การฟอกสีฟัน คือ การทำให้ฟันที่มีสีคล้ำ ดูขาวขึ้น
ฟันที่เปลี่ยนสีเกิดจาก 2 สาเหตุหลัก คือ
1. สาเหตุจากภายนอกตัวฟัน เช่น สีจากอาหาร เครื่องดื่ม บุหรี่ เป็นต้น
2. สาเหตุจากภายในตัวฟัน เช่น การสะสมสารเคมีที่มีสีข้างในเนื้อฟันขณะสร้างฟัน หรือในกรณีฟันตาย เป็นต้น
การฟอกสีฟันมีหลายวิธี ทุกวิธีจะต้องใช้สารเคมีประเภทไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ หรือคาร์บาไมด์เปอร์ออกไซด์ความเข้มข้นต่ำ (ประมาณ 10–20 %) ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบที่แตกต่างกัน สารตัวนี้จะช่วยให้สารที่มีสีในตัวฟันแตกตัวมีขนาดเล็กลงแล้วซึมผ่านเนื้อฟันออกมาทำให้ฟันขาวขึ้น
วิธีการฟอกสีฟัน
หากแบ่งตามตำแหน่งของซี่ฟันที่จะฟอก แบ่งได้เป็น
1. วิธีฟอกจากภายในตัวฟัน โดยการใส่น้ำยาฟอกสีฟันเข้าไปในตัวฟัน มักทำในฟันที่มีไม่ชีวิตที่เปลี่ยนเป็นสีคล้ำภายหลังการรักษารากฟัน
2. วิธีฟอกจากด้านนอกตัวฟัน โดยการทาน้ำยาฟอกสีฟันที่ผิวนอกของซี่ฟันด้านที่ยิ้มเห็น มักทำในฟันที่มีชีวิตทั่วไป สามารถฟอกได้ครั้งละหลายๆ ซี่
การตอบสนองต่อการฟอกสีฟันโดยทั่วไปแล้วมักให้ผลดี ยกเว้นในกรณีฟันที่มีสีคล้ำจากยาเตตระไซคลิน จะตอบสนองต่อการฟอกสีฟันน้อยมาก
วิธีการฟอกสีฟัน
วิธีการฟอกสีฟัน หากแบ่งตามสถานที่ ผู้ทำการฟอกสีฟันหรือสารเคมีที่ใช้ แบ่งได้เป็น
1. In-office Power Bleaching ทำในคลินิก โดยทันตแพทย์ใช้สารไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ความเข้มข้นสูง (ประมาณ 35%)
2. At-home Bleaching ทำด้วยตัวเองที่บ้าน ด้วยสารไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ความเข้มข้นต่ำ (ประมาณ 10%)
3. In-office assisted Bleaching เป็นการฟอกสีฟันที่ทำร่วมกันระหว่าง ข้อ 1 กับข้อ 2 โดยทำในกรณีที่สีเริ่มต้นของฟันเข้มมาก โดยจะทำที่คลินิกก่อนจากนั้นให้กลับไปทำต่อเองที่บ้าน
4. Over-the-counter Bleaching ใช้สารฟอกสีฟัน ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ความเข้มข้นต่ำ รูปแบบต่างๆ ที่มีวางขายทั่วไป หาซื้อได้ตามร้านค้าผลิตภัณฑ์ยาและความงามต่างๆ เช่น แถบฟอกสีฟัน หรือ ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของสารฟอกสีฟัน เป็นต้น หาซื้อมาใช้ได้เองไม่จำเป็นต้องอยู่ในความดูแลของทันตแพทย์ทำให้ฟันขาวขึ้นได้
5. Walking Bleaching เป็นการฟอกสีฟันในฟันที่เปลี่ยนสีเนื่องจากฟันไม่มีชีวิตโดยใช้สารโซเดียมเปอร์บอเรต ซึ่งมักมีการเปลี่ยนสีของฟันเฉพาะซี่ไม่ได้เปลี่ยนสีทั้งปาก ฟันที่ได้รับการรักษารากฟัน หรือฟันปกติที่ได้รับการกระทบกระเทือนจะมีสีคล้ำขึ้นเนื่องจากมีการคั่งของเลือดภายในท่อเนื้อฟัน
การฟอกสีฟันในฟันไม่มีชีวิต ทำได้โดยฟอกเฉพาะซี่นั้นๆ ได้โดยตรง ทันตแพทย์จะเป็นผู้ใส่สารฟอกสีฟันเข้าไปข้างในตัวฟันที่เปลี่ยนเป็นสีคล้ำนั้นเพื่อทำให้ฟันขาวขึ้น แล้วจะปิดช่องทางเข้าไว้ชั่วคราว เพื่อให้สารฟอกสีฟันทำให้ฟันขาวขึ้นเรื่อยๆ จากนั้นนัดมาดูสีอีกครั้งหนึ่ง หากสียังไม่เป็นที่พอใจก็เปลี่ยนสารฟอกสีฟันเข้าไปใหม่ แล้วนัดกลับมาดูอีกครั้ง เมื่อสีเป็นที่น่าพอใจแล้ว ก็ปิดช่องไว้อย่างถาวรต่อไป
ผลข้างเคียงของการฟอกสีฟัน
คือ อาการเสียวฟัน และการระคายเนื้อเยื่ออ่อน ซึ่งจะกลับสู่สภาพปกติได้เองเมื่อไม่ได้สัมผัสกับสารฟอกสีฟันในผู้ที่มีฟันผุ เหงือกอักเสบ ฟันร้าว หรือแม้กระทั่งเหงือกร่น ไม่เหมาะที่จะฟอกสีฟัน เพราะจะทำให้เสียวฟันมากกว่าปกติ ต้องรักษาฟันและเหงือกให้อยู่ในสภาพที่ดีก่อนจึงจะฟอกสีฟันได้ ดังนั้น ถ้าต้องการทำให้สีของฟันขาวขึ้น ควรพบทันตแพทย์เพื่อปรึกษาเลือกใช้วิธีที่เหมาะสม หากมีเหงือกอักเสบ มีหินปูน ก็ต้องขูดหินปูน ทำความสะอาดฟัน หากมีฟันผุก็ต้องอุดเสียก่อน และหากฟันซี่ไหนที่ต้องรักษารากฟัน ก็ต้องทำให้เรียบร้อยเสียก่อน ส่วนฟันที่ผุจนรักษาไว้ไม่ได้ ก็ควรต้องถอนก่อนฟอกสีฟัน
โดย ทพ.วีรวัฒน์ บัวเผื่อน
ทพญ.ลภัสรดา กาญจนพัฒนกุล
งานทันตกรรม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล