ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ไขมันสะสมในตับ คืออะไร

ไขมันสะสมในตับ คืออะไร

ภาวะไขมันสะสมในตับ 
         หมายถึง ภาวะที่มีการสะสมของไขมัน โดยเฉพาะอยู่ในรูปของTriglyceride อยู่ในเซลล์ตับโดยที่คนๆนั้นไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์หรือดื่มในปริมาณน้อย (ปกติคนที่ดื่มสุรามานานจะมีการ พอกของเซลล์ไขมันในตับ) ซึ่งทางการแพทย์เรียกภาวะนี้ว่า Non-Alcoholic Fatty Liver Disease (NAFLD) เซลล์ไขมันนี้จะไม่ก่อให้เกิดการเสียหายหรืออักเสบกับตับในระยะแรก แต่ก็มีผู้ป่วยบางส่วนที่ไขมันทำให้เกิดการอักเสบของตับในที่สุดก็จะเป็นตับแข็ง พบว่าร้อยละ 5-8 ของผู้ป่วยไขมันพอกตับจะกลายเป็นตับอักเสบ ตับแข็งและอาจพัฒนาไปจนถึงขั้นเป็นมะเร็งตับในที่สุด
 
 
ประชากรชาวเอเชียพบได้ร้อยละ 15 ของประชากรทั่วไป โดยมีความชุกร้อยละ 3.9-6 ในเด็กและวัยรุ่นซึ่งจะพบมากขึ้นในประชากรที่มีลักษณะทางคลินิกของกลุ่มโรคเมตาโบลิก ได้แก่ โรคอ้วน , เบาหวาน, ความดันโลหิตสูง ,ไขมันในเลือดสูง
 
 
การดำเนินของโรค
 
ผู้ป่วยโรคไขมันสะสมในตับ ที่มีเพียงการสะสมของไขมันในเนื้อตับเท่านั้นโดยยังไม่มีการอักเสบของตับ มีอัตราการรอดชีวิตไม่ต่างจากประชากรทั่วไปในเพศและวัยเดียวกัน แต่ในผู้ป่วยที่การอักเสบภายในตับ (NASH)  คือผู้ป่วยที่มีตับแข็งก็อาจตรวจเจอลักษณะของโรคตับเรื้อรังหรือ ตับแข็งร่วมด้วย การเจาะเลือดดูการทำงานของตับอาจจะพบค่า AST กับค่า ALT สูงกว่าปกติประมาณ 1.5-4 เท่า อาจจะมีค่าALP สูงขึ้นเล็กน้อยส่วนค่าอื่นๆ มักจะอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยภาวะ NASH นี้จะมีอายุสั้นกว่าผู้ป่วยที่มีไขมันสะสมในตับเท่านั้น
 
ผู้ป่วยที่มีอาการอักเสบในตับ ร้อยละ 32-41 ที่มีการอักเสบ จะมีพังผืดสะสมในตับเพิ่มมากขึ้นในเวลา 4-14 ปี,ร้อยละ 9 จะดำเนินเข้าสู่ตับแข็งและร้อยละ 2 ของผู้ป่วยตับแข็งจะเกิดมะเร็งตับแทรกซ้อนในเวลาเฉลี่ย 14 ปี
 
ผู้ป่วยโรคไขมันสะสมในตับ มักมีความสัมพันธ์โดยตรงกับกลุ่มโรคเมตาโบลิก ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดแดงแข็งเป็นเหตุให้มีอุบัติการณ์การทุพพลภาพและเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองมากเป็นอันดับหนึ่ง
 
 
การวินิจฉัย
 
ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ มักจะตรวจพบโดยบังเอิญจากการมาเจาะเลือดเช็คสุขภาพ ในบางรายอาจมีอาการปวดแน่นบริเวณใต้ชายโครงขวา ในบางรายอาจจะมีอาการอ่อนเพลียง่าย แต่บางรายอาจจะมีความรู้สึกจุกแน่นที่บริเวณช่องท้อง ด้านขวาส่วนบน ตรวจร่างกายพบตับโตตรวจภาพอัลตร้าซาวด์ช่องท้องพบไขมันสะสมในตับ แต่อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันสะสมในตับ หากมีการสะสมของไขมันในเนื้อตับน้อยกว่าร้อยละ 30 ของปริมาตรตับอาจไม่พบลักษณะดังกล่าว
 
                ส่วนสำคัญก่อนที่จะให้การวินิจฉัยว่าเป็นภาวะไขมันสะสมในตับ (NAFLD) แพทย์จำเป็นต้องซักประวัติเพื่อประเมินว่าปัญหาไขมันสะสมในตับไม่ได้เป็นผลจากโรคบางอย่างหรือยาบางชนิดและผู้ป่วยต้องไม่ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากกว่า 10 กรัม ต่อวันในเพศหญิงและมากกว่า 20 กรัมต่อวันเพศชาย เนื่องจากผู้ป่วยที่มีภาวะตับอักเสบจากแอลกอฮอล์ มีลักษณะของชิ้นเนื้อตับที่คล้ายกับภาวะไขมันพอกตับมาก ต้องเช็คประวัติการดื่มแอลกอฮอล์ ในการวินิจฉัย
 
การตรวจชิ้นในตับยังเป็นวิธีมาตรฐานในการวินิจฉัยค้นผู้ป่วย (NAFLD)  รายใดเป็น NASH แต่อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยโรคอ้วนและเบาหวานที่ดื่มแอลดอฮอล์ก็ส่งเสริม ให้มีไขมันภายในตับเพิ่มขึ้นได้ นอกจากนั้นผู้ป่วยควรได้รับการวินิจฉัยการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และซี ก่อนวินิจฉัยเป็น NAFLD เนื่องจากเป็นสาเหตุของโรคตับอักเสบที่พบได้บ่อยในไทย
การตรวจประเมินพังผืดตับในผู้ป่วย NAFLD
 
            ในผู้ป่วยโรคไขมันเกาะตับหากมีภาวะตับอักเสบ หรือมีพังผืดในเนื้อแล้วจะนำไปสู่ภาวะตับแข็ง และเกิดมะเร็งตับในที่สุด วิธีมาตรฐานที่ใช้ในการประเมินพังผืดตับ คือ การตรวจชิ้นตับโดยการเจาะตับ แต่เนื่องจากเป็นวิธีการตรวจที่ค่อนข้างรุนแรงและผู้ป่วยต้องเจ็บตัว จึงไม่นิยมใช้ในปัจจุบัน ยกเว้น มีข้อบ่งชี้ที่จำเป็นในการตรวจ เช่น สงสัยตับอักเสบจากภูมิคุ้มกัน ตับอักเสบไม่ทราบสาเหตุ โรคตับคั่งน้ำดี หรือตับแข็งที่หาสาเหตุไม่พบ ปัจจุบันมีวิธีการตรวจที่ไม่รุนแรง (Non Invasive) โดยการตรวจพังผืดโดยใช้เครื่อง Fibroscan หรือ Transient Elastograply ซึ่งตรวจวัดความยืดหยุ่นของเนื้อตับและสามารถประเมินความรุนแรงของพังผืดที่เกิดขึ้นในตับได้ หลักการจะใช้คลื่นที่สะท้อนกลับจากเนื้อตับ แล้วนำมาคำนวณ shock wave velocity ที่สะท้อนกลับ ซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงกับความหนาแน่นของพังผืดตับบริเวณดังกล่าว นอกจากนั้นสามารถวัดค่า Controlled attenuation parameter (CAP) ซึ่งมีความสัมพันธ์กับไขมันคั่งในตับ โดยมีค่าการตรวจระหว่าง 100 – 400 dB/m สามารถใช้วินิจฉัยไขมันคั่งตับที่ระดับความรุนแรงต่างๆ
 
 
การรักษา
 
ผู้ป่วยมักจะมีปัญหาน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนจึงแนะนำ การลดน้ำหนัก เป็นสิ่งที่สำคัญและได้ประโยชน์มากที่สุด ซึ่งควรลดน้ำหนักโดยการควบคุมปริมาณและคุณภาพอาหารกล่าวคือ หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีไขมันสูง เช่น นม เนย กะทิ อาหารทะเลไข่แดง และเนื่องจาก Triglyceride เป็นตัวสำคัญที่สะสมคั่งในตับก็ต้องพยายามหลีกเลี่ยง  ไม่รับประทานอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลมากเกินไป ควรลดปริมาณอาหารลงด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมื้อเย็น ทั้งนี้พึงระวังว่าไม่ควรลดน้ำหนักด้วยวิธีการงดอาหาร และไม่ควรลดน้ำหนักเร็วเกินไป โดยทั่วไปแนะนำให้ลดน้ำหนักลง ประมาณร้อยละ 7-10 จากน้ำหนักเดิมและถ้าสามารถทำให้ดัชนีมวลกายของผู้ป่วยลดลงมาอยู่ในเกณฑ์ปกติน้อยกว่า 25 กก./ม.2 ก็จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด นอกจากนี้ยังพบว่าการรักษากลุ่มโรคเมตาโบลิกอื่นๆ ที่พบร่วมด้วยโดยการควบคุมระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดให้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด รวมภาวะความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และหลีกเลี่ยงการดื่มสุราก็ช่วยให้การรักษาเป็นไปได้ง่ายขึ้น โอกาสหายจากโรคก็จะมีมากขึ้นที่สำคัญออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
 
ด้วยความปรารถนาดีจาก
ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหาร
รพ.วิภาวดี
02-561-1111 ต่อ 4525

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด