จาก Sandbox ราชพิพัฒน์ Model และ Sandbox ดุสิต Model ต้นแบบการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข ซึ่งเกิดจากการบูรณาการหน่วยบริการปฐมภูมิ ภาคีเครือข่าย และภาคประชาชน ทำให้การเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขของประชาชนในพื้นที่เส้นเลือดฝอยเป็นไปได้ง่ายและทั่วถึง
เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน จึงขยายผลบริการจาก Sandbox เป็น Bangkok Health Zoning ครอบคลุมทุกพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร แบ่งออกเป็น 7 โซน โดยมีโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์เป็น Health Zone Manager โดยพยาบาลภาคีเครือข่ายเป็น System Manager ศูนย์บริการสาธารณสุข เป็น Area Manager และ Supporter คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กรุงเทพมหานคร เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) สำนักงานเขต สมาคมกายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย และภาคีด้านสาธารณสุข แก้ปัญหาด้านสาธารณสุขแบบบูรณาการให้ตรงประเด็นปัญหา ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มโรคคนเมือง โรคทางเดินหายใจ รวมถึงการส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู ดูแลต่อเนื่อง ก่อให้เกิดการรับฟังปัญหาจากภาคประชาชน และพัฒนาระบบบริการ แก้ไขปัญหาได้อย่างต่อเนื่อง
การประชุมเชิงวิชาการ Bangkok health zoning จึงเป็นร่วมมือกันพัฒนาระบบริการอย่างมีมาตรฐานร่วมกัน ได้แก่ บทบาทของโรงพยาบาลแม่ข่าย ศูนย์บริการสาธารสุข รวมถึงภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อประชาชนเข้าถึงบริการ และเกิดการพัฒนางานอย่างมีคุณภาพ ทั่วทุกเขตพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร
27 เม.ย. 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมวิชาการ Bangkok Health Zoning โดยกล่าวว่า เรื่องสาธารณสุขเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ เป็น 1 ในนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี ในเรื่องสุขภาพดี เป็นพื้นฐานของทุกอย่าง หากสุขภาพดีก็สามารถทำงานได้ เศรษฐกิจก็จะดี การดำเนินชีวิตเป็นไปได้อย่างดี ที่ผ่านมา กทม.มีปัญหาคือเรามีศูนย์การแพทย์ชั้นนำระดับโลกอยู่ที่กทม. ทั้งโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลหน่วยงานรัฐต่างๆ โรงพยาบาลกรุงเทพมหานคร ศูนย์บริการสาธารณสุข ร้านขายยา คลินิกต่างๆ แต่หัวใจสำคัญคือขาดการประสานงานที่เข้มแข็ง กรุงเทพมหานครในฐานะที่เป็นเจ้าบ้านก็ต้องมาดูแลในเรื่องนี้ โดยจะแบ่ง Bangkok Health Zoning เป็น 7 โซน ถามว่าทำไมไม่ทำเป็นโซนเดียว เนื่องจากกรุงเทพฯ มีประชากรจำนวนมาก และมีเครือข่าย มีโรงพยาบาล และมีความแตกต่างหลากหลายแต่ละพื้นที่ หากทำเป็นโซนเดียวอาจจะไม่มีคำตอบเบ็ดเสร็จสำหรับทุกพื้นที่ การแบ่งออกเป็นโซนย่อย 7 โซนทำให้เราสามารถแบ่งทรัพยากร และสามารถปรับคำตอบให้ตรงกับความต้องการในแต่ละพื้นที่ได้ รวมทั้งสามารถเอาบทเรียนของแต่ละโซน สำเร็จหรือล้มเหลว ก็นำไปเป็นบทเรียนให้กับคนอื่นได้ แต่ถ้าทั้งหมดเป็นโซนเดียว ความล้มเหลวหรือความสำเร็จ บางครั้งกว่าจะพบอาจมีผลกระทบในระดับใหญ่ ดังนั้นแล้วการแบ่งเป็นโซน เป็นตัวเลือกที่ดีมากในการทำให้เราสามารถเร่งความสำเร็จให้รวดเร็วขึ้น
“นับเป็นนิมิตหมายดีที่ภาคีจากภาคส่วนอื่นนอกเหนือจากกทม.มาร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นทางโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร้านขายยา และอีกหลายหน่วยงาน ที่จะร่วมมือร่วมใจกันทำให้การบริการสาธารณสุขครอบคลุม หัวใจหลักมี 2 ข้อ คือ การมีเครือข่ายที่เข้มแข็งการประสานความร่วมมือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ผมเชื่อว่าเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมในภายในปีหน้า การทำ Bangkok Health Zoning จะเห็นการร่วมมือร่วมใจกันและตอบโจทย์พี่น้องประชาชนได้ดีขึ้น” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
กิจกรรมวันนี้ รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายแพทย์สุขสันต์ กิตติศุภกร แพทย์หญิงวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลวชิรพยาบาล ผู้บริหารกรมการแพทย์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพ เขต 13 กรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลศิริราช ผู้แทน 50 สำนักงานเขต โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร ศูนย์บริการสาธารณสุข แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ภาคีเครือข่าย และผู้ที่เกี่ยวข้องร่วม พิธี ณ ห้องกษัตริย์ศึกบอลรูม ชั้น 4 โรงแรมเดอะทวิน ทาวเวอร์ เขตปทุมวัน
โรงพยาบาลราชพิพัฒน์
18 ถนน พุทธมณฑลสาย ๓ แขวง บางไผ่ เขตบางแค กรุงเทพมหานคร 10160
02-4443724, 02-4443900, 02-4443780, 02-4440163, 02-4440138