ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ สำคัญอย่างไร

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ สำคัญอย่างไร  Thumb HealthServ.net
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ สำคัญอย่างไร  ThumbMobile HealthServ.net

ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดเชื้อที่รู้จักกันดี เชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคไข้หวัดใหญ่คือ ไวรัสอินฟลูเอนซ่า ซึ่งมี 3 ชนิดคือ A, B และ C ไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ก่อโรครุนแรงและเป็นสาเหตุของการระบาดทุกปี คือ Influenza A virus ซึ่งยังมีการจำแนกเป็นซับไทป์ต่างๆ ตามชนิดของโปรตีนที่เปลือกหุ้มคือ H และ N ระบุเป็น H1N1 หรือ H3N2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พบได้ทุกปี ส่วนสายพันธุ์ H5N1 เป็นสาเหตุของไข้หวัดนก ไวรัสมีการกลายพันธุ์อยู่เสมอ ไวรัสที่แยกเชื้อได้จากผู้ป่วยแต่ละปีจึงมีลำดับกรดอะมิโนแตกต่างกันบ้าง แม้จะเป็นสายพันธุ์เดียวกันเช่น H1N1 และเป็นสาเหตุที่ทำให้เชื้อดื้อยาได้ง่ายมาก

 

 
โรคและความสำคัญ
 
เชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคไข้หวัดใหญ่คือ ไวรัสอินฟลูเอนซ่า ซึ่งมี 3 ชนิดคือ A, B และ C ไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ก่อโรครุนแรงและเป็นสาเหตุของการระบาดทุกปี คือ Influenza A virus ซึ่งยังมีการจำแนกเป็นซับไทป์ต่างๆ ตามชนิดของโปรตีนที่เปลือกหุ้มคือ H และ N ระบุเป็น H1N1 หรือ H3N2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พบได้ทุกปี ส่วนสายพันธุ์ H5N1 เป็นสาเหตุของไข้หวัดนก ไวรัสมีการกลายพันธุ์อยู่เสมอ ไวรัสที่แยกเชื้อได้จากผู้ป่วยแต่ละปีจึงมีลำดับกรดอะมิโนแตกต่างกันบ้าง แม้จะเป็นสายพันธุ์เดียวกันเช่น H1N1 และเป็นสาเหตุที่ทำให้เชื้อดื้อยาได้ง่ายมาก
 
การติดต่อของไข้หวัดใหญ่
 
ไข้หวัดใหญ่ติดต่อได้ง่ายโดยการไอ จาม หรือพูดคุย ที่เกิดได้บ่อยที่สุดคือใช้มือที่สัมผัสสิ่งของที่เปื้อนเชื้อในน้ำมูก น้ำลาย หยิบอาหารใส่ปาก ขยี้ตา แคะจมูก ซึ่งล้วนเป็นทางผ่านของไวรัสของไข้หวัดใหญ่เข้าสู่ร่างกาย ผู้ป่วยจึงควรล้างมือบ่อยๆ ปิดปากปิดจมูกเพื่อลดการกระจายเชื้อขณะไอจาม การแพร่เชื้อจะเกิดได้มาก ในที่มีคนหนาแน่น เช่น โรงเรียน โรงงาน รถประจำทาง
 
อาการของโรคไข้หวัดใหญ่
 
อาการโดยทั่วไป ได้แก่ มีไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย ไอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ บางรายมีอาการคัดจมูก หรือเจ็บคอร่วมด้วย ในเด็กอาจมีอาการอุจจาระร่วงและมีไข้สูงจนชัก ส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติภายใน 7-10 วัน แต่มีน้อยกว่าร้อยละ 10 ที่เกิดภาวะแทรกซ้อน ที่สำคัญคือ ปอดบวม และอาจรุนแรงจนเสียชีวิตได้ กลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัดใหย์ที่รุนแรงได้แก่
  • ผู้สูงวัย อายุ 65 ปีขึ้นไป
  • เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี
  • คนอ้วนมากๆ (น้ำหนักเกิน 100 กิโลกรัม)
  • คนท้องที่อายุครรภ์เกิน 16 สัปดาห์
  • ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคไต เบาหวาน ภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ที่มีปัญหาด้านการกลืนและหายใจ เช่นโรคลมชัก โรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง ผู้พิการทางสมอง
  • เด็ก (อายุไม่เกิน 18 ปี) ที่ต้องกินยาแอสไพรินต่อเนื่องเป็นเวลานาน
 
 
  
 วัคซีนไข้หวัดใหญ่
 
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ประกอบด้วยไวรัส influenza A สองสายพันธุ์ คือ H3N2 และ H1N1 และไวรัส Influenza B หนึ่งสายพันธุ์ สายพันธุ์ที่ใส่ในวัคซีนมีการเปลี่ยนใหม่ทุกปี ตามที่คาดการณ์ว่าสายพันธุ์ใดจะระบาดในปีนั้น ซึ่งองค์การอนามัยโลกเป็นผู้ประกาศ โดยประเมินจากไวรัสที่แยกได้จากผู้ป่วยในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกในปีที่ผ่านมา
 
วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีทั้งชนิดวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ และวัคซีนเชื้อตายทั้งสองชนิดเลี้ยงในไข่ไก่ฟัก แต่ปัจจุบันที่มีขายในประเทศไทยมีเพียงวัคซีนเชื้อตาย วัคซีนเชื้อเป็นที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรมกำลังอยู่ในระหว่างการวิจัยและ พัฒนา
 
1) วัคซีนเชื้อตาย เดิมประกอบด้วยอนุภาคไวรัสทั้งตัวที่หมดฤทธิ์ แต่ผลข้างเคียงสูง จึงเลิกผลิต วัคซีนเชื้อตายที่มีใช้ในปัจจุบัน มี 2 แบบ คือ
 
1.1) split vaccine ผลิตโดยทำให้อนุภาคไวรัสแตกโดยละลายไขมันที่เปลือกหุ้มออก เหลือแต่ส่วนโปรตีนที่เปลือก (H, N) และโปรตีนส่วนอื่นๆของไวรัส ที่มีขายในไทยได้แก่ Fluarix®, Fluzone® และ Vaxigrip®
 
1.2) subunit vaccine มีแต่โปรตีนที่ผิว (H, N) ที่แยกให้บริสุทธิ์ บางบริษัทผสมสารเสริมฤทธิ์ ช่วยให้สร้างภูมิคุ้มกันได้ดี ที่มีขายในไทยได้แก่ Agrippal S1®, Fluad® และ Influvac®
 
วัคซีนเชื้อตาย ทำเป็นรูปยาน้ำขนาดบรรจุ 0.5 มล. หรือ 0.25 มล. (1 โด๊ส) ในกระบอกฉีดยา (prefilled syringe) หรือ บรรจุ 5 มล.(10 โด๊ส) ในขวดแก้ว (vial) แล้วแต่บริษัท
 
วัคซีนเชื้อตาย ให้ได้ทุกวัยตั้งแต่อายุ 6 เดือนเป็นต้นไป รวมทั้งคนในกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนหากติดเชื้อ ตลอดจนบุคคลากรทางการแพทย์และผู้ที่ต้องดูแลคนกลุ่มเสี่ยง
 
2) วัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ ได้จากการเลี้ยงไวรัสที่ก่อโรครวมกับไวรัสอ่อนฤทธิ์ที่เจริญได้ดีที่ อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส เกิดการแลกเปลี่ยนยีน ได้ไวรัสอ่อนฤทธิ์ที่มีโปรตีน H และ N เหมือนไวรัสที่ก่อโรค เป็นรูปยาน้ำขนาดบรรจุ 0.2 มล.(1โด๊ส) ในหลอดสำหรับพ่นจมูกที่มีตัวควบคุมปริมาณยาให้พ่นได้ทีละ 0.1 มล.
ผู้ที่รับวัคซีนเชื้อเป็นได้คือผู้ที่อายุ 2 ถึง 49 ปีที่มีสุขภาพแข็งแรงและไม่อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์ ผู้ที่ดูแลคนในกลุ่มเสี่ยง รวมทั้งคนที่ทำงานในหอบริบาลพิเศษสำหรับทารกแรกเกิด หอผู้ป่วยโรคมะเร็ง หอผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี ก็รับวัคซีนเชื้อเป็นได้

 
 
ขนาดและการบริหารวัคซีน
 
ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ หรือโดยการรับวัคซีนทั้งสองชนิดจะอยู่ได้ไม่เกิน 1 ปี และสายพันธุ์ที่ระบาดแต่ละปีก็แตกต่างกันไป จึงต้องรับวัคซีนทุกปี ปีละ 1 ครั้งในช่วงก่อนเข้าฤดูระบาด สำหรับประเทศไทยแนะนำให้รับวัคซีนก่อนเข้าฤดูฝน คือในราวปลายเมษายน ถึงต้นพฤษภาคม ผู้ที่เคยป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่มานานเกิน 1 ปีแล้ว ก็ควรรับวัคซีนในปีถัดไปอีก
 
วัคซีนเชื้อตาย ให้โดยวิธีฉีดเข้ากล้าม 0.5 มล. เด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ รับเพียง 0.25 มล.
 
คนแก่ที่อายุ 65 ปีเป็นต้นไป ควรรับ Fluad ® ซึ่งใส่สารเสริมฤทธิ์ กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงพอที่จะการป้องกันโรคได้ วัคซีนเชื้อเป็นให้โดยวิธีพ่นเข้าจมูก 2 ทั้งข้าง ๆละ 0.1 มล.
 
เด็กอายุไม่เกิน 8 ปี ที่ยังไม่เคยรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ขนิดใดมาก่อนเลย ในปีแรกต้องรับวัคซีน 2 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน ปีต่อไปรับเพียงครั้งเดียว
 
ประสิทธิภาพของวัคซีนไข้หวัดใหญ่
 
ภายหลังรับวัคซีน 2-3 สัปดาห์ จะเริ่มมีภูมิคุ้มกัน (แอนติบอดี) สูงพอที่จะป้องกันโรคได้ ซึ่งจะมีระดับสูงสุดในระยะ 2-4 เดือนและป้องกันโรคได้นานเพียง 6-12 เดือนหลังรับวัคซีน การทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนในเด็กอายุ 5-6 ปีที่มีสุขภาพดี วัคซีนชนิดพ่นจมูกป้องกันโรคได้ประมาณ 87% และ วัคซีนเชื้อตายป้องกันโรคได้ 70-90%
 
อย่างไรก็ดีไวรัสก่อโรคในบ้านเราแต่ละปี มีความแตกต่างกับไวรัสที่ใช้ทำวัคซีนบ้าง ดังนั้นประสิทธิภาพในการป้องกันโรคอาจจะไม่สูงมากนัก ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว ก็ยังมีโอกาสเกิดโรคได้ แต่อาการจะไม่รุนแรง เพราะภูมิคุ้มกันจากการรับวัคซีนยังป้องกันได้บ้าง การศึกษาประสิทธิภาพวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตายในกลุ่มผู้สูงอายุไทยใน เขตเมืองเมื่อปี พ.ศ. 2550 พบว่ามีผู้ติดเชื้อร้อยละ 8.9 ในกลุ่มผู้ที่รับวัคซีน ส่วนกลุ่มผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนมีผู้ติดเชื้อร้อยละ 16.9
 
 
ผลข้างเคียง
 
วัคซีนทั้งสองชนิดมีผลข้างเคียงน้อย สำหรับผู้ที่รับวัคซีนเชื้อตาย ผลข้างเคียงที่พบบ่อย (มากกว่าร้อยละ 10) คือ อาการปวดบวมแดงบริเวณที่ฉีดประมาณ 1 ถึง 2 วัน อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีอาการง่วงนอน เบื่ออาหาร วัคซีนเชื้อตายที่มีสารเสริมฤทธิ์ พบผลข้างเคียงมากว่าชนิดที่ไม่มีสารเสริมฤทธิ์
 
ผลข้างเคียงที่พบบ่อย (มากกว่าร้อยละ 10) สำหรับผู้ที่รับวัคซีนเชื้อเป็น ได้แก่ คัดจมูก น้ำมูกไหล พบได้ทุกช่วงอายุ ส่วนอาการไข้สูง พบในกลุ่มเด็กอายุ 2-6 ปี อาการเจ็บคอพบในผู้ใหญ่
 
 
ข้อห้ามใช้
 
1. วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่มีในท้องตลาดทุกยี่ห้อ เลี้ยงไวรัสในไข่ไก่ฟัก ดังนั้นผู้ที่แพ้ไข่ หรือผู้ที่มีประวัติแพ้วัคซีนไข้หวัดใหญ่อย่างรุนแรง ไม่ควรรับวัคซีน อาการแพ้อย่างรุนแรง ได้แก่ อาการหน้าซีด หัวใจเต้นเร็ว มึนงง หลอดลมตีบทำให้หายใจลำบากมีเสียงดังวิ๊ดๆ
 
2. เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี คนอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป คนท้อง ตลอดจนผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนเมื่อติดเชื้อ ห้ามรับวัคซีนเชื้อเป็น
 
3. บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องดูแลคนที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอมาก ๆ จนต้องอยู่ในเขตปลอดเชื้อ เช่นคนไข้ที่อยู่ระหว่างการปลูกถ่ายไขกระดูก ห้ามรับวัคซีนเชื้อเป็น
 
4. ผู้ที่แพ้อากาศและมีอาการแน่นจมูกหายใจไม่ออก แนะนำให้รับวัคซีนเชื้อตายแทน
 
5. หากกำลังอยู่ในระหว่างเจ็บป่วย เช่นมีไข้สูง ควรเลื่อนการรับวัคซีน รอจนแข็งแรงก่อน แต่หากเจ็บป่วยเล็กน้อย เช่นแพ้อากาศ ผื่นคัน เป็นหวัดหรือเจ็บคอมีไข้ต่ำๆ รับวัคซีนเชื้อตายได้
 


เรียบเรียงโดย ภญ.ผศ.ดร.สุนีย์ เตชะอาภรณ์กุล

 
บรรณานุกรม
1. ฐิติพงษ์ ยิ่งยง สำนักระบาดวิทยา. สรุปรายงานการเฝ้าระวังโรค 2552. Available from:URL: http://epid.moph.go.th/Annual/Total_Annual.html
2. Centers for Disease Control and Prevention. Prevention and Control of Seasonal Influenza with Vaccines: Recommendations of the Advisory Committee on Immunization Practices (ACIP). MMWR 2010;59(RR-8):1-68.
3. Flumist (Package insert). Med Immune. Gaithersburg(MD). 2011. Available from:URL: http://www.fda.gov/downloads/BiologicsBloodVaccines/Vaccines/ApprovedProducts/UCM123743.pdf.
4. Fluzone (Package insert). Swiftwater (PA). 2011. Available from:URL: http://www.fda.gov/downloads/BiologicsBloodVaccines/Vaccines/ApprovedProducts/UCM195479.pdf
5. Usa Panichprathompong. AFRIM Clinical Trial Center Zmujme. Influenza in Thai senior citizen. Thailand Human Influenza Research Meeting Summary. 11-12 October 2007
 

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด