นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ผู้เป็นโรคเบาหวานส่วนใหญ่จะยังไม่รู้ตัวจนกว่าจะแสดงอาการ เช่น น้ำหนักลด ปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย กินจุบจิบ แผลหายช้า อ่อนเพลีย ชาปลายมือ ปลายเท้า สายตาผิดปกติ ซึ่งเกิดจากน้ำตาลในเลือดสูง ถ้าปล่อยไว้เป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา อาทิ เบาหวานขึ้นจอประสาทตาจนทำให้ตาบอด มีโปรตีนรั่วในปัสสาวะจนทำให้ เป็นโรคไตเสื่อม หลอดเลือดที่ขาเสียหายซึ่งมักเป็นร่วมกับอาการเท้าชา เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดแผลที่เท้า ในผู้เป็นเบาหวาน จนบางรายต้องตัดขา และยังทำให้เกิดปัญหากับหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง เมื่อมีการอุดตันหรือแตก ทำให้เกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ ปัญหาเหล่านี้ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ครอบครัว และคนใกล้ชิดทั้งผู้ป่วยและภาครัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเป็นจำนวนมหาศาล
“ผู้ป่วยเบาหวานจึงต้องควบคุมอาหารเพื่อช่วยในการลดระดับน้ำตาลในเลือด ด้วยการเลือกกินอาหารให้ครบ 5 หมู่และหลากหลายโดยเลือกกินข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ และธัญพืชไม่ขัดสี กินผักเพื่อช่วยในการดูดซึมน้ำตาล และรักษาระดับไขมันในเลือด เลือกกินผลไม้ 1 ชนิดต่อมื้อ เน้นที่รสหวานน้อย เช่น กล้วย ส้ม ฝรั่ง แอปเปิล กินเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดหนังและมัน เช่น ปลา ไก่ เต้าหู้ ควรใช้น้ำมันพืช แทนน้ำมันหมูในการประกอบอาหาร และดื่มนมจืดหรือพร่องมันเนยไม่เกิน 1 แก้วต่อวัน ทั้งนี้ ผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป หรือมีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงหรือไขมันในเลือดสูง และผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย นับเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน จึงต้องคุมอาหารและหมั่นดูแลรักษาน้ำหนักตัวเอง รวมถึงเข้ารับการตรวจสุขภาพทุกปีเพื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ถือเป็นการเฝ้าระวังอีกทางหนึ่ง เนื่องจากโรคเบาหวานไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่สามารถยับยั้งการเกิดโรคแทรกซ้อนได้”นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าว
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ
25 พฤศจิกายน 2563