ในปี 2566 กระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้สำนักงานประกันสังคมจัดทำ “โครงการดูแลสุขภาพผู้ประกันตนเชิงรุกในสถานประกอบการ” ประจำปี 2566 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับการตรวจสุขภาพเพื่อค้นหาความเสี่ยงด้านสุขภาวะและนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมป้องกันการเจ็บป่วย และศึกษาความเป็นไปได้การพัฒนาสิทธิประโยชน์ด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเชิงรุก และระบบด้านการจัดบริการและการป้องกันโรค เพื่อเป็นของขวัญให้กับพี่น้องผู้ประกันตน ตามนโยบายรัฐบาล
นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคม ได้ร่วมมือกับสถานประกอบการ และสถานพยาบาลในพื้นที่ เริ่มดำเนิน “โครงการดูแลสุขภาพผู้ประกันตนเชิงรุกในสถานประกอบการ” เพื่อค้นหาความเสี่ยงหลอดเลือดและหัวใจ เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 โดยนำร่องพร้อมกันใน 7 จังหวัด
สำนักงานประกันสังคมและรพ.ใน 7 จังหวัด
ได้แก่
1. สำนักงานประกันสังคมจังหวัดนนทบุรี ร่วมมือกับโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ รัตนาธิเบศร์ เข้าให้บริการตรวจค้นหาความเสี่ยงฯ ให้ผู้ประกันตน ณ บริษัทสักทอง (ไทย) จำกัด
2. สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสมุทรปราการ ร่วมมือกับโรงพยาบาลศิครินทร์ สมุทรปราการ เข้าให้บริการฯ ณ บจก.ไทยเม็ททอล อลูมิเนียม และบจก.อินโนเวชั่น
3. สำนักงานประกันสังคมจังหวัดระยอง ร่วมมือกับโรงพยาบาลจุฬารัตน์ระยอง เข้าให้บริการฯ ณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง
4. สำนักงานประกันสังคมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมมือกับโรงพยาบาลการุญเวชอยุธยา เข้าให้บริการฯ ณ บริษัท ฮัทชินสัน เทคโนโลยี โอเปอเรชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท แมกเนคอมพ์ พรีชิชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน)
5. สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสมุทรสาคร ร่วมมือกับโรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์ เนชั่นแนล สมุทรสาคร เข้าให้บริการฯ ณ บริษัท เจริญอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) และร่วมมือกับโรงพยาบาล ศิครินทร์ สมุทรปราการ ให้บริการฯ ที่นิคมอุตสาหกรรมสินสาคร
6. สำนักงานประกันสังคมจังหวัดปทุมธานี ร่วมมือกับโรงพยาบาลการุณเวช ปทุมธานี ให้บริการฯ ณ บริษัท ปฐวิน จำกัด
7. สำนักงานประกันสังคมจังหวัดชลบุรี ร่วมมือกับโรงพยาบาลวิภาราม อมตะนคร ให้บริการฯ ณ บจก.แวนด้าแพค และร่วมมือกับโรงพยาบาลวิภารามแหลมฉบัง ให้บริการฯ ณ บจก.เอส แอนด์ เจ อินเตอร์เนชั่นแนล และบริษัท เกียรติผล จำกัด (มหาชน)
ผู้ประกันตนในสถานประกอบการดังกล่าว จะได้รับการตรวจสุขภาพ โดยใช้โมเดลเชิงรุก คือ เน้นการค้นหาความเสี่ยงโรคหลอดเลือดและหัวใจ, แบ่งกลุ่ม ตามความเสี่ยง เสี่ยงสูง ปานกลาง และน้อย
ทั้งนี้ โรงพยาบาลจะนัดหมายประเมินเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรายบุคคลระยะเวลา 6 เดือน และติดตามผลระบบ Telemedicine พร้อมดำเนินการปรับพฤติกรรม
โครงการฯ ดังกล่าว มีเป้าหมาย ผู้ประกันตน 300,000 คน ได้รับการตรวจสุขภาพเพื่อค้นหาความเสี่ยงด้านสุขภาวะ นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมป้องกันการเจ็บป่วย เกิดต้นแบบด้านการบริการและป้องกันโรคในสถานประกอบการ โดยสามารถลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกันตนต่อหัวเฉลี่ย รายละ 910 บาท (กลุ่มเสี่ยง) 340 บาท (กลุ่มไม่เสี่ยง) วงเงิน 187.50 ล้านบาท
“โครงการดูแลสุขภาพผู้ประกันตนเชิงรุกในสถานประกอบการ” จะให้การคุ้มครองทางสังคมและสิทธิประโยชน์ด้านประกันสังคมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแก่ผู้ประกันตนทุกคน สอดคล้องกับนโยบาย ของกระทรวงแรงงาน ที่ให้การดูแลผู้ใช้แรงงาน อย่างเท่าเทียมโดย “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
"ขอให้ผู้ประกันตนมั่นใจว่าสำนักงานประกันสังคมจะดูแลผู้ประกันตน และพร้อมพัฒนางานด้านประกันสังคม ให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องบนพื้นฐานปรัชญาการพัฒนาแบบยั่งยืน เพื่อให้เกิดความมั่นคงต่อชีวิตและสุขภาพ ของผู้ประกันตนต่อไป" นายบุญสงค์ กล่าวท้ายสุด