ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ต่อมไทรอยด์ โรคและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง

ต่อมไทรอยด์ โรคและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง Thumb HealthServ.net
ต่อมไทรอยด์ โรคและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง ThumbMobile HealthServ.net

ต่อมไทรอยด์ โรคและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง

ต่อมไทรอยด์ โรคและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง HealthServ
ต่อมไทรอยด์
เป็นต่อมไร้ท่อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย โดยจะอยู่ที่ส่วนหน้าของลำคอ ใต้ลูกกระเดือกลงมา มีรูปร่างเหมือนเกือกม้า ทำหน้าที่สร้างและหลั่งไทรอยด์ฮอร์โมน ออกมาสู่กระแสเลือด โดยอาศัย ไอโอดีน จากอาหารที่กินเข้าไป    โดยไทรอยด์ฮอร์โมนจะช่วยทำให้เซลล์ต่างๆในร่างกายทำงานเป็นปกติ  ซึ่งอวัยวะที่ถูกกระตุ้นมากที่สุด คือหัวใจและประสาท
 
โรคของต่อมไทรอยด์
โรคของต่อมไทรอยด์มีหลายชนิด เพราะเป็นต่อมไร้ท่อที่เกิดโรคต่างๆบ่อยที่สุด เมื่อเทียบกับ ต่อมไร้ท่ออื่นๆ และมักพบในสตรีเป็นส่วนใหญ่  ได้แก่  โรคต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน  โรคขาดไทรอยด์ฮอร์โมน โรคคอพอก  โรคปุ่มเนื้อต่อมไทรอยด์  และโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์   ซึ่งโรคของต่อมไทรอยด์ที่พบบ่อยคือ โรคต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน  หรือที่เรียกว่า “ ภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ” 
 
 

ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ

        เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดสูงกว่าปกติเนื่องจากต่อมไทรอยด์ทำงานมากขึ้น ซึ่งเกิดจากร่างกายสร้างสารแอนตี้บอดี้ (antibody) ไปกระตุ้นต่อมไทรอยด์ ให้สร้างฮอร์โมนมากขึ้น หรืออาจเกิดจากต่อมไทรอยด์อักเสบ ทำให้มีการปล่อยฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากกว่าปกติ 

        ไทรอยด์เป็นพิษ ไม่เกี่ยวข้องกับอาหารทะเล แต่มีปัจจัยบางอย่างที่เกี่ยวข้อง เช่น
  • เพศหญิง โรคนี้เกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 4-8 เท่า
  • กรรมพันธุ์ บางครอบครัวเป็นกันทั้งมารดา และลูกสาว
  • ความเครียดทางจิตใจ พบว่าทำให้เกิดอาการคอพอกเป็นพิษได้

        ผลกระทบต่อร่างกายจากภาวะไทรอยด์เป็นพิษ จะเกิดอาการหลายรูปแบบ
  • ใจสั่น มือสั่น ชีพจรเต้นเร็ว  
  • หงุดหงิดง่าย 
  • ตาโปน
  • ผมร่วง 
  • ขี้ร้อน เหงื่อออกมาก 
  • หิวบ่อย กินเยอะแต่น้ำหนักไม่ขึ้น 
  • ถ่ายอุจจาระบ่อยขึ้น  
  • ในบางรายอาจสังเกตเห็นต่อมไทรอยด์ที่อยู่บริเวณลำคอด้านหน้ามีขนาดโตขึ้น 
  • อาจมีอาการขาสองข้างอ่อนแรงจนไม่สามารถทรงตัวได้  อาจพบได้ไม่บ่อย แต่เป็นอาการแรกๆ ที่เกิดขึ้น
  • ในบางรายอาจพบอาการตับโต  ตัวเหลืองและตาเหลือง 
  • ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจส่งผลกระทบถึงขั้นภาวะหัวใจล้มเหลวได้
 
การรักษา

        โดยทั่วไป การรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษ ขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเกิดโรค  ซึ่งแพทย์จะทำการรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น  แต่วิธีการรักษาหลัก ๆ สามารถทำได้ 3 วิธีคือ

1.ยาเม็ดรับประทาน  เพื่อควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์ และทำให้อาการต่าง ๆ ดีขึ้น แต่ผู้ป่วยต้องรับประทานยาเป็นปีและต่อเนื่อง ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่นิยมมากที่สุด เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เพิ่งเริ่มมีอาการ หรือมีอาการไม่มากนัก

2.การผ่าตัดเพื่อเอาต่อมไทรอยด์บางส่วนออก  วิธีนี้ไม่ค่อยเป็นที่นิยม  ยกเว้นกรณีที่ต่อมไทรอยด์มีขนาดโตมาก ๆจนเบียดหลอดลม หรืออวัยวะข้างเคียง

3.การกินแร่สารกัมมันตรังสีไอโอดีน  เพื่อทำลายให้ต่อมหายเป็นพิษ โดยวิธีนี้จะเหมาะกับผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาแล้วไม่ได้ผล  หรือผู้ป่วยที่มีอายุมาก  แต่ห้ามใช้ในหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ เพราะอาจเกิดความเสี่ยงได้
 
        อย่างไรก็ตาม โรคไทรอยด์ หรือโรคไทรอยด์เป็นพิษ ไม่ใช่โรคที่น่ากลัว หรือน่ากังวลใจ  เพราะเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้  หากได้รับการดูรักษาอย่างต่อเนื่อง  โดยควรหมั่นสังเกตใส่ใจสุขภาพอยู่เสมอ  และรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ มีไอโอดีนแต่พอดี  และหากพบว่ามีอาการผิดปกติหรือมีก้อนที่คอ  อย่าปล่อยทิ้งไว้  ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยทันที  เพราะการเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้การรักษาได้ผลดี และไม่ลุกลามจนกลายเป็นโรคเรื้อรังหรือโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ในที่สุด

โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์

สาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ที่แท้จริงยังไม่ทราบ แต่จากการศึกษาเชื่อว่า น่าเกิดจากหลายปัจจัยเสี่ยงร่วมกัน ที่สำคัญ คือ จากพันธุกรรมที่ผิดปรกติ ทั้งชนิดถ่ายทอดได้ และชนิดไม่ถ่ายทอด และมีปัจจัยเสี่ยงอื่นเสริม เช่น การได้รับรังสีบางชนิดจากสิ่งแวดล้อม เช่น จากโรงงานพลังปรมาณู  และ/หรือจากระเบิดปรมาณู   และอาจ เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศ เพราะพบโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์เกิดในผู้หญิง สูงกว่าในผู้ชายมาก   อย่างไรก็ตาม โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์เป็นโรคมะเร็งที่พบได้ในทุกวัย ทั้งในเด็ก วัยรุ่น ในผู้ใหญ่ และ ในผู้สูงอายุ
 
การรักษา
 
การรักษาหลัก ของโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ คือ การผ่าตัด    และหลังการผ่าตัด จะมีการตรวจก้อนมะเร็งจากการผ่าตัดเพื่อตรวจพิสูจน์ทางพยาธิวิทยา และแพทย์จะประเมินว่า สมควรต้องได้รับการรักษาต่อเนื่องด้วยการรับประทาน แร่รังสี ( แร่รังสีไอโอดีน) หรือไม่   ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของเซลล์มะเร็งว่า เป็นเซลล์ชนิดจับกินแร่รังสีไอโอดีนหรือไม่       แร่รังสีไอโอดีนอาจอยู่ในรูปแคปซูล หรือ เป็นน้ำ ซึ่งจะให้การรักษาโดยแพทย์ทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์  และ/หรือ แพทย์ทางรังสีรักษา      แต่บางครั้งเมื่อโรคลุกลามเข้าอวัยวะข้างเคียง อาจมีการฉายรังสีรักษาร่วมด้วย    และถ้าเป็นโรคมะเร็งชนิดเซลล์รุนแรง /เซลล์มะเร็งไม่จับกินแร่รังสีฯ อาจมีการรักษาร่วม หลังการผ่าตัด ด้วยรังสีรักษา และยาเคมีบำบัด
 
ความรุนแรงโรค
 
โดยทั่วไป โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ส่วนใหญ่ เป็นชนิดจับกินแร่รังสีไอโอดีน ซึ่งมีความรุนแรงโรคต่ำมาก  รักษาแล้วมีโอกาสหายสูง  อย่างไรก็ตาม  ความรุนแรงโรค นอกจากขึ้นกับชนิดของเซลล์มะเร็งแล้ว ยังขึ้นกับอายุ ถ้าอายุตั้งแต่ ๔๕ ปี ความรุนแรงโรคสูงกว่า  และถ้าเป็นเพศชายความรุนแรงโรคสูงกว่าเพศหญิง

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด