ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ทำหมันชายไปแล้ว แก้หมันได้หรือไม่

ทำหมันชายไปแล้ว แก้หมันได้หรือไม่ Thumb HealthServ.net
ทำหมันชายไปแล้ว แก้หมันได้หรือไม่ ThumbMobile HealthServ.net

การทำหมันชายเป็นวิธีการคุมกำเนิดวิธีหนึ่งที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย เพราะมีประสิทธิภาพดี มีผลข้างเคียงน้อย การผ่าตัดส่วนใหญ่สามารถทำได้โดยใช้ยาชาเฉพาะที่ และสามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล

 
       ในปัจจุบันพบว่าผู้ชายที่เคยได้รับการทำหมันไปแล้ว  ส่วนหนึ่งเปลี่ยนใจต้องการที่จะมีบุตร  จากการศึกษาในต่างประเทศพบว่าประมาณร้อยละ 20 ของผู้ชายที่ทำหมันไปแล้วมีความต้องการที่จะมีบุตรอีก  หลายคนจึงมีความสงสัยว่าในผู้ชายที่ได้รับการผ่าตัดทำหมันไปแล้ว  จะสามารถผ่าตัดแก้หมัน หรือต่อหมันได้หรือไม่ มีความเสี่ยงหรือโอกาสสำเร็จมากน้อยเพียงใด 
 
 

       ในทางการแพทย์สามารถทำการผ่าตัดแก้หมันหรือต่อหมันได้ครับ 

 
 
       โดยทั่วไปเวลาทำหมันชาย  แพทย์จะตัดและผูกท่อนำอสุจิทั้งสองด้าน  หลักการในการผ่าตัดแก้หมัน คือ ผ่าตัดเข้าไปเพื่อหาตำแหน่งของท่ออสุจิที่ถูกตัดและถูกผูกไว้เดิม  และทำการตัดปลายท่ออสุจิที่ถูกผูกไว้ทั้งสองด้านออกเพื่อให้ได้ตำแหน่งท่ออสุจิที่ยังแข็งแรงและไม่บอบช้ำจากการถูกผูก  และนำปลายท่ออสุจิที่ดีมาเย็บต่อกันใหม่ แผลผ่าตัดมักอยู่บริเวณถุงอัณฑะทั้งสองข้าง  เนื่องจากท่ออสุจิเป็นอวัยวะที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก  และในการผ่าตัดจำเป็นต้องมีการเย็บที่ซับซ้อน ดังนั้นการผ่าตัดแก้หมันจึงทำได้ยากกว่าเมื่อเทียบกับการทำหมัน โดยจะมีแผลผ่าตัดยาวกว่า รวมถึงใช้เวลาในการผ่าตัดนานกว่า  จำเป็นต้องมีการให้ยาชาทางไขสันหลังหรือดมยาสลบ และผลการต่อหมันอาจจะไม่สำเร็จเสมอไป เพื่อที่จะทำให้ผลการผ่าตัดแก้หมันมีโอกาสสำเร็จสูงขึ้น แพทย์มักจะทำการเย็บต่อท่ออสุจิโดยใช้กล้องขยายกำลังสูงดังในภาพประกอบ (microscopic surgery) ช่วยในการผ่าตัดเพื่อให้สามารถใช้ไหมขนาดเล็ก และเห็นท่ออสุจิที่ชัดเจนขึ้น โดยกำลังขยายของกล้องสามารถขยายได้สูงถึง 10-25 เท่า  ผลสำเร็จของการต่อหมันขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ระยะเวลาที่ทำหมัน  ยิ่งทำหมันมานานเป็นระยะเวลาหลายปีก่อนผ่าตัดแก้หมัน  โอกาสที่จะต่อหมันติดก็จะลดลง เป็นต้น

 
      สำหรับการดูแลตนเองหลังผ่าตัด ทางการแพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยใส่กางเกงในเพื่อรองรับบริเวณอัณฑะทั้งกลางวันกลางคืน  และให้งดการหลั่งอสุจิหรืองดมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงหลีกเลี่ยงการยกของหนักเพื่อรอเวลาให้ท่ออสุจิเชื่อมต่อกันดีก่อน โดยทั่วไปแพทย์จะนัดตรวจอสุจิภายหลังการผ่าตัดหลังจากหนึ่งเดือนไปแล้วเพื่อตรวจยืนยันผลการผ่าตัดต่อหมันว่าติดดีหรือไม่  

 
      สำหรับผู้ชายที่ต้องการมีบุตรแต่ไม่ต้องการได้รับการผ่าตัดต่อหมัน สามารถใช้การเจาะอัณฑะเพื่อเก็บอสุจิไปใช้ได้  แต่จะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้เองตามธรรมชาติได้  และมักต้องใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธ์อื่นช่วย โดยทั่วไปถ้ามีความมุ่งมั่นที่จะมีบุตรอย่างแน่วแน่แล้ว แพทย์มักแนะนำให้ทำการผ่าตัดแก้หมันก่อน เพราะถ้าแก้หมันสำเร็จก็จะมีโอกาสมีบุตรตามธรรมชาติได้ หรือหากมีความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธ์หรือการรักษาอื่นๆร่วมด้วย ก็จะสามารถทำให้การเก็บอสุจิทำได้ง่ายขึ้น ไม่จำเป็นต้องถูกเจาะโดยตรงจากอัณฑะ คือไม่เจ็บตัวนั่นเอง 

 
      ดังนั้นผู้ที่ต้องการมีบุตรหลังจากทำหมันชายไปแล้ว แนะนำให้ลองปรึกษาศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะเพื่อข้อมูลเกี่ยวกับการแก้หมันเพิ่มเติมได้ครับ
 

รศ.นพ. เปรมสันติ์ สังฆ์คุ้ม
สาขาศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ
ภาควิชาศัลยศาสตร์ 
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล 

เพจ โรคต่อมลูกหมากและสุขภาพเพศชาย รพ. รามาธิบดี

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด