยกเท้าสูงทั้งสองข้าง ถอดเสื้อผ้าชั้นนอกออก
- เทน้ำเย็นราดบนตัวเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ต่ำลงโดยเร็วที่สุด
- ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ ไม่ควรใช้ผ้าเปียกคลุมตัว
- รีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือ
- โทรศัพท์ขอความช่วยเหลือ สายด่วน 1669
รพ.ม.เทคโนโลยีสุรนารี แนะนำวิธีป้องกัน โรคลมแดด
โรคลมแดด หรือ Heat Stroke เป็นโรคที่เรามักพบเจอกันบ่อยในช่วงหน้าร้อน ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดจากอุณหภูมิในร่างกายสูงเกิน 40.5 องศาเซลเซียส เกิดจากการที่อยู่ในสถานที่ที่อุณหภูมิร้อนมากๆ และร่างกายไม่สามารถปรับตัวลดอุณหภูมิให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ ส่งผลเสียต่อ ระบบประสาท หัวใจ และไต
วิธีป้องกัน : ใส่เสื้อผ้าสีอ่อน หลีกเลี่ยงเสื้อผ้าหนา , ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว ,หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้ง , อาบน้ำเย็นเพื่อลดอุณหภูมิร่างกาย