ปกติแล้วสัตว์ทะเลจะพบปริมาณของฟอร์มาลินที่มีในธรรมชาติส่วนใหญ่จะมีปริมาณไม่เกิน 1 พีพีเอ็ม (ส่วนในล้านส่วน) ซึ่งไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพผู้บริโภค ในขณะที่ฟอร์มาลินที่จงใจฉีดหรือแช่ในผักหรือเนื้อสัตว์นั้น หากใช้ปริมาณมากเกินไปและมีการตกค้างย่อมเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคแน่นอน
สำหรับประเทศไทยฟอร์มาลิน (Formalin) จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และเป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 391 (พ.ศ. 2561) การกินอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลินในปริมาณมากถึง 30-60 มิลลิลิตร จะทำให้เกิดอาการปวดท้องรุนแรง อาเจียน ท้องเดิน หมดสติ และอาจเสียชีวิต
พิษของฟอร์มาลินที่เกิดจากการสัมผัสพบว่าจะทำให้เกิดผื่นคัน ผิวหนังเป็นสีขาว หยาบและแข็ง หากอยู่ในรูปของแก๊สฟอร์มาลดีไฮด์จะมีผลต่อระบบทางเดินหายใจทำให้แสบจมูก ไอ ตาแดง น้ำตาไหล หายใจไม่ออก เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจส่วนบน ปอดอักเสบ น้ำท่วมปอด หรือมีผลต่อระบบประสาทเหมือนการได้รับพิษจากแอลกอฮอล์ ถ้าสูดดมในปริมาณมากอาจถึงตายได้
วิธีสังเกตอาหารที่มีฟอร์มาลินคือ เมื่อลองดมแล้วมีกลิ่นฉุนแสบจมูก หรือลักษณะภายนอกแปลกไป เช่น ปลาเมื่อเปิดเหงือกดูมีสีแดงเข้มและสดผิดปกติ ตากลมใส ลำตัวแข็งวาว ทั้งที่ไม่ได้แช่เย็น แต่เมื่อนำมาประกอบอาหารเนื้อปลาจะเละ หรือกุ้งจะพบว่าเนื้อกุ้งมีทั้งส่วนที่แข็งสด และมีส่วนที่เปื่อยยุ่ยในตัวเดียวกัน ให้หลีกเลี่ยงการซื้อมาบริโภค เพราะหากเป็นอาหารสดต้องสดเสมอกัน ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งเปื่อยหรือส่วนใดส่วนหนึ่งแข็งสด และการใช้ชุดตรวจสารฟอร์มาลินในอาหารก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยได้ โดยตรวจหาระดับการปนเปื้อนที่ความเข้มข้นต่ำสุดคือ 0.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (ppm) หากน้ำที่ใช้ทดสอบให้ผลสีชมพูจนถึงสีแดง แสดงว่ามีการปนเปื้อนของสารฟอร์มาลินมากกว่า 0.5 ppm (ผลบวก)
วิธีเลี่ยงอันตรายจากสารฟอร์มาลิน
- ก่อนนำอาหารสดมาประกอบอาหาร ควรล้างให้สะอาด เพราะฟอร์มาลินส่วนมากจะถูกชะล้างออกไปหมดเนื่องจากมีคุณสมบัติละลายน้ำได้ดี และควรปรุงอาหารให้สุกก่อนบริโภคเพราะความร้อนจะทำให้ฟอร์มาลินระเหยออกไป
- การดมกลิ่นจะทำให้ทราบว่าอาหารนั้นมีฟอร์มาลินหรือไม่ ถ้าอาหารนั้นมีกลิ่นแสบจมูกให้สันนิษฐานว่าน่าจะมีฟอร์มาลินปนเปื้อนอยู่
หากพบการเติมฟอร์มาลินลงในอาหาร และผลการตรวจวิเคราะห์พบฟอร์มาลินในปริมาณที่สูงจนอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค จะเข้าข่ายเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ที่ไม่เพียงแต่จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ยังมีโทษตามกฎหมายด้วย ทั้งนี้หากพบเห็นอาหารที่ไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ได้รับความปลอดภัย สามารถร้องเรียนมาได้ที่สายด่วน อย. โทร.1556
ตรวจพบแคดเมียมเกินมาตรฐานในเนื้อปลาหมึกกล้วยยักษ์
ก่อนหน้านี้ (
17 ก.พ.66) อย. ได้เปิดเผยรายงาน การตรวจพบปริมาณแคดเมียมเกินมาตรฐาน ในผลิตภัณฑ์เนื้อปลาหมึกกล้วยยักษ์แช่เย็นจนแข็ง (FROZEN SQUID MEAT) ได้สุ่มเก็บตัวอย่างอาหาร ณ ด่านอาหารและยาลาดกระบัง “ผลิตภัณฑ์เนื้อปลาหมึกกล้วยยักษ์แช่เย็นจนแข็ง (FROZEN SQUID MEAT)” ผลิตโดย FUJIAN YUYONGFA AQUATIC SEAFOOD CO., LTD. นำเข้าโดย บริษัท ทะเลไทย ฟู้ด จำกัด จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ไม่ระบุรุ่นการผลิต วันผลิตและวันหมดอายุ น้ำหนักสุทธิ 10 กิโลกรัม ต่อถุง ผลการตรวจวิเคราะห์จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบแคดเมียม 5.94 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (มาตรฐานกำหนดต้องไม่เกิน 2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) เข้าข่ายเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์และอาหารผิดมาตรฐานตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคอย่างชัดเจน ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาอยู่ระหว่างดำเนินการตามกฎหมายกับผู้นำเข้าต่อไป และมีข้อแนะนำ สำหรับเตือนผู้บริโภคไว้ว่า หากพบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในท้องตลาดให้ระมัดระวังอย่าซื้อ “ผลิตภัณฑ์เนื้อปลาหมึกกล้วยยักษ์แช่เย็นจนแข็ง (FROZEN SQUID MEAT)” ที่ฉลากระบุรายละเอียดดังกล่าวข้างต้นมารับประทาน