ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

คำแนะนำการดูแลทารกที่คลอดก่อนกำหนด

คำแนะนำการดูแลทารกที่คลอดก่อนกำหนด Thumb HealthServ.net
คำแนะนำการดูแลทารกที่คลอดก่อนกำหนด ThumbMobile HealthServ.net

ทารกคลอดก่อนกำหนด คือ ทารกที่คลอดก่อนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์ ทารกคลอดก่อนกำหนดส่วนใหญ่จะไม่มีปัญหาสุขภาพอะไรน่าเป็นห่วงมากนัก เพียงแต่ต้องดูแลใกล้ชิดและตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะทารกจะต้องปรับร่างกายสู่โลกภายนอกมากกว่าทารกที่คลอดตามกำหนดปกติ คือทารกที่คลอดก่อนกำหนดมากหรือน้ำหนักตัวน้อยมาก เช่น ทารกคลอดอายุครรภ์ประมาณ 32-33 สัปดาห์ หรือน้ำหนักตัวตอนแรกเกิดน้อยกว่า 1.5 กิโลกรัม ซึ่งจะมีปัญหาเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนของระยะการตั้งครรภ์ที่น้อยลง


การดูแลทารกคลอดก่อนกำหนด
 
     อย่างไรก็ตามทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะมีพัฒนาการล่าช้าบ้าง  เพราะระบบสมองของทารกจะเจริญเร็วที่สุดในช่วง 6-7 สัปดาห์สุดท้ายของการตั้งครรภ์  แต่เมื่อทารกคลอดก่อนช่วงเวลานี้จึงทำให้สมองยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่มากนัก  ซึ่งแพทย์จะคอยตรวจเช็คพัฒนาการอย่างสม่ำเสมอ  เช่น การได้ยินและการมองเห็น  ส่วนการส่งเสริมพัฒนาการนั้น  คุณพ่อคุณแม่อาจกระตุ้นลูกด้วยเสียงดนตรีเบา ๆ การพูดคุยกับลูกบ่อย ๆ การใช้สีและแสงอย่างเหมาะสมด้วย
 
 
ปัญหาของทารกที่คลอดก่อนกำหนด
 
- ตัวเย็น เนื่องจากทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะตัวเล็กและตัวเย็นได้ง่าย  จึงจำเป็นต้องคอยควบคุมอุณหภูมิของร่างกายให้อบอุ่น  โดยอาจจะใช้ตู้อบเป็นเครื่องมือหลักในการกำหนดอุณหภูมิ
 
 
- หายใจลำบาก ทารกคลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักน้อย  เช่น ทารกคลอดก่อนกำหนดที่น้ำหนักตัวแรกคลอดเพียง 1 กิโลกรัม  มักจะมีปัญหาการหายใจ  และต้องใช้เครื่องช่วยหายใจช่วย  เพราะปอดยังทำงานได้ไม่เต็มที่
 
 
- ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ เนื่องจากการคลอดก่อนกำหนดทำให้ทารกตัวเย็นได้ง่าย  จึงต้องดึงเอาสารสะสมที่เก็บไว้เป็นพลังงานมาสร้างอุณหภูมิร่างกายให้อยู่ในระดับ 37๐C ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลงได้
 
 
- ติดเชื้อได้ง่าย ภูมิคุ้มกันของทารกนั้นมักจะได้จากแม่ในช่วงระยะท้ายชองการตั้งครรภ์  ทารกคลอดก่อนกำหนดจึงมีโอกาสติเชื้อมากกว่าทารกปกติถึง 4 เท่า
 
 
- ตัวเหลือง เนื่องจากการทำงานของตับในทารกคลอดก่อนกำหนดยังไม่สมบูรณ์  ทำให้ทารกมีอาการตัวเหลืองนานกว่าทารกที่คลอดตามกำหนด  และอาการตัวเหลืองนี้จะพบมากโดยเฉพาะในคนเอเชีย
 
 
- การดูดกลืน ร่างกายของทารกยังทำงานประสารการดูดกลืนและการหายใจไม่ค่อยดี  ทำให้มีโอกาสสำลักนมได้บ่อย ๆ 
 
 
- น้ำคั่งในสมอง ส่วนใหญ่ก็จะหายไปเองได้  แต่อาจมีทารกบางกลุ่มที่เมื่อโตขึ้นเรื่อยๆ หัวจะดูโตกว่าคนอื่นนิดหน่อย เพราะถุงน้ำในสมองจะใหญ่กว่าคนปกติ  แต่ไม่มีปัญหาด้านพัฒนาการ
 
 
 
- ลำไส้เน่าตายอย่างเฉียบพลัน ลำไส้ทารกคลอดก่อนกำหนดอาจเน่าขึ้นมาโดยไม่มีทางป้องกัน  และเกิดได้โดยไม่ทราบสาเหตุ  สามารถแสดงอาการได้หลายประเภท  เช่น  ลำไส้ขาดเลือดชั่วคราว  ลำไส้ตายแต่ไม่ทะลุ  และลำไส้ทะลุ
 
 
 
ข้อแนะนำในการดูแลทารกคลอดก่อนกำหนดที่บ้าน
 
1. ควรจัดสถานที่สภาพแวดล้อมสะอาด  โปร่ง  ไม่อับมีอากาศถ่ายเทสะดวก  พ้นจากเสียงรบกวนต่าง ๆ 
 
2. คุณแม่ควรให้นมลูกบ่อย ๆ เนื่องจากทารกมักมีอาการอยากนอนอยู่ตลอดเวลา  ควรปลุกให้ลูกดูดนมอยู่เรื่อย ๆ เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารจากนมแม่ได้อย่างเต็มที่  เพื่อการพัฒนาร่างกายที่สมบูรณ์
 
3. ระบบการย่อยและการดูดซึมของทารกยังมีน้อยมากเมื่อรับนมแม่เสร็จ  คุณแม่ควรดูแลลูกน้อยไม่ให้สำรอกนมหรือแหวะนม  หรืออาเจียน  โดยการจัดท่าให้ลูกน้อยเรอออกได้โดยง่าย  ซึ่งจะช่วยลดอาการท้องอืดได้ด้วย
 
4. ดูแลให้ลูกอบอุ่นอยู่เสมอ  เนื่องจากเด็กจะมีภาวะตัวเย็นได้ง่าย  ซึ่งจะมีผลทำให้ลูกไม่สบายบ่อย  หากลูกมีอาการตัวร้อน  มีน้ำมูก หรือมีเสมหะ  คุณแม่ต้องรีบพาลูกน้อยไปโรงพยาบาลด่วน
 
5. คุณแม่อาจจะกระตุ้นพัฒนาการของลูกโดยการเปิดเพลงบรรเลงเบา ๆ หรือแขวนกรุ๊งกริ๊งไว้ให้ลูกน้อยมอง  หรืออยากไขว่คว้า  เนื่องจากเด็กที่คลอดก่อนกำหนดจะมีพัฒนาการที่ช้ากว่าเด็กที่คลอดตามกำหนดประมาณ 2-3 เดือน  แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ  ด้วย
 
6. ไม่ควรนำทารกไปในที่ที่มีผู้คนแออัด  อากาศถ่ายเทไม่ดีก่อนสัมผัสหรืออุ้มลูกน้อย  คุณแม่ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง  รวมทั้งรักษาความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก  เพราะเชื้อโรคต่าง ๆ อาจแฝงมากับของเยี่ยมที่ญาติ ๆ นำมา  คุณแม่ไม่ควรนำมาไว้ในห้องเดียวกับที่ลูกอยู่
 
7. หากลูกน้อยมีอาการถ่ายเหลว  ถ่ายเป็นมูก  หรือมีความผิดปกติทางด้านผิวหนัง  อาจมีตุ่มพุพองโดยไม่ทราบสาเหตุ  หรือผิวหนังแห้ง  ลูกไม่ยอมดูดนม หรือน้ำ  คุณแม่ควรพาไปโรงพยาบาลเพื่อให้กุมารแพทย์ตรวจวินิจฉัยอีกครั้ง
 
8. เมื่อครบกำหนดตรวจสุขภาพของลูกน้อย  คุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ให้ตรงเวลา  และสม่ำเสมอ  เพื่อการติดตามที่ต่อเนื่องของคุณหมอ  ซึ่งหากมีความผิดปกใด ๆ เกิดขึ้นจะได้แก้ไขได้ทันท่วงที
 
9. เรื่องนี้ค่อนข้างสำคัญ  คุณแม่ควรบอกกล่าวกับญาติ ๆ หรือคนอื่น ๆ ที่จะเข้าเยี่ยมลูกน้อย  หรืออยากมาอุ้มว่าลูกของคุณแม่ไม่เหมือนกับเด็กที่คลอดตามกำหนดซึ่งลูกของคุณอาจจะได้รับเชื้อจากผู้ที่มาเยี่ยมได้ง่าย  เนื่องจากยังไม่มีภูมิต้านทานที่ดี   ซึ่งหากคุณแม่มีลูกอีกคนที่อยู่ในวัยกำลังซนด้วยแล้ว  ยิ่งอาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้เนื่องจากลูกอีกคนที่วัยกำลังซน  ยังไม่เข้าใจสภาวะที่น้องเกิดใหม่  คุณแม่ต้องให้ความสำคัญเรื่องนี้อย่างมาก
 
            ด้วยความปรารถนาดี จากศูนย์สูตินรีเวช รพ.วิภาวดี

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด