สถานการณ์โควิดทำให้เราได้เรียนรู้และเกิดพฤติกรรมวิถีชีวิตปกติรูปแบบใหม่หลายด้าน พฤติกรรมหนึ่งที่สำคัญที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับธุรกิจจากโควิด คือพฤติกรรมการซื้อของหรืออาหารจากธุรกิจดีลิเวอรี่ (บริการส่งถึงบ้าน)
“เรื่องกินเรื่องใหญ่” สำหรับคนไทยหรือคนชาติไหนก็สำคัญ พฤติกรรมการกินของคนไทยแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบหลัก ๆ คือ นั่งที่ร้าน ร้านสะดวกซื้อ และดีลิเวอรี่ พบว่าในช่วงเดือนที่โควิดมาแรงพฤติกรรมนั่งกินที่ร้าน และร้านสะดวกซื้อ ลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ดีลิเวอรี่ได้รับความนิยมสูงสุด
พฤติกรรมการซื้อของดีลิเวอรี่ (Delivery) เพื่อลดความเสี่ยงในการติดหรือแพร่เชื้อโควิด มีข้อแนะนำ 4 ข้อป้องกัน ดังนี้
- ผู้ประกอบการที่จัดบริการอาหารแบบดีลิเวอรี่
ติดตามสถานการณ์การป้องกันโรค และให้ความรู้หรือประชาสัมพันธ์แก่ผู้ขนส่งอาหาร เมื่อไปส่งอาหารให้ลูกค้าให้ใช้วิธีการส่งอาหารแบบ Personal Distancing ยืนห่างจากลูกค้าอย่างน้อย 1 เมตร และห้ามวางอาหารบนพื้น
- ร้านอาหารให้บริการอาหารในรูปแบบดีลิเวอรี่
ร้านอาหารต้องสะอาด ถูกสุขลักษณะ อาหารปรุงสำเร็จ ต้องปรุงสุกใหม่ สำหรับอาหารประเภทเนื้อสัตว์ปรุงให้สุกด้วยความร้อนไม่น้อยกว่า 70 องศาเซลเซียส นานกว่า 5 นาที หลีกเลี่ยงการจำหน่ายอาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก
- ผู้ขนส่งอาหารดีลิเวอรี่
ต้องลงทะเบียนกับผู้ประกอบการที่จัดบริการอาหารแบบดีลิเวอรี่ สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยระหว่างปฏิบัติงาน ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ก่อนเข้าร้านอาหาร ก่อนและหลังการส่งอาหาร
- ผู้สั่งซื้ออาหาร/ผู้บริโภค
ให้จัดเตรียมภาชนะรองรับอาหาร เช่น กล่องหรือโต๊ะแบบพับได้ และให้ยืนห่างจากผู้ขนส่งอาหารอย่างน้อย 1 เมตร ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดมือ หลังการรับอาหารจากคนขนส่งอาหาร และควรจ่ายค่าบริการโดยวิธี E-Payment หรือเตรียมเงินสดให้พอดีเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสเงินทอน และควร “งด” รับช้อนส้อมพลาสติกเพื่อลดการสัมผัสและรักษาสิ่งแวดล้อม
สั่งอาหารดีลิเวอรี่ (Delivery) อย่างปลอดภัยห่างไกลโควิด-19 ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ เน้นปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข สวมหน้ากาก หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่าง กินอาหารปรุงสุก เพื่อให้ปลอดภัยและห่างไกลจากโควิด-19
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
14 มกราคม 2564