ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

การตัดมดลูก คืออะไร มีกี่แบบ โรคที่จะต้องรักษา ภาวะแทรกซ้อน (สาระน่ารู้เรื่องการมีบุตรยาก)

การตัดมดลูก คืออะไร มีกี่แบบ โรคที่จะต้องรักษา ภาวะแทรกซ้อน (สาระน่ารู้เรื่องการมีบุตรยาก) Thumb HealthServ.net
การตัดมดลูก คืออะไร มีกี่แบบ โรคที่จะต้องรักษา ภาวะแทรกซ้อน (สาระน่ารู้เรื่องการมีบุตรยาก) ThumbMobile HealthServ.net

การตัดมดลูกคืออะไร มีกี่แบบ โรคที่จะต้องรักษาด้วยการตัดมดลูก จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรหลังจากตัดมดลูก

การตัดมดลูก
 
มดลูกและรังไข่ เป็นอย่างไร
มดลูก คือ อวัยวะสืบพันธุ์ของสตรีซึ่งมีหน้าที่รับและเลี้ยงตัวอ่อน และทารกในครรภ์ โดยเยื่อบุโพรงมดลูกอยู่ด้านในสุด ทำหน้าที่เลี้ยงตัวอ่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นรอบ ๆ ถ้ารอบประจำเดือนใดไม่มีการตั้งครรภ์จะหลุดลอกออกมาทางปากมดลูกและช่องคลอด เรียกว่า เลือดประจำเดือนออกมาทางช่องคลอด
 
ผนังของมดลูก มีหน้าที่เป็นเกราะกำบังให้เด็กในครรภ์ และบีบตัวเมื่อถึงเวลาคลอดให้เด็กคลอดออกมา มดลูกตั้งอยู่ปลายช่องคลอด โดยมีเส้นเอ็นยึดไว้บริเวณปากมดลูก ไม่ให้เลื่อนหลุดออกมา
 
 
ปีกมดลูก มี 2 ข้าง ประกอบด้วย ท่อนำไข่ และ รังไข่ ท่อนำไข่ ทำหน้าที่ จับไข่ที่ตกมาจากรังไข่และเป็นทางผ่านให้เชื้ออสุจิจากช่องคลอดที่เข้ามายังมดลูก ผ่านท่อนำไข่นี้ไปผสมกับไข่ที่ปลายท่อ กลายเป็นตัวอ่อน แล้วเป็นทางให้ตัวอ่อนเดินทางมาที่มดลูกเพื่อฝังตัวเข้าไปในเยื่อบุโพรงมดลูก  รังไข่ ทำหน้าที่ 2 อย่าง คือ ทำหน้าที่สร้างไข่ออกมาและสร้างฮอร์โมนให้สตรี คือ เอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน  ปีกมดลูก ติดยึดอยู่กับมดลูกและอุ้งเชิงกรานด้วยแผ่นเนื้อเยื่อบาง ๆ ที่ขึงระหว่างมดลูกกับผนังเชิงกรานทั้ง 2 ข้าง
 
 
การตัดมดลูกคืออะไร
การตัดมดลูก คือ การผ่าตัดชนิดหนึ่งมีจุดประสงค์ในการเอามดลูกที่มีพยาธิสภาพออก บางครั้งก็มีการตัดเอาท่อนำไข่และรังไข่ออกไปด้วย
 

การผ่าตัดมดลูก  มีอยู่ 4 แบบ คือ
  1. ตัดมดลูกทั้งหมดออก (Total) หมายถึง ตัดมดลูกและปากมดลูกออกไปทั้ง 2อย่าง เหลือรังไข่อย่างน้อยหนึ่งข้าง(เป็นวิธีที่นิยมทำกันมากที่สุด)
     
  2. ตัดมดลูกออกเหลือแต่ปากมดลูกไว้ (Partial subtotal) คือ การตัดมดลูกที่อยู่เหนือปากมดลูกออก ยังคงปากมดลูกไว้ กรณีที่ไม่เป็นกลุ่มเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูก
     
  3. ตัดมดลูกและรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง
     
  4. ผ่าแบบถอนรากถอนโคน (Radieal)ผ่าแบบนี้คือ ตัดทั้งมดลูก ปากมดลูก รังไข่ ท่อนำไข่ส่วนบนของช่องคลอดและเลาะเอาต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานออกไปด้วย (วิธีนี้มักทำในรายที่เป็นมะเร็ง)
 
โดยปกติถ้ายังไม่หมดประจำเดือนก็จะไม่ตัดรังไข่ออก ถ้ารังไข่ไม่มีความผิดปกติ เพราะจะทำให้หมดฮอร์โมนของรังไข่ เข้าสู่ช่วงหมดประจำเดือนเร็วเกินไป


 
มีการตัดมดลูกบ่อยแค่ไหน
ว่ากันว่าการตัดมดลูกเป็นการผ่าตัดมากที่สุดของนรีเวชกรรม รองจากการผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้องของสูติกรรม ในอเมริกามีตัวเลขทำการผ่าตัดมดลูก 600,000 รายต่อปี
 

การตัดมดลูกทำอย่างไรและมีวิธีใดบ้าง ปัจจุบันมี 3 วิธี คือ
  1. ผ่าตัดทางหน้าท้อง คือ ทำแผลยาวตามแนวตั้งหรือแนวนอน ประมาณ 10 – 15 ซ.ม. เปิดหน้าท้อง แล้วตัดมดลูก
     
  2. ผ่าตัดทางช่องคลอด หมายถึง ผ่าเข้าไปตัดมดลูกผ่านทางปลายของช่องคลอด แล้วเอามดลูกออกทางช่องคลอด แล้วเย็บปิดปลายชองคลอด
     
  3. การผ่าตัดโดยวิธีส่องกล้อง โ ดยเจาะรูเล็ก ๆ ที่หน้าท้องแล้วใช้เครื่องมือสอดเข้าไปตัดมดลูก เอามดลูกที่ถูกตัดออกทางช่องคลอดหรือย่อยเป็นชิ้นเล็ก ๆ ออกทางหน้าท้อง วิธีนี้ทำให้เจ็บแผลน้อย โรคแทรกน้อย ฟื้นตัวเร็ว
 
โรคที่จะต้องรักษาด้วยการตัดมดลูก
  1. เนื้องอกมดลูก (Fibroid) เป็นโรคที่มีการตัดมดลูกมากกว่าโรคอื่น ๆ มักเป็นเนื้องอกมดลูกที่โตมาก หรือทำให้ปวดหรือทำให้ประจำเดือนมามาก เนื้องอกมดลูกถ้าไม่มีอาการอะไรหรือใกล้จะหมดประจำเดือนแล้ว อาจไม่จำเป็นต้องตัดมดลูก (เพราะเมื่อหมดประจำเดือนเนื้องอมดลูกจะเล็กลง)
     
  2. โรคเยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นผิดที่ (Endometriosis) คือ ภาวะที่เยื่อบุโพรงมดลูกเกิดไปเจริญอยู่นอกโพรงมดลูก ได้แก่ ในเนื้อของมดลูก หรือข้าง ๆ มดลูก ในอุ้งเชิงกราน ถ้ามีอาการปวดมาก หรือเลือดประจำเดือนมาก หรือหลังจากเมื่อรักษาทางยาไม่ได้ผล หรือ ผ่าตัดวิธีอื่นไม่ได้ผล
     
  3. มดลูกหย่อน เกิดจากมดลูกหย่อนออกมาทางช่องคลอดต่ำกว่าที่ควรจะเป็น แล้วมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ปวด ถ่ายปัสสาวะ- อุจจาระผิดปกติ หรือเกิดแผลกดทับที่ปากมดลูก
     
  4. มะเร็ง ไม่ว่าเป็นมะเร็งที่ปากมดลูก มดลูกหรือรังไข่ ถ้าอยู่ในช่วงที่ผ่าตัดได้ มักตัดมดลูกออกไปด้วย
     
  5. เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดที่แก้ไขทางยาแล้วไม่ได้ผล (ส่วนใหญ่มักเกิดจาก Adeuomyosis, Fibroid)
     
  6. อาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง โดยมีต้นเหตุมาจากพยาธิสภาพในมดลูก หรือเส้นเอ็นที่ยึดมดลูก ถ้าไม่ได้เกิดจากมดลูกหรือรังไข่ ก็อาจไม่ได้ผล
 
จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรหลังจากตัดมดลูก
เมื่อมดลูกถูกตัดออกไปแล้ว แน่นอนที่สุด จะไม่มีประจำเดือนและจะมีลูกไม่ได้ ถ้าไม่ได้ตัดรังไข่ออก ขณะที่รังไข่ยังทำงาน คุณจะยังคงความรู้สึกเป็นปกติ เช่น คัดหน้าอกใกล้เวลาที่จะมีประจำเดือน แต่ไม่มีเลือดออกทางช่องคลอด
 
ถ้าถูกตัดรังไข่ออกไปด้วย ก็จะมีภาวะเหมือนคนหมดประจำเดือน คือ อาจมีอาการร้อนวูบวาบเนื้อตัว ใจสั่น และการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ต้องใช้เวลาพักฟื้นหลังผ่าตัดนานเท่าไร
 
 
 
การฟื้นตัวหลังผ่าตัด
ใช้เวลาพอสมควร แต่แตกต่างกันไปในชนิดและวิธีการผ่าตัด
  • ถ้าผ่าตัดทำแผลหน้าท้องธรรมดา อยู่ในโรงพยาบาล 2-4 วัน ระยะพักฟื้น 4-8 สัปดาห์
  • ถ้าตัดมดลูกทางช่องคลอด หรือ โดยการส่องกล้อง อยู่ในโรงพยาบาล 1-3 วัน ใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 2 สัปดาห์
ทั้ง 2 วิธีนี้ การอาบน้ำในอ่างน้ำ หรือ ว่ายน้ำ ควรให้เวลา 6 สัปดาห์ไปแล้ว รวมทั้งการมีเพศสัมพันธ์ด้วย
  • ถ้าตัดมดลูกแบบเหลือปากมดลูกไว้ (Subtotal Hysterectomy) จะอยู่โรงพยาบาลเพียง 1-2 วัน ใช้เวลาพักฟื้นได้เร็ว 1-2 สัปดาห์ อาบนำในอ่างหรือว่ายน้ำ และมีเพศสัมพันธ์ได้หลังผ่าตัด 2 สัปดาห์ หลังผ่าตัด
 
มีภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง
การผ่าตัดมดลูกเกิดภาวะแทรกซ้อนตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงมาก ได้แก่
  • การเสียเลือดจนต้องให้เลือดทดแทน
  • การบาดเจ็บที่ลำไส้
  • การบาดเจ็บที่กระเพาะปัสสาวะและหลอดไต
  • การอักเสบติดเชื้อ แผลหน้าท้องแยก
  • ภาวะแทรกซ้อนจากการดมยาสลบ เช่น ปอดบวม, ระบบหัวใจ
 
แต่เนื่องจากเครื่องมือ และปัจจัยการผ่าตัดพัฒนาขึ้นมาก ปัจจุบันจึงพบภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวน้อยมาก
 

หลังผ่าตัดจะทำให้ความรู้สึกทางเพศเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่
สตรีเมื่อถูกตัดมดลูกโดยรังไข่ยังอยู่ 1หรือ ทั้ง 2ข้าง จะยังมีความรู้สึกทางเพศเป็นปกติ และถ้าก่อนผ่าตัดเคยมีปัญหาเกี่ยวกับการร่วมเพศ มักจะดีขึ้นหลังการผ่าตัด แต่ถ้าตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง อาจจะมีปัญหาภาวะหมดประจำเดือนได้ ควรปรึกษาแพทย์ของท่าน
 
มีทางเลือกอื่นนอกจากการตัดมดลูกหรือไม่
ถ้าสาเหตุการตัดมดลูกเกิดจากมะเร็ง ก็ไม่มีทางเลือกอื่น แต่ถ้าเป็นเนื้องอกมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นผิดที่ มดลูกหย่อน อาจมีทางเลือกอื่นที่จะทดลองก่อนได้ คือ
 
  • การให้ยา เช่น ให้ยาเพื่อระงับเลือดประจำเดือนมามาก หรือ การปรับฮอร์โมนของรังไข่ ในกรณีเลือดออกมาก หรือผิดปกติ การให้ยาบางอย่าง หรือยาคุมกำเนิด สำหรับการปวดประจำเดือนจากโรคเยื่อบุมดลูกขึ้นผิดที่ เป็นต้น
  • การทำลายเยื่อบุโพรงมดลูก ในกรณีนี้มีปัญหาเรื่องประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ หรือมามากผิดปกติ การทำลายเยื่อบุโพรงมดลูกด้วยเครื่องมือบางอย่างอาจช่วยได้
  • การใส่วัตถุเล็กๆ ผ่านสายสอดไปในเส้นเลือด เพื่ออุดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงมดลูกเพื่อให้ปัญหาเลือดออกมากลดลง
  • การตัดเฉพาะก้อนเนื้องอกออก มักจะทำในกรณีที่ต้องการมีบุตรอีก วิธีนี้เสี่ยงต่อการมีเนื้องอกมดลูกขึ้นมาใหม่บ้าง
  • การใช้ห่วงยางเล็กๆ ดันช่องคลอด(กรณีย์ มดลูกหย่อน) กันไม่ให้มดลูกลงมาต่ำ อาจใช้ได้เป็นแบบชั่วคราว หรือใช้ตลอดไปก็ได้ มักใช้กับคนอายุมากแล้ว
 
วิธีต่างๆ ที่ไม่ใช่การผ่าตัดนี้ ควรได้ปรึกษากับแพทย์ที่รักษา ในด้านข้อดีและข้อเสียของคนไข้แต่ละคนเป็นรายๆ ไป
 
คนไข้ควรจะเตรียมตัวอย่างไรเมื่อต้องตัดมดลูก
  • ควรคุยกับแพทย์ ถึงทางเลือกอื่นและข้อดีข้อเสีย โดยเฉพาะในกรณีของคุณเอง 
  • ถามถึงภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในกรณีของคุณ
  • คนไข้แต่ละคนแตกต่างกันในด้านต่าง ๆ ดังนั้นการผ่าตัดที่ดีกับคนหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องดีสำหรับอีกคนหนึ่ง
  • ลองปรึกษาแพทย์คนอื่นดู เป็นการให้ความเห็นที่ 2 ถ้ายังไม่แน่ใจ (ไม่ควรคิดว่าเป็นการเสียมารยาท/ไม่ควรตำหนิผู้ใดเนื่องจากความเห็นและประสบการณ์แตกต่างกันได้)
 
เมื่อตัดมดลูกแล้ว ควรจะทำ Pap test หรือไม่
ควรถามแพทย์ของท่านว่า สำหรับท่านควรจะทำ Pap test อีกหรือไม่ บ่อยแค่ไหน โดยทั่วไปมีคำแนะนำดังนี้
 
  • สำหรับผู้ที่ทำการตัดมดลูก แบบตัดปากมดลูกด้วยหรือเหลือปากมดลูกอยู่ก็ควรทำการตรวจ Pap smearเหมือนคนไม่ได้ตัดมดลูก (ถ้าประวัติตรวจ Pap ปกติมาตลอด โอกาสเป็นมะเร็ง 0.1 % ในเวลา 30 ปี)
  • คนที่ถูกตัดมดลูก เพราะเป็นมะเร็งปากมดลูก หรือกำลังจะเป็นมะเร็งปากมดลูก หรือ ผล Pap ผิดปกติ ควรจะตรวจ Pap ไปตลอดชีวิต เพราะถึงแม้โอกาสเป็นมะเร็งจะน้อยแต่ก็อาจเกิดขึ้นที่รอยเย็บช่องคลอด
  • ไม่ว่าคุณจะมีความจำเป็นหรือควรทำ Pap หลังผ่าตัดมดลูกแล้วหรือไม่ก็ตามก็ควรตรวจภายในเป็นระยะตามที่แพทย์แนะนำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ายังมีรังไข่เหลืออยู่

 โดย นพ.ธีรศักดิ์ ธำรงธีระกุล
และทีมแพทย์
ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากและผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช
รพ.วิภาวดี

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด