โรคหัวใจล้มเหลวคืออะไร
ภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้เพียงพอ หรืออาจหมายถึงภาวะที่หัวใจไม่สามารถคลายตัวหรือขยายตัวเพื่อรองรับเลือดได้ปกติ ทำให้เกิดความดันเลือดในช่องปอดมากขึ้น เกิดการคลั่งของเลือดในปอดมากขึ้น ทำให้มีอาการเหนื่อยง่ายและอาจก่อให้เกิดอาการบวมของร่างกาย
สาเหตุของหัวใจล้มเหลว
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจรูมาติก หรือลิ้นหัวใจพิการ โรคหัวใจเป็นแต่กำเนิด โรคโลหิตจาง การดื่มเหล้ามาก ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคติดเชื้อไวรัส ได้รับยาเคมีบำบัด หรือได้รับการฉายแสง ได้รับสารพิษบางชนิด โรคการนอนหลับบางชนิด ภาวะที่เป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้มีอาการของโรคหัวใจล้มเหลวมากขึ้น เช่น ภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบอย่างเฉียบพลัน ความดันโลหิตสูง การติดเชื้อบางชนิด เช่น การติดเชื้อที่ทางเดินหายใจ ภาวะที่หัวใจเต้นเร็วหรือช้าเกินไป ภาวะได้รับน้ำมากเกินความต้องการ การขาดการรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ การรับประทานอาหารเค็มเกินไป รับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแก้ปวดบางชนิด ยากลุ่มสเตียร์รอยด์ เป็นต้น
อาการของโรคหัวใจล้มเหลว
อาการมีดังนี้ อาการเหนื่อยง่าย เวลาออกกำลังกายแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก นอนราบไม่ได้เวลากลางคืนอาจต้องลุกขึ้นมาเพื่อช่วยหายใจ ไอ ใจสั่น บวม ถ้าเป็นนาน ๆ อาจอ่อนเพลียไม่มีแรง ผอมลงได้
การตรวจวินิจฉัย
ซักประวัติ ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรค การตรวจร่างกายโดยแพทย์และการตรวจพิเศษต่าง ๆ
การตรวจพิเศษ
- การตรวจเอกซเรย์ปอด ดูว่าเงาหัวใจโตหรือไม่ และดูว่าปริมาณของสารน้ำ หรือเลือดคลั่งในช่องปอดหรือไม่
- การตรวจด้วยคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพื่อดูว่าลักษณะที่บ่งชี้ถึงหัวใจโต หรือสงสัยว่ามีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือไม่ มีหัวใจเต้นเร็วหรือช้าผิดจังหวะหรือไม่
- การตรวจด้วยเครื่องสะท้อนคลื่นเสียงหัวใจ (Echocard-iography) ดูการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจว่ามีการบีบตัว หรือคลายตัวปกติหรือไม่ มีโรคลิ้นหัวใจพิการ รวมทั้งดูว่าเยื่อหุ้มหัวใจผิดปกติหรือไม่
- การตรวจเลือด เพื่อดูระดับเกลือแร่บางชนิดในเลือด การทำงานของไต ไทรอยด์ หรือฮอร์โมนบางชนิด ปริมาณเม็ดเลือดแดง ระดับของ BNP หรือ NT pro BNP (Brain Natriuetic Peptides) ซึ่งพบว่ามีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นในภาวะหัวใจล้มเหลวสามารถวินิจฉัยและใช้ติดตามการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวได้
1. การรักษาทั่วไป
1) การควบคุมรักษา ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
2) การรักษาระยะยาว เพื่อให้ผู้ป่วยดูแลตนเองหลังกลับจาก รพ.
2.1 ควบคุมการดื่มน้ำ ไม่ควรเกิน 1.5 ลิตรต่อวัน
2.2 อาหารเค็ม จำกัดเกลือไม่เกิน 2 กรัมต่อวัน(ประมาณครึ่งช้อนชา)
2.3 การนั่งน้ำหนักทุกวัน หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่อดูว่ามีภาวะน้ำในร่างกายเกินหรือไม่ ถ้าหากน้ำหนักเกินมากกว่า 2 กิโลกรัม ภายใน 3 วัน อาจพิจารณาใช้ยาขับปัสสาวะเอง หรือมาพบแพทย์
2.4 การควบคุมน้ำหนัก ถ้าอ้วนเกินไปควรลดน้ำหนักตัวเองลงแต่ถ้าหากผอมเกินไปอาจหมายถึง การขาดสารอาหาร หรือภาวะหัวใจวายรุนแรงและเรื้อรังได้
2.5 การออกกำลังกาย โดยมีโปรแกรมการออกกำลังกายตามความเหมาะสมเป็นรายๆ ไป หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย เช่น การยกน้ำหนัก หรือการเล่นยกเวท
2.6 ระมัดระวังไม่ให้เป็นหวัดติดเชื้อง่าย
2.7 งดดื่มเหล้า และสูบบุหรี่
2.8 ควบคุมอาหารไขมัน หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ
2.9 การมีเพศสัมพันธ์ ถ้าขึ้นบันได 1 ขั้นโดยไม่เหนื่อย ก็อาจมีเพศสัมพันธ์ได้ปกติ
2.10 พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ
2.11 การเดินทาง ควรระมัดระวัง ไม่ควรไปในสถานที่สูง อากาศเบาบาง อากาศที่ร้อนขึ้นเกินไป การใช้ยามีหลายชนิด จึงไม่ได้นำมากล่าวในที่นี้ แต่สิ่งสำคัญต้องรับประทานยาสม่ำเสมอ
2. การรักษาโดยใช้เครื่องมือพิเศษ
2.1 การฝังเครื่องช็อคหัวใจ (Implantable Cardioverter-Defribrillators, ICD)
เป็นเครื่องที่ใช้ฝังเข้าไปที่ตัวผู้ป่วยเพื่อทำการรักษา หัวใจเต้นผิดจังหวะซึ่งมักจะพบได้ในภาวะหัวใจล้มเหลวที่เป็นรุนแรง โดยเครื่องจะวินิจฉัยลักษณะการเต้นของหัวใจ และทำการช็อคไปเองโดยอัตโนมัติ สามารถลดอัตราการเสียชีวิตโดยเฉียบพลันได้
2.2 การฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ CRT (Cardiac Resyn-chonization Therapy)
เป็นเครื่องที่ฝังเข้าไปในร่างกายผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวที่เป็นรุนแรง ที่มีลักษณะการนำไฟฟ้าผิดปกติทำให้การบีบตัวของหัวใจไม่สัมพันธ์กัน เพื่อให้มีการนำไฟฟ้าหัวใจที่ดีขึ้น เป็นผลทำให้หัวใจทำงานบีบตัวได้ดีขึ้น สามารถทำให้อาการผู้ป่วยดีขึ้นได้ นอนโรงพยาบาลน้อยลง และลดอัตราการเสียชีวิตได้ อุปกรณ์ชนิดนี้อาจมีการเสริมหน้าที่เป็นแบบช็อคไฟฟ้าหัวใจ เรียกว่า CRT-Defribrillator
3. การรักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ
คือการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ(CardiacTranplantation) ใช้ในกรณีที่ไม่มีทางรักษาโดยวิธีข้างต้น