"สิทธิเบิกจ่ายตรง" ค่ารักษาพยาบาล คืออะไร?
ก่อนอื่นขอพามาทำความรู้จักกับโครงการเบิกจ่ายตรงสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการกันก่อน สิทธิเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาล เป็นโครงการแบบสมัครใจ หมายความว่าผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวไม่ต้องการทดรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อน หรือไม่อยากยุ่งยากที่ต้องเดินทางไปขอหนังสือรับรองจากต้นสังกัด ก็สามารถสมัครเข้าโครงการเบิกจ่ายตรงนี้ได้
โดย “กรมบัญชีกลาง” จะเป็นผู้ดำเนินการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวให้กับสถานพยาบาล แทนส่วนราชการต่างๆ ซึ่งจะมีการส่งข้อมูลทั้งข้อมูลผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัว ข้อมูลการรักษาพยาบาล และข้อมูลการจ่ายเงิน ที่ดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ครอบคลุมทั้งระบบการเบิกจ่ายตรงผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยใน
เมื่ออยากใช้สิทธิ มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง?
สำหรับขั้นตอนการใช้สิทธิ ผู้ป่วย "ต้อง" ไปตรวจสอบสถานพยาบาลก่อน รวมถึงโรคที่จะรักษาและประมาณการส่วนร่วมจ่ายก่อน โดยสามารถไปตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์กรมบัญชีกลาง http://www.cgd.go.th หลังจากนั้นติดต่อสถานพยาบาลที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ โดยสถานพยาบาลจะสรุปรายการส่วนเกินที่ต้องชำระ หรือส่วนที่เบิกกรมบัญชีกลางไม่ได้ ทั้งนี้หากผู้ป่วยตกลงเข้ารับการรักษา จะต้องลงนามในหนังสือเพื่อยืนยัน แต่ถ้าหากไม่ประสงค์ที่จะเข้ารับการรักษา ก็สามารถปฏิเสธได้ด้วยเช่นกัน
และในกรณีที่มีรายการส่วนเกินที่ต้องชำระ เมื่อออกจากสถานพยาบาล สถานพยาบาลนั้นจะเรียกเก็บส่วนเกินจากผู้ป่วย และผู้ป่วยไม่สามารถนำใบเสร็จรับเงินมาเบิกจากทางราชการได้ ส่วนที่เบิกได้นั้น สถานพยาบาลจะวางเบิกจากกรมบัญชีกลางโดยตรง
เนื่องจากปัจจุบันมีข้อมูลในฐานข้อมูลบุคลากรภาครัฐที่ใช้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการจำนวนมาก ที่ไม่ได้รับการตรวจสอบและปรับปรุง แก้ไข หรือเพิ่มเติมข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน จากทั้งผู้มีสิทธิและนายทะเบียนของส่วนราชการต้นสังกัด ส่งผลให้ข้อมูลใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการจากข้อมูลบางส่วนมีความคลาดเคลื่อน ในกรณีเป็นผู้ไม่มีสิทธิแล้ว กรมบัญชีกลางได้ดำเนินการระงับสิทธิในระบบเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาล และเรียกเงินคืน
โดยสามารถตรวจสอบสิทธิได้จาก 2 ช่องทาง คือ
- แอพพลิเคชั่น CGDiHealthCare โดยสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นบน App Store หรือ Google Play
- เว็บไซต์ กรมบัญชีกลาง
โดยลงทะเบียนในระบบการยื่นขอรับบำเหน็จบำนาญด้วยตนเองทางอิเล็กทรอนิกส์ หากผู้มีสิทธิตรวจสอบแล้วพบว่าข้อมูล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หรือ e-mail address ไม่ถูกต้อง ก็สามารถปรับปรุง แก้ไข ได้ด้วยตนเอง หากเป็นการแจ้งข้อมูลการจดทะเบียนหย่า หรือมีการเปลี่ยนแปลง ชื่อ สกุล ขอให้แจ้งนายทะเบียนต้นสังกัด เพื่อปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องเป็นปัจจุบัน
ใครได้สิทธิบ้าง?
ขณะเดียวกันข้อมูลจากกรมบัญชีกลางระบุว่า ผู้มีสิทธิจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
- ข้าราชการและลูกจ้างประจำ ซึ่งได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างประจำจากเงินงบประมาณรายจ่าย งบบุคลากรของกระทรวง ทบวง กรม แต่ไม่รวมข้าราชการตำรวจชั้นพลตำรวจ ซึ่งอยู่ระหว่างรับการศึกษาอบรมในสถานศึกษาของสำนักงานตำรวจก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ราชการประจำ
- ลูกจ้างชาวต่างประเทศ ที่มีหนังสือสัญญาจ้างที่ได้รับค่าจ้างจากเงินงบประมาณรายจ่ายและสัญญาจ้างนั้น ที่ไม่ได้มีการระบุเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลไว้
- ผู้ได้รับบำนาญปกติหรือผู้ได้รับบำนาญพิเศษเพราะเหตุทุพพลภาพตามกฎหมายวาด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และทหารกองหนุน มีเบี้ยหวัดตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยเงินเบี้ยหวัด
ขณะเดียวกันในส่วนของผู้มีสิทธิที่เป็น "บุคคลในครอบครัว" ประกอบด้วย บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้มีสิทธิซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือบรรลุนิติภาวะแล้วแต่เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ ที่อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีสิทธิ แต่ไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม รวมถึงคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้มีสิทธิ และบิดาหรือมารดา
Source :
Bangkok Biz news June 2020