ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

จับเทรนด์สุขภาพโลก ปี 2023

จับเทรนด์สุขภาพโลก ปี 2023 Thumb HealthServ.net
จับเทรนด์สุขภาพโลก ปี 2023 ThumbMobile HealthServ.net

ปี 2022 เป็นปีที่โลกก้าวผ่านห้วงเวลาอันยากลำบากจากยุคโควิดสู่โลกยุคหลังโควิด แม้ความจริงที่ว่าโควิดจะไม่หายใจจากโลกนี้โดยสิ้นเชิง โลกและประชากรโลกจะเดินหน้าต่อไปในยุคของการอยู่ร่วมกับโควิด ก้าวสู่ปี 2023 เทรนด์สุขภาพโลกที่น่าจับตาจะเป็นไปในทิศทางใด

ปี 2022 เป็นปีที่โลกก้าวผ่านห้วงเวลาอันยากลำบากจากยุคโควิดกลับเข้าสู่โลกปกติ แม้ความจริงที่ว่าโควิดจะไม่หายใจจากโลกนี้โดยสิ้นเชิง โลกและประชากรโลกจะต้องเดินหน้าต่อไป แต่หลังจากคลื่นคุกคามของการระบาดโควิดผ่อนคลายลง New Normal และปรากฏการณ์ของเทรนด์การดูแลรักษาสุขภาพใหม่ๆ ในหลายด้านๆ ที่ก่อตัว และเริ่มพัฒนาทั้งเทคโนโลยีและต่อยอดออกมาเป็นบริการอย่างต่อเนื่องมาจากยุคโควิดนั่นเอง ที่ชัดเจนคือการแพทย์ทางไกล Telemedicine ที่มีบทบาทไม่น้อยในปัจจุบันและจะยิ่งทวีความสำคัญขึ้นอีกในอนาคต การมาถึงยุค AI ที่นำเอาปัญญาประดิษฐ์ออกมาให้บริการกว้างขวางและใช้งานได้ง่ายขึ้น ไม่นับที่ AI มีบทบาทอยู่เบื้องหลังแอป เครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงการกระจายการบริการการแพทย์ออกไปในมิติอื่นๆ ที่จะเข้าถึงผู้คนและให้บริการได้ดียิ่งขึ้น เหล่านี้เป็นตัวอย่างเทรนด์ของปี 2023 ที่มาถึงแล้ว


ฟอร์บส์ย้อนภาพคร่าวๆ ว่าในรอบทศวรรษที่ผ่านมา การแพทย์สุขภาพเปลี่ยนโฉมไปมากมาย ความหายนะจากโควิดต่อระบบเศรษฐกิจ ชุมชน และพลเมืองทั่วโลก เป็นตัวเร่งให้มีการนำเอาเทคโนโลยีแทบทุกแขนงที่เป็นไปได้ออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อรับมือกับปัญหาเหล่านั้น ผลคือการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฝ่ามือในแทบทุกระดับทุกแขนงที่เกี่ยวพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นระดับนโยบาย ระดับองค์กร จนถึงระดับบุคลากรในสายการแพทย์ วิชาชีพ และที่สุดคือระดับประชาชนพลเมืองผู้ต้องใช้และรับบริการการแพทย์เหล่านั้น
 
 
ฟอร์บส์ เผยเทรนด์สุขภาพที่ต้องจับตาในค.ศ. 2023 นี้

AI ปัญญาประดิษฐ์ในการแพทย์สุขภาพ

ประเมินกันว่าขนาดของตลาดอุตสาหกรรมการแพทย์สุขภาพอันเกี่ยวโยงกับการใช้ AI ปัญญาประดิษฐ์ โดยเฉพาะ ด้าน Machine Learning (ML - กลไกการเรียนรู้ของโปรแกรมด้วยตัวเองมันเอง) จะขยายขึ้นมาแตะระดับ 20 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2023  ด้วยการนำเอา AI มาประยุกต์ใช้ในรูปแบบที่หลากหลายและกว้างขวางมากขึ้น โดยเฉพาะที่เด่นชัดมากใน 3 สาขา ดังนี้
 
Computer Vision - ศาสตร์ที่ใช้ในการทำให้คอมพิวเตอร์เข้าใจภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหว (วิดีโอ) ในลักษณะเดียวกับการมองเห็นของมนุษย์ เพื่อประมวลผล วิเคราะห์ สิ่งที่คอมพิวเตอร์เห็น ให้ออกมาเป็นข้อมูลและนำไปใช้ต่อได้ ในเชิงการคิดวิเคราะห์ ประเมิน พยากรณ์ หรือตัดสินใจก็ตาม ซึ่งแน่นอนว่าศาสตร์ computer vision นี้มีประโยชน์อย่างยิ่งยวดต่อด้านการแพทย์ การมองเห็นร่างกายมนุษย์ ชิ้นส่วนอวัยวะและการทำงาน วิเคราะห์โรค หาสาเหตุเพื่อไปสู่วิธีการรักษาได้ รวมถึงความสามารถในการสร้างแบบจำลองสำหรับการศึกษาเรียนรู้ของแพทย์ต่อการรักษาโรค ได้เป็นต้น 
 
Natural Language Processing - การประมวลภาษาธรรมชาติ หรือ NLP เป็นศาสตร์ที่ศึกษาการปฏิสัมพันธ์ระหว่างภาษาคอมพิวเตอร์และภาษา (ธรรมชาติ) มนุษย์ ในเชิงที่โปรแกรมคอมพิวเตอร์สามารถดำเนินการวิเคราะห์และแปลงข้อมูลภาษาธรรมชาติได้ 
 
 
Pattern Recognition Algorithms - การรู้จำแบบ เป็นศาสตร์ที่มีจุดประสงค์ในเพื่อการจำแนก วัตถุ (objects) ออกเป็นประเภท (classes) ตาม รูปแบบ (pattern) ของวัตถุ โดยในการคำนวณจะมีการใช้เทคนิคจากสาขาอื่น ๆ มากมาย เช่น การประมวลผลสัญญาณ ปัญญาประดิษฐ์ และสถิติ  คำว่า "รูปแบบ" (pattern) ในที่นี้หมายถึง รูปร่าง หรือ คุณลักษณะ ของวัตถุ ที่เราสนใจ โดยวัตถุนั้นอาจเป็น รูปธรรม หรือ นามธรรม ก็ได้ หรือจะเป็นรูปแบบ ที่กระจายบนพื้นที่ หรือ เปลี่ยนแปลงตามเวลา ก็ได้


 
จริงๆ แล้วระบบ AI ทั้ง 3 สาขาที่กล่าวถึง ได้ถูกนำมาใช้สักระยะหนึ่งแล้ว สำหรับปัจจุบันคือการจับตาดูต่อว่าการจะประยุกต์ใช้จะก้าวไปสู่อีกระดับได้อย่างไร หรือตอบโจทย์กับอุตสาหกรรมที่โฟกัสลงไปในประเด็นเฉพาะได้อย่างไร
 
ตัวอย่างที่น่าสนใจ อาทิเช่น การนำ AI มาใช้อุตสาหกรรมยา เพื่อการค้นคว้าทดลองหายาชนิดใหม่ๆ โดย AI จะช่วยในการประมวลผลและคาดการณ์ผลลัพธ์จากการทดลองทางคลินิก วิเคราะห์ผลข้างเคียงหรืออื่นๆ ได้ อย่างหลากหลายและครอบคลุม ในเวลาที่น้อยลงได้
 
หรือ การใช้ระบบคอมพิวเตอร์วิชั่นวิเคราะห์ภาพเอ็กซเรย์ หรือภาพสแกน เพื่อวินิจฉัยโรค หรือตรวจจับสัญญาณ เพื่อหาโรคร้ายอย่างพาร์คินสัน หรืออัลไซเมอร์ เป็นต้น 
 
ไม่เพียงแต่การแพทย์ระดับสูงที่ซับซ้อน แต่ AI ยังนำมาประยุกต์ใช้ในระดับทั่วไป อย่างเช่น การประเมินความเสี่ยงในการทำประกัน ประวัติการรักษาพยาบาล การวิเคราะห์สุขภาพ  หรือตัวอย่างที่เราคงคุ้นกัน คือ อุปกรณ์สวมข้อมือที่ข้างในจะมีระบบตรวจจับข้อมูลร่างกายในทุกด้านเอาไว้ เพื่อให้เรารู้ข้อมูลตัวเอง และสามารถจัดเก็บนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ต่อไปได้นั่นเอง

บริการสุขภาพทางไกล Remote Healthcare

บริการสุขภาพทางไกล Remote Healthcare - Virtual Hospitals, Healthcare Communities, and Telehealth
 
บริการสุขภาพทางไกล เป็นการใช้เทคโนโลยีที่เติบโตขึ้นอย่างชัดเจนและก้าวกระโดดอย่างมากในยุคโรคระบาดโควิด  จนกลายมาเป็นมาตรฐานใหม่ในยุคหลังโควิดไปแล้ว เพราะพิสูจน์แล้วถึงประสิทธิภาพและความสะดวกที่เกิดกับทุกฝ่ายอย่างแท้จริงในการให้และรับบริการ บริการสุขภาพทางไกล ช่วยลดอุปสรรคด้านระยะทาง พื้นที่ เวลา และแน่นอนว่าเป็นวิธีที่ช่วยประหยัดที่ให้ผลคุ้มค่าอย่างที่สุด
 
บริการสุขภาพทางไกล จำแนกออกได้ในหลายแขนง ตามระดับของผู้เกี่ยวข้อง ผู้ให้และผู้รับบริการ หากมองจากระดับประชาชนทั่วไปที่เป็นผู้ป่วยนอก บริการสุขภาพทางไกลช่วยให้ผู้ป่วยติดต่อแพทย์ พยาบาล เพื่อรับการบริการดูแลอย่างใกล้ชิดได้ทันทีและต่อเนื่อง ซึ่งในสหรัฐมีผลการศึกษาสนับสนุนในเชิงบวกอีกด้วย ว่าการบริการดูแลทางไกลส่งผลดีต่อการรักษา การฟื้นตัวของคนไข้ ทำได้ดีกว่าการเป็นผู้ป่วยในเสียด้วยซ้ำ และที่สำคัญคือความประหยัดที่เกิดขึ้นเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายอย่างมาก
 
สำหรับการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) นั้น กินความในระดับที่กว้างขึ้นไปอีก ครอบคลุมตั้งแต่การพูดคุยปรึกษาและรับการวินิจฉัยโรคจากแพทย์โดยตรงผ่านระบบออนไลน์หรือแอป รวมทั้งการบันทึกประวัติ การสั่งจ่ายยาและการทำนัดต่างๆ
 
การแชร์ข้อมูลประวัติการรักษาของบุคคลระหว่างแพทย์ หรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง ภายใต้การยินยอมของผู้ป่วย  แม้จะยังไม่ชัดเจนจนเป็นมาตรฐาน แต่เป็นแนวทางที่จะมาถึงในอนาคตอย่างแน่นอน 
 
ในระดับที่สูงขึ้นไปในระดับผู้เชี่ยวชาญชำนาญเฉพาะ การแพทย์ทางไกล หมายถึง การผ่าตัดทางไกลโดยควบคุมผ่านระบบหุ่นยนต์กลไกเฉพาะด้าน เพื่อให้แพทย์ที่อาจจะต่างพื้นที่ สามารถทำงานร่วมกันได้ในเคสใดๆ ที่อยู่ห่างออกไปในอีกซีกโลกหรือในห้องผ่าตัดที่กำหนดได้ เป็นต้น ตัวอย่างเหล่านี้ ปัจจุบันสามารถเห็นได้จากข่าวสารในโรงพยาบาลชั้นนำทั่วโลก เป็นความก้าวหน้าที่น่าทึ่งอย่างแท้จริง
 
 
ควาามเป็นไปได้ในอนาคตที่จะเกิดขึ้นจากบริการแพทย์ทางไกลที่น่าจับตา คือ "Virtual Hospital ward" หรือ "หอผู้ป่วยเสมือน" - เป็นวิธีการให้การสนับสนุนด้านการแพทย์สาธารณสุขแก่ผู้ที่ประสงค์หรือจำเป็นต้องได้รับบริการการแพทย์ที่ซับซ้อนในชุมชนที่อยู่ห่างไกลออกไป เป็นแนวคิดที่พัฒนาขึ้นในประเทศอังกฤษ เป็นการรวมเอาแพทย์ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับโรคหรืออาการเพื่อการรักษาผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล หรือที่อื่นที่ไม่ใช่สถานพยาบาลที่แพทย์เหล่านั้นประจำอยู่  ซึ่งรูปแบบนี้ ไม่จำกัดเฉพาะกับการให้การรักษาเท่านั้น แต่ยังสามารถขยายขอบเขตไปในการแพทย์เชิงการป้องกันหรือรักษาเยียวยาเบื้องต้นให้กับคนไข้ได้  ผลดีที่คาดว่าจะได้รับ ก็คือการที่คนไข้จะสามารถดูแลรักษาตนเองเบื้องต้นได้ จะช่วยลดความจำเป็นที่ต้องมายังโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลจริงได้นั่นเอง 
 
 

ชุมชนสุขภาพ

การแพทย์สุขภาพทางไกล ยังก่อให้เกิดมิติด้านการดูแลสุขภาพอีกรูปแบบนึงขึ้นมา นั่นคือ การให้คำแนะนำระหว่างผู้ป่วยต่อผู้ป่วยด้วยกัน ตัวอย่างเช่น ชุมชนบนเว็บไซต์ Patients Like Me หรือ Care Opinion และ cancer.org เหล่านี้เป็นชุมชนที่รวมกันของกลุ่มผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย นักวิชาการ องค์กรหรือผู้เกี่ยวข้องในประเด็นนั้น ได้ร่วมกันแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ การดูแลตนเอง การรักษา ฯลฯ เพื่อให้ผู้ป่วยดูแลตนเองได้เอง บรรเทาความไม่สะดวกจากการต้องรอรับบริการแพทย์ ซึ่งรูปแบบการดูแลกันและกันนี้ เป็นโมเดลที่ได้รับการยอมรับอย่างมากในปัจจุบัน และคาดว่าจะเติบโตอีกไม่น้อยในอนาคต


 
ตัวอย่างแนวคิดของทั้ง 3 เว็บชุมชน
 
Patients Like Me (www.patientslikeme.com) เป็นชุมชนออนไลน์ของการดูแลสุขภาพจากโรคต่างๆ มีสมาชิกกว่า 850,000 ราย มีข้อมูลสุขภาพกว่า 2,800 เรื่อง ที่เกิดมาจากการแชร์ประสบการณ์หรือความเจ็บป่วย ระหว่างคนไข้ด้วยกันเอง ที่คอยแบ่งปันคำแนะนำ การดูแลตนเอง หรืออื่นๆ ที่จำเป็นและเหมาะสมให้แก่กันและกัน
 
Care Opinion (www.careopinion.org.uk) เวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของชาวอังกฤษจากการได้รับบริการสุขภาพจากรัฐบาล เว็บไซต์เชื้อเชิญให้แลกเปลี่ยนไม่ว่าประสบการณ์นั้นจะดีหรือไม่ดีก็ตาม เพราะสิ่งที่บอกเล่านั้นจะถูกส่งต่อไปยังผู้ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง บทบาทการเป็นเวทีกลางที่ส่งผ่านความเห็นจากคนไข้ไปสู่ผู้รับผิดชอบ บนความหวังที่จะช่วยยกระดับบริการในทุกภาคส่วน และประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยมและใช้เป็นแบบอย่างได้
 
cancer.org ก่อตั้งโดยสมาคมโรคมะเร็งสหรัฐ ให้เป็นชุมชนเพื่อการแบ่งปันประสบการณ์ผู้ป่วยมะเร็งที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง เว็บไซต์มีข้อมูลทุกมิติเกี่ยวมะเร็ง เปิดโอกาสการมีส่วนร่วมทุกรูปแบบ ทุกระดับ สมกับเจตนารมย์ที่ท้าทายยิ่งว่า เพื่อการต่อสู่กับโรคมะเร็งร้าย ให้หมดไปจากมนุษยชาติ

บริการสุขภาพในร้านค้าปลีก Retail Healthcare

ในสหรัฐ แบรนด์ค้าปลีกยักษ์ใหญ่ทุกราย ไม่ว่าจะเป็น วอลมาร์ท อะเมซอน และซีวีเอส กำลังเดินหน้านำบริการสุขภาพมาสู่ช่องทางค้าปลีกของตน ด้วยบริการพื้นฐาน เช่น ฉีดวัคซีน ตรวจเลือด หรือตรวจสุขภาพเบื้องต้น ซึ่งแต่เดิมบริการเหล่านี้ ต้องทำในโรงพยาบาลและโดยแพทย์เท่านั้น  ความเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ใช่แค่ในสหรัฐ แต่จะเป็นเทรนด์ที่จะพบได้ทั่วโลกในอนาคตอันใกล้นี้ (ในไทยก็เช่นกัน หลังจากที่สปสช. ร่วมกับสภาเภสัชฯ สามารถให้เภสัชกร วินิจฉัยและจ่ายยากับผู้ป่วยโรคพื้นฐาน 16 อาการ ณ ร้านขายยาได้) 
 
จะกล่าวได้ว่า รูปแบบบริการสุขภาพในค้าปลีกนี้ เป็นอีกหนึ่งวิวัฒนาการที่เป็นผลจากภาวะโรคระบาดก็ได้เช่นกัน ด้วยความจำเป็นที่ประชาชนต้องการเข้าถึงการบริการสุขภาพที่รวดเร็วกว่าเดิม ประหยัดกว่าเดิม เมื่อเทียบกับการบริการทางการแพทย์แบบดั้งเดิมที่ต้องทำเฉพาะในโรงพยาบาล โดยแพทย์ ซึ่งมีจำนวนจำกัด ต้องรอนานและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย   จากรายงานของ Forester บริษัทที่ปรึกษาด้านข้อมูลผู้บริโภคระบุว่า ผู้บริโภคในปี 2023 เลือกที่จะเข้ารับบริการสุขภาพเบื้องต้นในหน่วยค้าปลีก เป็นเพราะระบบสุขภาพแบบเดิมไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยได้มากเพียงพอ เหตุจากระบบสุขภาพเองก็มีทรัพยากรต่างๆ (แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ อุปกรณ์ เวชภัณฑ์) ไม่เพียงพอด้วย
 
ขณะที่รูปแบบการบริการสุขภาพผ่านค้าปลีก ตอบโจทย์ได้ดีกว่าในหลายด้าน ผู้ป่วยไม่ต้องเสียเวลารอทำนัด แต่เดินเข้าหาได้ทันทีที่ต้องการ ยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ ก็มีพร้อมรองรับไม่ขาดแคลน บุคลากรก็พร้อมกว่าและให้บริการได้ทันที
 
  *องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่า จะขาดแคลนเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 10 ล้านคนภายในปี 2573 (2030) ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง https://www.who.int/health-topics/health-workforce

อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สวมใส่ได้ที่จะฉลาดกว่าเดิม

อุปกรณ์สวมใส่ Wearable Medical Devices ไม่ใช่สิ่งใหม่ในพ.ศ.นี้อีกต่อไป แต่กระนั้นก็ยังเป็นเทรนด์ที่น่าจับตาต่อไป ไม่ใช่การเป็นเทรนด์เพราะความใหม่ แต่จะเป็นเทรนด์เพราะการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ จะแพร่หลายและเติบโตมากขึ้น ต่างหาก  เพราะไม่เพียงการเลือกใช้ที่เป็นการเลือกเฉพาะบุคคลและตามรสนิยมเท่านั้น แต่โอกาสการเพิ่มจะมาจากการถูกแนะนำให้ใช้โดย แพทย์ เทรนเนอร์หรืออื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับบุคคลที่จำเป็นหรือต้องอ้างอิงกับข้อมูลสุขภาพที่จะเก็บรวบรวมได้จากอุปกรณ์สวมใส่เหล่านั้นนั่นเอง ข้อมูลอาทิ อัตราการเต้นหัวใจ ระดับอ๊อกซิเจนในเลือด เหล่านี้เป็นข้อมูลสำคัญ  พร้อมๆกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและวัสดุอุปกรณ์ที่จะช่วยให้การเก็บข้อมูลสุขภาพทำได้ดียิ่งขึ้นไปกว่าเดิม ยิ่งข้อมูลมากและลึกเท่าใด ก็ยิ่งเป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัยมากขึ้นนั่นเอง การมอนิเตอร์เฝ้าระวังแบบรีลไทม์ผ่านอุปกรณ์สวมใส่ก็เป็นอีกแนวทางที่นำมาใช้ประโยชน์ 
 
อุปกรณ์สวมใส่ในอนาคตจะฉลาดขึ้นกว่าในรุ่นก่อนๆ การเพิ่มระบบประมวลผลลงไปในอุปกรณ์เพื่อให้สามารถจะวิเคราะห์ข้อมูลที่เก็บได้เลย ข้อดีชัดๆ 2 ประการ คือ การรักษาข้อมูลส่วนบุคคลไว้ในเครื่อง กับ ความเร็วประมวล แบบรีลไทม์ย่อมดีกว่า การที่ข้อมูลต้องถูกส่งออก-ประมวลผล-รับเข้า ผ่านระบบคลาวด์แบบเดิม แต่เครื่องที่ทำงานแบบรีลไทม์ได้จบในเครื่อง จะมีประโยชน์มากกว่า โดยเฉพาะกับกรณีเครื่องออกแบบมาให้มีระบบสำหรับการป้องกันและแจ้งเตือนอันตรายทันทีนั่นเอง
 
 

การแพทย์เฉพาะบุคคล Personalized Healthcare

การแพทย์เฉพาะบุคคล หรือ การแพทย์แม่นยำ (precision medicine) ก็นับเป็นแนวทางเดียวกัน คือ การมุ่งเป้าให้การรักษา การให้ยา ที่จำเพาะเจาะจงลงไปในแต่ละบุคคล โดยอาศัยผลการวินิจฉัยจากข้อมูลเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นอายุ ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ และที่สำคัญและเป็นหัวใจจริงๆ ของแพทย์แนวทางนี้ คือมุ่งเป้าเจาะลึกลงไปในระดับยีนและลำดับพันธุกรรม ที่เป็นข้อมูลเฉพาะแต่ละบุคคลอย่างแท้จริง  ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์นี้ จะบอกได้ว่า ผู้ป่วยจะได้รับยาชนิดใด มีความเสี่ยงหรือผลข้างเคียงหรือไม่อย่างใด เป็นต้น 
 
ไม่เพียงการมองลงในมิติเชิงลึกเท่านั้น แต่การแพทย์เฉพาะบุคคล ยังหมายถึงการจัดสรรวิธีการรักษาให้เหมาะสมกับจริตของบุคคลด้วยเช่นกัน ความต้องการ รสนิยม ความเชื่อของแต่ละบุคคลมีความสำคัญและมีส่วนที่จะนำมาเป็นปัจจัยในการพิจารณา จัดสรรวิธีและกลไกการรักษาที่เหมาะสมได้เช่นกัน 
  

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด