ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

โรคไซนัสอักเสบในเด็ก อาการและแนวทางการรักษา

โรคไซนัสอักเสบในเด็ก อาการและแนวทางการรักษา

โรคไซนัสอักเสบในเด็ก

ไซนัสคืออะไร
ไซนัสเป็นโพรงอากาศในกระดูกใบหน้า อยู่บริเวณรอบ ๆ จมูก หน้าที่ปกติของโพรงไซนัสไม่เป็นที่ทราบแน่นอนแต่อาจทำให้
  • กระโหลกเบา
  • เสียงก้อง
  • สร้างเมือกและภูมิคุ้มกันให้กับโพรงจมูก
  • ทำหน้าที่ปรับอากาศที่หายใจเข้าสู่ร่างกายให้อบอุ่นและมีความชื้นเพียงพอ
โดยปกติเมือกในโพรงไซนัสจะไหลเข้าสู่โพรงจมูก ผ่านช่องเล็ก ๆ (Ostium) ที่ผนังข้างจมูกเข้าสู่โพรงจมูก เพื่อใช้ในการต่อสู้เชื้อโรคและระบายสิ่งแปลกปลอมจากจมูก ลงสู่ลำคอหรือออกทางจมูก
 
การเกิด โรคไซนัสอักเสบ
เมื่อจมูกเกิดอาการบวม เข่นในขณะเป็นหวัดหรือในขณะที่เป็นจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในจมูก จะทำให้ช่องติดต่อระหว่างโพรงไซนัสและจมูกดังกล่าวอุดตัน และเกิดการคั่งค้างของน้ำเมือกในโพรงไซนัส และเมื่อเชื้อโรคจากจมูกเข้าสู่โพรงไซนัสได้ ก็จะแบ่งตัว และทำให้เกิดการติดเชื้อของโพรงไซนัส และมีหนองเกิดขึ้น ทำให้จมูกบวมมากยิ่งขึ้น ซึ่งเรียกว่าเกิดโรค “ไซนัสอักเสบ”
 
อาการของโรคไซนัสอักเสบ
อาการของไซนัสอักเสบมีได้มากมาย แล้วแต่ว่าไซนัสบริเวณใดเกิดอักเสบขึ้นมา และเป็นชนิดฉับพลัน หรือเป็นมาเรื้อรัง อาการโดยทั่วไปมักจะมีดังนี้คือ คัดจมูก มีน้ำมูกข้นเขียว หรือเหลือง หายใจมีกลิ่นเหม็น ปวดศีรษะ เสมหะข้นไหลลงคอ ไอบ่อย บางคนก็มีเลือดออกจมูก ปวดแก้ม ปวดฟันกรามแถวบน ปวดจมูก ปวดหน้าผาก ปวดขมับ ปวดท้ายทอย หนัก ๆ หัว ในชนิดที่เป็นแบบฉับพลันบางคนก็มีไข้ด้วย
การรักษาโรคไซนัสอักเสบ
ประกอบด้วยหลักใหญ่ 3 ประการคือ
  1. การใช้ยาฆ่าเชื้อโรค (ยาปฏิชีวนะ = ยาแก้อักเสบ)
  2. การทำให้โพรงจมูกที่บวมให้ยุบลง เพื่อให้หนองในโพรงไซนัสไหลถ่ายเทออกมาให้หมด
  3. การหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นทำให้จมูกบวม
การให้ยาฆ่าเชื้อ (ยาปฏิชีวนะ)
  1. เชื้อโรคที่ทำให้เกิดไซนัสอักเสบ ได้แก่ Streptococcus pneumoniae, Hemophlius influenzae และ Moraxella catarrhalis เป็นส่วนใหญ่ ยาที่ใช้ในการฆ่าเชื้อโรคเหล่านี้ ได้แก่  Amoxicillin, Amoxicillin/clavulanic acid, Cefuroxime axetil, Cefaclor, Clarithromycin, Clindamycin, แพทย์จะเป็นผู้เลือกใช้ยาเหล่านี้ตามเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละคน
  2. ระยะเวลาในการใช้ยาจะนานกว่าการรักษาการติดเชื้อของระบบหายใจตามปกติ โดยอาจจะให้นานถึง 2-6 สัปดาห์ ตามที่แพทย์จะแนะนำ (ทั้งนี้เพราะจะต้องรักษาจนหนอง หมดไปจากโพรงไซนัส)
การทำให้โพรงจมูกลดบวมได้โดย
  1. การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ
  2. การใช้ยาพ่นจมูก
การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือทำได้ง่าย ๆ โดย
  1. หาซื้อน้ำเกลือ 0.9 เปอร์เซ็นต์ normalsaline ที่ไม่มีน้ำตาลผสมอยู่หรืออาจผสมขึ้นเองง่าย ๆ โดยใช้น้ำสะอาด 250 CC. ผสมกับเกลือสะอาด ½ ช้อนชา 
  2. เทน้ำเกลือลงในแก้วสะอาด 
  3. ดูดน้ำเกลือจากแก้วเข้าในลูกยางหรือหลอดฉีดยา (Syringe) ขนาด 10 ml.
  4. พ่นน้ำเกลือจากลูกยางหรือหลอดฉีดยาเข้าสู่ช่องจมูกในท่าก้มหน้า กลั้นหายใจในระหว่างฉีดน้ำเกลือเข้าสู่จมูก
  5. ทำซ้ำจนน้ำมูกหมด ปฏิบัติวันละ 1-3 ครั้ง
  6. บางครั้งแพทย์อาจสั่งพ่นจมูก หรือยาล้างจมูกให้ใช้ตามคำแนะนำของแพทย์  
การหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น  
  1. ผู้ป่วยที่เป็นโรคไซนัสอักเสบจำนวนหนึ่ง (อาจถึงร้อยละ 50) อาจจะมีอาการของโรคไซนัสอักเสบที่เกิดเนื่องมาจากโรคภูมิแพ้ของจมูก ซึ่งทำให้จมูกบวมและมีอาการติดเชื้อตามมา ผู้ป่วยดังกล่าวควรหลีกเลี่ยงสารแพ้จากไรฝุ่น ตามคำแนะนำของแพทย์
  2. ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยง 
    • ควันบุหรี่
    • การติดเชื้อจากคนรอบข้าง
    • การอยู่ในเขตแออัด
    • การว่ายน้ำในสระที่ไม่ได้มาตรฐาน ฯลฯ
การติดตามผลการรักษา
เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ผู้ป่วยควรจะต้องมารับการประเมินผลการรักษาตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง 

ด้วยความปรารถนาดีจาก 
แผนกกุมารเวช โรงพยาบาลวิภาวดี

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด