ตามที่ประเทศไทยได้มีการปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2565 และนำไปสู่การเข้าถึงและบริโภคกัญชาและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาอย่างแพร่หลายในสังคมไทย
กัญชาและผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม อาจส่งผลกระทบกับยา สมุนไพร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ อื่นๆ ที่ท่านรับประทานอยู่ ดังนั้นหากท่านใดใช้ยา สมุนไพร ผลิตภัณฑ์สุขภาพอยู่ก่อน และมีความสนใจที่จะใช้กัญชาหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา โปรดตรวจสอบหรือปรึกษาแพทย์ หรือ เภสัชกร เพื่อประโยชน์และความปลอดภัยของทุกท่าน
ด้วยเหตุนี้ หน่วยข้อมูลยาของสภาเภสัชกรรม เล็งเห็นประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคกัญชาและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาที่ผู้ใช้ทุกท่านควรทราบ เพื่อส่งเสริมให้การใช้เป็นไปอย่างปลอดภัย
กัญชาเป็นพืชสมุนไพรที่อยู่ในตำรายาไทยมาเป็นเวลายาวนาน ซึ่งการที่มีฤทธิ์เป็นยาเพราะกัญชามีสารจำนวนมากเป็นองค์ประกอบเช่น สารทีเอ็ชซี (THC = Tetrahydrocannabinol) และ สารซีบีดี (CBD = cannabidiol) เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ การบริโภคกัญชาจึงเป็นการบริโภคสารต่างๆ เหล่านี้เข้าไปในร่างกาย และด้วยเหตุที่สารเหล่านี้ ก็เหมือนกับยาทั่วไปที่เมื่อร่างกายได้รับ จะกระจายไปออกฤทธิ์ตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ทำให้เกิดเป็นสรรพคุณต่างๆ ที่นำมาใช้เป็นยา นอกจากนี้ สารที่อยู่ในกัญชา ก็เหมือนกับยาอี่นๆ คือจะต้องได้รับการเปลี่ยนสภาพและขจัดออกไปจากร่างกาย โดยอวัยวะที่ทำหน้าที่ในการเปลี่ยนสภาพและขจัดได้แก่ตับและไตเป็นหลัก
ยาตีกัน
หากมีการบริโภคกัญชาและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาร่วมกันกับยาอื่นๆ อาจเกิดสิ่งที่เราเรียกกันว่า “ยาตีกัน” ได้ ข้อมูลทางวิชาการและรายงานที่มีอย่างแพร่หลายในฐานข้อมูลวิชาการระดับนานาชาติได้แสดงให้เห็นว่า ภาวะ “ยาตีกัน” ของกัญชาอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ยกตัวอย่างเช่น
1. การใช้กัญชาร่วมกับยาที่มีฤทธิ์กดประสาทบางประเภทเช่น ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (benzodiazepine) ตัวอย่างเช่น diazepam หรือผู้ป่วยที่ใช้ยามอร์ฟีน อาจทำให้เกิดการเสริมฤทธิ์กดประสาทมากเกินไปจนเกิดผลเสียได้
2. หากผู้ป่วยที่ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดชื่อ “ยาวาร์ฟาริน” ได้รับกัญชาเข้าไปอาจทำให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดมีระดับสูงขึ้น จนเกิดอาการเลือดออกและทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้ นอกจากนี้ ยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดอื่นๆ ก็มีแนวโน้มที่อาจเกิดปัญหาคล้ายกันได้ถึงแม้จะยังไม่มีรายงานในฐานข้อมูล
3. การใช้กัญชาร่วมกับยากันชักบางประเภท อาจทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของระดับยากันชักและส่งผลกระทบต่อการรักษาได้ อาจจำเป็นต้องวัดระดับยากันชักในเลือด เพื่อปรับขนาดยาให้เหมาะสม
4. หากใช้กัญชาร่วมกันกับยาบางชนิดเช่น ยารักษาอาการซึมเศร้าบางชนิดเช่น ยาฟลูอ๊อกซิติน (fluoxetine) ยารักษาเชื้อรา (เช่นยา ketoconazole) ยารักษาโรคติดเชื้อบางประเภท (เช่นยา clarithromycin) หรือยาลดความดันโลหิตบางประเภท (เช่นยา verapamil) ยาเหล่านั้นอาจไปลดความสามารถของตับและไตในการเปลี่ยนสภาพและขจัดกัญชาออกจากร่างกาย ระดับของสารสำคัญในกัญชาจะสูงกว่าปกติได้หลายเท่าและนำไปสู่อาการเมา หรือเกิดอาการข้างเคียงได้ ทั้งๆ ที่บริโภคกัญชาในขนาดทั่วไป
โดยสรุปแล้ว กัญชาและผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมก็เป็นเหมือนยาอื่นๆ อาจส่งผลกระทบกับยา สมุนไพร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ อื่นๆ ที่ท่านรับประทานอยู่ ดังนั้นหากท่านใดใช้ยา สมุนไพร ผลิตภัณฑ์สุขภาพอยู่ก่อน และมีความสนใจที่จะใช้กัญชาหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา โปรดตรวจสอบหรือปรึกษาแพทย์ หรือ เภสัชกร เพื่อประโยชน์และความปลอดภัยของทุกท่าน
ข้อมูลอ้างอิง
1. Lopera V, Rodríguez A, Amariles P. Clinical Relevance of Drug Interactions with Cannabis: A Systematic Review. J Clin Med. 2022 Feb 22;11(5):1154.
2. Paduch M, Thomason AR. Potential Drug Interactions Between Cannabinoids and Its Derivatives and Oral Anticoagulants. Hosp Pharm. 2022 Feb;57(1):188-192.
3. Doohan PT, Oldfield LD, Arnold JC, Anderson LL. Cannabinoid Interactions with Cytochrome P450 Drug Metabolism: a Full-Spectrum Characterization. AAPS J. 2021 Jun 28;23(4):91.
4. Vázquez M, García-Carnelli C, Maldonado C, Fagiolino P. Clinical Pharmacokinetics of Cannabinoids and Potential Drug-Drug Interactions. Adv Exp Med Biol. 2021;1297:27-42.