ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่ และภาพรวม ปี 2563

ภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่ และภาพรวม ปี 2563 Thumb HealthServ.net
ภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่ และภาพรวม ปี 2563 ThumbMobile HealthServ.net

สรุปสาระสำคัญของรายงาน โดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอต่อคณะรัฐมนตรี วันที่ 23 มีนาคม 2564

ภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่และภาพรวม ปี 2563 

สรุปสาระสำคัญของรายงาน โดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอต่อคณะรัฐมนตรี วันที่ 23 มีนาคม 2564 ดังนี้

1. การเคลื่อนไหวทางสังคมไตรมาสสี่และภาพรวม ปี 2563  

1.1 การจ้างงานปรับตัวดีขึ้น แต่อัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูงและชั่วโมงการทำงานยังต่ำกว่าภาวะปกติ

ไตรมาสสี่ ปี 2563 มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 38.3 ล้านคน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2) อัตราการว่างงานมีแนวโน้มดีขึ้น คิดเป็นร้อยละ 1.86 (ลดลงจากร้อยละ 1.95 และ 1.90 ในไตรมาสสองและไตรมาสสามตามลำดับ) เช่นเดียวกันกับผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานรายใหม่มีจำนวนลดลงมากจาก 171,987 คน ในเดือนพฤษภาคม 2563 เหลือ 64,760 คน ในเดือนธันวาคม 2563 สะท้อนให้เห็นถึงการจ้างงานในระบบที่ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี ตลอดปี 2563 ตลาดแรงงานได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มและชั่วโมงการทำงานลดลงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติ (45.4 ชั่วโมง/สัปดาห์) ทั้งนี้ จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนช่วงครึ่งปี 2563 พบว่า ครัวเรือนมีรายได้ 23,615 บาท ลดลงจากปี 2562 ที่มีรายได้ 26,371 บาท (ลดลงร้อยละ 10.45) 
 
                             ปัจจัยเสี่ยงด้านแรงงานปี 2564 ได้แก่
(1) ความไม่แน่นอนของการระบาดของโควิด – 19 ระลอกใหม่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นตัวจากการระบาดในระลอกแรก โดยหากยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดและมีความล่าช้าในการได้รับวัคซีน กลุ่มแรงงานอาจได้รับผลกระทบรุนแรงและยาวนานขึ้น

(2) สถานการณ์ภัยแล้ง เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 ทำให้ปริมาณน้ำต้นทุนปี 2564 มีน้อย จึงอาจเกิดภาวะขาดแคลนน้ำและส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกของเกษตรกร

(3) การขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะกลุ่มทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีมากขึ้น แต่การยก/เปลี่ยนระดับทักษะแรงงานยังไม่ตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าว

ทั้งนี้ จากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ จึงควรมีแนวทางการบริหารจัดการตลาดแรงงาน ประกอบด้วย
(1) การรักษาระดับการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง โดยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าถึงนโยบายการเสริมสภาพคล่องของภาครัฐเพื่อรักษาการจ้างงาน และฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เกิดการจ้างงานและประชาชนเข้าถึงงานได้มากขึ้น

(2) การจัดเตรียมมาตรการรองรับปัญหาภัยธรรมชาติที่จะส่งผลกระทบต่อแรงงานภาคการเกษตร โดยวางแผนการผลิตสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำในพื้นที่ รวมทั้งส่งเสริมอาชีพเสริม การเข้าถึงเงินทุน และการตลาด และ

(3) การสนับสนุนการพัฒนาทักษะ ปรับทักษะ และสร้างทักษะใหม่ ให้กับแรงงาน โดยฝึกอบรมพัฒนาทักษะแรงงานและส่งเสริมการเข้าถึงบริการเรียนรู้ออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ของภาครัฐ 
 
1.2 หนี้สินครัวเรือนขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่คุณภาพสินเชื่อยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด  

หนี้สินครัวเรือนในไตรมาสสาม ปี 2563 มีมูลค่า 13.77 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 3.9 ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน (ร้อยละ 3.8) หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 86.6 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นตามเศรษฐกิจที่หดตัวจากผลของการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ปรับตัวดีขึ้น โดยไตรมาสสาม ปี 2563 ยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพื่อการอุปโภคบริโภคมีมูลค่า 144,329 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.91 ของสินเชื่อรวม ลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 3.12 ซึ่งเป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือและการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อชะลอการด้อยคุณภาพของสินเชื่อ ทำให้ภาพรวมคุณภาพสินเชื่อทุกประเภทดีขึ้น ทั้งนี้ ในระยะถัดไปคาดว่าหนี้สินครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนเนื่องจากมีมาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐและเศรษฐกิจโดยรวมเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 ระลอกใหม่ จะส่งผลกระทบต่อรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนเพิ่มขึ้น และเป็นความท้าทายในการหาแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้เพื่อไม่ให้มีปัญหาสภาพคล่อง ดังนั้น อาจต้องพิจารณาดำเนินการ ดังนี้

(1) การปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ที่เคยได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว ควบคู่กับการปรับโครงสร้างหนี้รายใหม่

(2) การจำแนกลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ระลอกใหม่ ออกจากลูกหนี้กลุ่มอื่น เพื่อไม่ให้กลุ่มลูกหนี้ที่ไม่มีปัญหาทางการเงินเข้ารับมาตรการช่วยเหลือ และ

(3) การให้ความช่วยเหลือกลุ่มครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยเป็นพิเศษ เนื่องจากการลดลงของรายได้อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อการดำรงชีพ  

1.3 ความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญอื่น ๆ ได้แก่

(1) การเจ็บป่วยโดยรวมลดลงในเกือบทุกโรค คิดเป็นร้อยละ 51.9 เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก และปอดอักเสบ เนื่องจากประชาชนมีการป้องกันตนเองจากการแพร่ระบาดของโควิด – 19 แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก ในกลุ่มเด็กเล็ก เนื่องจากมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว

(2) การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงร้อยละ 4.7 เนื่องจากภาครัฐได้มีมาตรการปิดสถานบันเทิงและห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากการแพร่ระบาดของโควิด – 19

(3) คดีอาญารวมลดลงร้อยละ 23.7 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม อัตราการเกิดอาชญากรรมอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นจากปี 2562 สูงถึงร้อยละ 96.5 อีกทั้งภายหลังการผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด – 19 รูปแบบการก่ออาชญากรรมด้านอื่นเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากไตรมาสสาม ปี 2563 จึงต้องให้ความสำคัญและเฝ้าระวังการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพย์ การแพร่ระบาดของสารเสพติดรูปแบบใหม่ รวมทั้งการลักลอบข้ามชายแดนเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายและการลักลอบเล่นการพนัน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ระลอกใหม่

(4) การเกิดอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตในภาพรวมลดลง โดยในไตรมาสสี่ ปี 2563 มีการรับแจ้งการเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกลดลงร้อยละ 10.7 ผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 14.1 และผู้บาดเจ็บลดลงร้อยละ 7.2 ในขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตช่วงเทศกาลปีใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 สะท้อนให้เห็นว่ายังคงต้องให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้รถและใช้ถนน สภาพแวดล้อมทางกายภาพ และการบูรณาการการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยอย่างยั่งยืน

(5) การร้องเรียนผ่านสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) เพิ่มขึ้น โดย สคบ. ได้รับการร้องเรียนเรื่องสินค้าและบริการเพิ่มจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 39.7 ซึ่งประเด็นหลักที่ได้รับการร้องเรียน คือ การขายตรงและการตลาดแบบตรง ขณะที่การร้องเรียนผ่านสำนักงาน กสทช. เพิ่มขึ้นร้อยละ 58.2 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยประเด็นหลักที่ได้รับการร้องเรียน คือ มาตรฐานและคุณภาพการให้บริการของโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ต  

2. สถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญ 

2.1 การพัฒนาทักษะดิจิทัลที่มีความสำคัญกับการทำงานในอนาคต จากการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ส่งผลให้มีอัตราการใช้อินเทอร์เน็ตสูงขึ้น ซึ่งจากการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก 2020 ระบุว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า ธุรกิจจะมีความต้องการแรงงานที่มีทักษะมากขึ้นร้อยละ 34 โดยเฉพาะในสาขาอาชีพที่เน้นการใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก ขณะที่แรงงานไทยมีทักษะด้านดิจิทัลเพียงร้อยละ 54.9 รวมถึงมีจุดอ่อนในด้านความพร้อมรองรับอนาคต การฝึกอบรมและการศึกษา และทัศนคติการปรับตัวในการทำงานในอนาคต ทั้งนี้ แนวทางการพัฒนาแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ (1) การพัฒนาทักษะของแรงงานด้านดิจิทัลให้ตรงตามความต้องการของตลาด และ (2) การยกระดับการศึกษาด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศให้เกิดการเรียนรู้และการพัฒนาตลอดชีวิต  

2.2 หลักประกันรายได้ของผู้สูงอายุ ประเทศไทย (ไทย) จะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ในปี 2566 แต่การออมในผู้สูงอายุยังไม่เพียงพอต่อการสร้างความมั่นคงในชีวิต ซึ่งรายได้พึงมีที่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในช่วงอายุ 60 - 100 ปี คือประมาณ 4.3 ล้านบาท นอกจากนี้ ระบบบำนาญของไทยยังได้รับการจัดอันดับในระดับต่ำ โดยเฉพาะในมิติด้านความเพียงพอ ดังนั้น ภาครัฐควรดำเนินการ ดังนี้ (1) ส่งเสริมการออม เพื่อสร้างหลักประกันรายได้ให้กับผู้สูงอายุ โดยการสร้างการรับรู้และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงหลักประกันให้สะดวกรวดเร็ว รวมทั้งการทบทวนฐานเงินเดือนสูงสุดในการคำนวณเงินสมทบประกันสังคมและปรับอัตราการออมเพื่อให้แรงงานสามารถออมได้มากขึ้น และ (2) เพิ่มรายได้ โดยการส่งเสริมการมีรายได้หลังเกษียณและความรู้ทางการเงิน การประกอบอาชีพตามความสามารถของผู้สูงอายุ และการเพิ่มความรู้ในการบริหารจัดการเงิน  
 

3. บทความเรื่อง พ.ร.ก. เงินกู้ ให้อะไรกับประชาชน

การออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด – 19 โดยการช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชน รวมถึงฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม และเป็นการสนับสนุนให้ไทยเข้าสู่สังคมดิจิทัลเร็วขึ้น เนื่องจากภาครัฐได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือ/เยียวยาผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังและถุงเงิน ทำให้คนไทยคุ้นเคยกับการใช้จ่ายเงินผ่านกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น อีกทั้งการลงทะเบียนขอรับสิทธิประโยชน์ในโครงการต่าง ๆ ทำให้เกิดฐานข้อมูลขนาดใหญ่ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือในการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ นอกจากนี้ การดำเนินการภายใต้พระราชกำหนดดังกล่าว ทำให้มีบทเรียนซึ่งจะนำไปสู่การปรับปรุงระบบและเตรียมความพร้อมให้สามารถรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ได้แก่

(1) การเตรียมความพร้อมในการรองรับโรคอุบัติใหม่

(2) การสร้างหลักประกันรายได้ของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ

(3) การพัฒนาฐานข้อมูลบุคคลด้านสวัสดิการสังคมให้มีความสมบูรณ์ และสามารถเชื่อมโยงการใช้ประโยชน์ระหว่างหน่วยงานได้

(4) การมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ให้มีความพร้อมรับมือต่อสถานการณ์ต่าง ๆ และ

(5) การสื่อสารประชาสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอและโปร่งใส ตลอดจนการสร้างระบบการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนทักษะให้สอดคล้องกับความต้องการของแรงงานในอนาคต

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด