15 มิถุนายน ของทุกปีเป็น “วันไข้เลือดออกอาเซียน” ( ASEAN Dengue Day)
ปัญหาของโรคไข้เลือดออกไม่ได้มีเฉพาะประเทศไทย ประเทศในภูมิภาคเขตร้อนชื้น เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็มีปัญหาเช่นกัน ดังนั้น ประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ คือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บูรไน เวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชา จึงมีมติร่วมกันกำหนดให้ทุกวันที่ 15 มิถุนายน ของทุกปี เป็น “วันไข้เลือดออกอาเซียน” ( ASEAN Dengue Day) เพื่อร่วมมือรณรงค์ไปด้วยกัน ในปี 2556 กำหนดประเด็นหลักในการรณรงค์ว่า “อาเซียนร่วมใจปลอดภัยไข้เลือดออก” (ASEAN Unity for Dengue-Free Community) เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนมีพฤติกรรมพึงประสงค์ คือ การเก็บ มุ่งเน้นวิธีการป้องกันด้วยวิธีทางกายภาพที่ทำได้ด้วยตนเองโดยการดูแลสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และการกำจัดลูกน้ำยุงลายในภาชนะทุกสัปดาห์เพื่อตัดวงจรการเกิดยุงลาย
โรคไข้เลือดออก ถือว่าเป็นปัญหาสาธารณสุข ในกลุ่มประเทศอาเซียน แต่ละปีพบผู้ป่วยไม่ต่ำกว่าปีละ 200,000 ราย จากผลสำรวจครึ่งปีแรก มีรายงานผู้ป่วยใน 7 ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ ไทย กัมพูชา ลาว มาเลเชีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม รวม 69,213 ราย เสียชีวิต 57 ราย และด้วยสภาพภูมิประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีภูมิอากาศแบบร้อนชื้น เหมาะสำหรับการแพร่พันธุ์ยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก ดังนั้น ประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ จึงได้มีมติร่วมกัน กำหนดให้วันที่ 15 มิถุนายน ของทุกปีเป็นวันไข้เลือดออกอาเซียน
สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในกลุ่มประเทศอาเซียน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 13 มิถุนายน 2555 พบว่า ประเทศที่มีรายงานผู้ป่วยมากที่สุด คือ ฟิลิปปินส์ พบผู้ป่วย 28,163 ราย รองลงมาคือประเทศไทย พบผู้ป่วย 14,045 ราย เสียชีวิต 9 ราย มาเลเชีย พบผู้ป่วย 10,352 ราย เสียชีวิต 20 ราย เวียดนาม พบผู้ป่วย 10,296 ราย เสียชีวิต 7 ราย กัมพูชา พบผู้ป่วย 4,050 ราย เสียชีวิต 18 ราย สิงคโปร์ พบผู้ป่วย 1,529 ราย และ ลาว พบผู้ป่วย 778 ราย เสียชีวิต 3 ราย ส่วนใหญ่เกิดในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี
กรมควบคุมโรค ได้รับการแจ้งเตือนจากองค์การอนามัยโลก ว่าปี 2556 สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในกลุ่มประเทศอาเซียน น่าเป็นห่วงที่สุดในโลกพอๆ กับภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก ดังนั้นทุกประเทศในอาเซียนจึงร่วมจัดงานวันไข้เลือดออกอาเซียน
นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับวันไข้เลือดออกอาเซียนว่า “ห่วงใยประชาชนชาวไทยและอาเซียนที่ถูกโรคไข้เลือดออกคุกคามอย่างหนัก โดยเฉพาะช่วง 3 เดือนนี้ (มิถุนายน – สิงหาคม) ซึ่งเป็นฤดูกาลระบาดของโรคดังกล่าว ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยและประเทศในอาเซียนเท่านั้น ที่มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมากขึ้นประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ก็มีผู้ป่วยโรคนี้เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน โดยอาจมีสาเหตุอันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน ทำให้ยุงพาหะของโรคไข้เลือดออกสามารถแพร่พันธุ์ได้มากขึ้น ในที่ที่มีอุณหภูมิอุ่นขึ้น องค์การอนามัยโลกจึงได้เตือนประชากรโลก ให้ทราบว่า ขณะนี้ 40 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก เสี่ยงต่อการป่วยจากโรคไข้เลือดออกก่อนปี 2513 (ค.ศ.1970) มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกเพียง 9 ประเทศ ขณะนี้มีการระบาดมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ในภูมิภาคแอฟริกา อเมริกา เมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แปซิฟิกตะวันตก โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกตะวันตกมีสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกน่าเป็นห่วงมาก ส่วนประเทศไทยปีนี้สถานการณ์การระบาดของโรคเป็น 3 เท่าของปีที่ผ่านมา
ด้านดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การจัดงาน “วันไข้เลือดออกอาเซียน” (ASEAN Dengue Day) เนื่องมาจากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทุกประเทศ มีปัญหาโรคไข้เลือดออกร่วมกัน ดังนั้นในการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนครั้งที่ 22 เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2553 (ค.ศ.2010) ณ ประเทศสิงคโปร์ ได้มีข้อตกลงร่วมกัน ให้วันที่ 15 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันไข้เลือดออกอาเซียน
“วันไข้เลือดออกอาเซียนปีนี้ นับเป็นปีที่ 3 จัดที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม โดยใช้คำขวัญว่า “อาเซียนร่วมใจปลอดภัยไข้เลือดออก” (ASEAN Unity for Dengue-Free Community)
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่ออีกว่า ประชาชนสามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกด้วยตนเองโดยการปฏิบัติ 5 ป+1ข ได้แก่
1.ป.ปิด ปิดภาชนะขังน้ำให้มิดชิด ป้องกันยุงลายลงไปวางไข่
2.ป.เปลี่ยน เปลี่ยนน้ำในแจกัน ถังเก็บน้ำทุก 7 วัน เพื่อตัดวงจรลูกน้ำที่จะกลายเป็นยุง
3.ป.ปล่อย ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะใส่น้ำถาวร เช่น ปลาหางนกยูง ปลากัด ปลากระดี่
4.ป.ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้ปลอดโปร่ง โล่งสะอาด ลมพัดผ่าน ไม่เป็นที่เกาะพักของยุงลาย
5.ป.ปฏิบัติ ปฏิบัติเป็นประจำจนเป็นนิสัย 1ข.ขัดไข่ยุงลาย