ประเมินกันว่าขนาดของตลาดอุตสาหกรรมการแพทย์สุขภาพอันเกี่ยวโยงกับการใช้ AI ปัญญาประดิษฐ์ โดยเฉพาะ ด้าน Machine Learning (ML - กลไกการเรียนรู้ของโปรแกรมด้วยตัวเองมันเอง) จะขยายขึ้นมาแตะระดับ 20 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2023 ด้วยการนำเอา AI มาประยุกต์ใช้ในรูปแบบที่หลากหลายและกว้างขวางมากขึ้น โดยเฉพาะที่เด่นชัดมากใน 3 สาขา ดังนี้
Computer Vision - ศาสตร์ที่ใช้ในการทำให้คอมพิวเตอร์เข้าใจภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหว (วิดีโอ) ในลักษณะเดียวกับการมองเห็นของมนุษย์ เพื่อประมวลผล วิเคราะห์ สิ่งที่คอมพิวเตอร์เห็น ให้ออกมาเป็นข้อมูลและนำไปใช้ต่อได้ ในเชิงการคิดวิเคราะห์ ประเมิน พยากรณ์ หรือตัดสินใจก็ตาม ซึ่งแน่นอนว่าศาสตร์ computer vision นี้มีประโยชน์อย่างยิ่งยวดต่อด้านการแพทย์ การมองเห็นร่างกายมนุษย์ ชิ้นส่วนอวัยวะและการทำงาน วิเคราะห์โรค หาสาเหตุเพื่อไปสู่วิธีการรักษาได้ รวมถึงความสามารถในการสร้างแบบจำลองสำหรับการศึกษาเรียนรู้ของแพทย์ต่อการรักษาโรค ได้เป็นต้น
Natural Language Processing - การประมวลภาษาธรรมชาติ หรือ NLP เป็นศาสตร์ที่ศึกษาการปฏิสัมพันธ์ระหว่างภาษาคอมพิวเตอร์และภาษา (ธรรมชาติ) มนุษย์ ในเชิงที่โปรแกรมคอมพิวเตอร์สามารถดำเนินการวิเคราะห์และแปลงข้อมูลภาษาธรรมชาติได้
Pattern Recognition Algorithms - การรู้จำแบบ เป็นศาสตร์ที่มีจุดประสงค์ในเพื่อการจำแนก วัตถุ (objects) ออกเป็นประเภท (classes) ตาม รูปแบบ (pattern) ของวัตถุ โดยในการคำนวณจะมีการใช้เทคนิคจากสาขาอื่น ๆ มากมาย เช่น การประมวลผลสัญญาณ ปัญญาประดิษฐ์ และสถิติ คำว่า "รูปแบบ" (pattern) ในที่นี้หมายถึง รูปร่าง หรือ คุณลักษณะ ของวัตถุ ที่เราสนใจ โดยวัตถุนั้นอาจเป็น รูปธรรม หรือ นามธรรม ก็ได้ หรือจะเป็นรูปแบบ ที่กระจายบนพื้นที่ หรือ เปลี่ยนแปลงตามเวลา ก็ได้
จริงๆ แล้วระบบ AI ทั้ง 3 สาขาที่กล่าวถึง ได้ถูกนำมาใช้สักระยะหนึ่งแล้ว สำหรับปัจจุบันคือการจับตาดูต่อว่าการจะประยุกต์ใช้จะก้าวไปสู่อีกระดับได้อย่างไร หรือตอบโจทย์กับอุตสาหกรรมที่โฟกัสลงไปในประเด็นเฉพาะได้อย่างไร
ตัวอย่างที่น่าสนใจ อาทิเช่น การนำ AI มาใช้อุตสาหกรรมยา เพื่อการค้นคว้าทดลองหายาชนิดใหม่ๆ โดย AI จะช่วยในการประมวลผลและคาดการณ์ผลลัพธ์จากการทดลองทางคลินิก วิเคราะห์ผลข้างเคียงหรืออื่นๆ ได้ อย่างหลากหลายและครอบคลุม ในเวลาที่น้อยลงได้
หรือ การใช้ระบบคอมพิวเตอร์วิชั่นวิเคราะห์ภาพเอ็กซเรย์ หรือภาพสแกน เพื่อวินิจฉัยโรค หรือตรวจจับสัญญาณ เพื่อหาโรคร้ายอย่างพาร์คินสัน หรืออัลไซเมอร์ เป็นต้น
ไม่เพียงแต่การแพทย์ระดับสูงที่ซับซ้อน แต่ AI ยังนำมาประยุกต์ใช้ในระดับทั่วไป อย่างเช่น การประเมินความเสี่ยงในการทำประกัน ประวัติการรักษาพยาบาล การวิเคราะห์สุขภาพ หรือตัวอย่างที่เราคงคุ้นกัน คือ อุปกรณ์สวมข้อมือที่ข้างในจะมีระบบตรวจจับข้อมูลร่างกายในทุกด้านเอาไว้ เพื่อให้เรารู้ข้อมูลตัวเอง และสามารถจัดเก็บนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ต่อไปได้นั่นเอง