โรคของช่วง ปลายฝน ต้นหนาว
นพ.มนตรี วงศ์นิราศภัย อายุรแพทย์รพ.วิภาวดี
ช่วงนี้เป็นช่วงที่อากาศค่อนข้างเปลี่ยนแปลง อาจทำให้ร่างกายปรับสภาพไม่ทัน และทำให้เจ็บไข้ได้ป่วยได้ง่าย โรคที่มาพร้อมกับช่วงเวลานี้ ได้แก่ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม หัด หัด-เยอรมัน สุกใส และอุจจาระร่วง
สาเหตุและอาการ
ไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งสามารถติดต่อกันได้ง่าย เชื้อเข้าสู้ร่างกายทางจมูก ปากและตา เชื้ออยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วยที่ไอ จาม นอกจากนี้ เชื้อยังอาจติดอยู่กับภาชนะ ของใช้ หรือพื้นผิวที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย โรคนี้แพร่กระจายอย่างกว้างขวางในสถานที่ที่มีคนแออัด และอากาศถ่ายเทไม่สะดวก
อาการแสดงออก
คือ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ น้ำมูกไหล ไอ จาม เจ็บหรือแสบคอ อาจมีอาการหนาวสั่นด้วย และสำหรับผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดใหญ่ จะมีอาการรุนแรงกว่า คือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และมักมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย ถ้าพักผ่อนเพียงพอ และได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ผู้ป่วยจะหายจากโรคได้ในเวลา 5-7 วัน บางรายอาจเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม หลอดลมอักเสบ คออักเสบ ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น หญิงตั้งครรภ์ โรคอ้วน โรคเรื้อรัง เช่น หอบหืด ปอดเรื้อรัง โรคหัวใจ และหลอดเลือด โรคตับ โรคไต เบาหวาน ฯลฯ รวมทั้งเด็กเล็ก และผู้สูงอายุ
การป้องกัน และรักษา
- หลีกเลี่ยงการสัมผัส หรือคลุกคลีกับผู้ป่วย รวมทั้งไม่ใช้สิ่งของรวมกับผู้ป่วย เช่น จาน ช้อนส้อม แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ฯลฯ ถ้ามีผู้ป่วยในบ้าน ควรให้ปิดปากด้วยหน้ากากอนามัย เวลาไอหรือจาม
- ล้างมือบ่อยๆด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ
- ขณะที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ที่มีคนแออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก
- หมั่นดูแลรักษาสุขภาพร่างกายอยู่สม่ำเสมอ กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ รักษาร่างกายให้อบอุ่น และไม่ใส่เสื้อผ้าที่เปียกชื้น
- เมื่อเริ่มมีอาการไข้หวัด ควรนอนพักมากๆ และดื่มน้ำบ่อยๆ ถ้าตัวร้อนมาก กินยาลดไข้ และผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดตัว หรือถ้าอาการไม่ดีขึ้น เช่น มีอาการไอมากขึ้น แน่นหน้าอก มีไข้นานเกิน 2 วัน ควรไปพบแพทย์ทันที
- หากมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ และมีประวัติใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นไข้หวัดใหญ่ ควรไปพบแพทย์ทันที เช่นกัน