จากจุดเริ่มต้น พัฒนาสู่อนาคตอย่างยั่งยืน 40 ปี โรงพยาบาลนครพิงค์
Part1: กว่าจะเป็นโรงพยาบาลนครพิงค์
พ.ศ. 2484 รัฐบาลในขณะนั้นได้ดำเนินการก่อสร้างรพ.ประจำจังหวัดเชียงใหม่ขึ้น บริเวณด้านนอกประตูสวนดอกโดยใช้ชื่อว่า "โรงพยาบาลนครเชียงใหม่" เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2484
ต่อมาในปี พ.ศ. 2503 รัฐบาลได้มีดำริให้จัดตั้งโรงเรียนแพทย์ขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้มีการโอนกิจการโรงพยาบาลนครเชียงใหม่ ไปสังกัดคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งในภายหลังจึงได้เปลี่ยนชื่อไปเป็น " โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่" จนถึงปัจจุบัน
นับจากนั้นเป็นต้นมา จ.เชียงใหม่จึงไม่มีรพ.ประจำจังหวัดที่สังกัดภายใต้กระทรวงสาธารณสุข เป็นเวลานานกว่า 20 ปี
จนกระทั่งปีพ.ศ. 2523 กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ทำการก่อสร้างรพ.ประจำจังหวัดแห่งใหม่ขึ้น ตั้งอยู่ที่ ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ บนพื้นที่ 76 ไร่ โดยใช้ชื่อว่า "โรงพยาบาลเชียงใหม่" มีขนาด 75 เตียง เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2523 มีนพ.อำพน ศิริบุญมา เป็นผู้อำนวยการคนแรก และเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัดเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง
พ.ศ.2533 รพ.เชียงใหม่ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "โรงพยาบาลนครพิงค์" เพื่อลดความสับสนกับโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โดยที่รพ.นครพิงค์ในขณะนั้นได้ขยายบริการเพิ่มขึ้นเป็น 256 เตียง
ความเจริญรุกคืบเข้าสู่จังหวัดเชียงใหม่ โดยที่จ.เชียงใหม่ได้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 18 ในปี พ.ศ. 2538 รพ.นครพิงค์ได้รับงบประมาณเพื่อจัดระบบการแพทย์รองรับ การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ขณะนั้นรพ.นครพิงค์ ได้มีการพัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด และขยายบริการเพิ่มเป็น 524 เตียง
รพ.นครพิงค์มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านโครงสร้างและระบบการรักษา จนกระทั่ง พ.ศ.2549 รพ.นครพิงค์ได้ผ่านการรับรองคุณภาพ HA และยังคงพัฒนาให้ผ่านการรับรองคุณภาพอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
พ.ศ.2556 รพ.นครพิงค์ได้รับการยกระดับจากโรงพยาบาลทั่วไปขึ้นเป็นโรงพยาบาลศูนย์ ขนาด 609 เตียง
ในปัจจุบัน พ.ศ.2563 โรงพยาบาลนครพิงค์เป็นโรงพยาบาลขนาด 690 เตียง (ไม่รวม ICU 104 เตียง) มีแพทย์เฉพาะทางครบทุกแผนกรวม 206 คน มีบุคลากรสหสาขาวิชาชีพรวมแล้วกว่า 2,200 คน มีผู้ป่วยนอกเข้ามารับบริการเฉลี่ยวันละ 2,300 คน ให้บริการผู้ป่วยในจ.เชียงใหม่และจ.ใกล้เคียง ทั้งในด้านการรักษาพยาบาล ส่งเสริมฟื้นฟูและป้องกันโรค ครอบคลุมตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ ไปจนถึงระดับศูนย์ความเชี่ยวชาญในหลายๆด้าน
Part 2 : จากผู้ให้บริการสู่การเป็นผู้สร้างบุคลากรทางการแพทย์
พ.ศ. 2552 รพ.นครพิงค์ได้ ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัยพะเยา ต่อมาจึงได้ก่อตั้งศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิกรพ.นครพิงค์ขึ้นเพื่อจัดการเรียนการสอนในชั้นคลินิก ให้กับนิสิตคณะแพทยศาสตร์ม.พะเยา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 จนถึงปัจจุบัน
ศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิกโรงพยาบาลนครพิงค์ได้ผลิตแพทย์ เพื่อออกไปรับใช้สังคมแล้ว 5 รุ่น 76 ท่าน นอกจากนั้นศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิกรพ.นครพิงค์ยังได้จัดการศึกษาในระดับหลังปริญญา เพื่อผลิตแพทย์เฉพาะทางใน 6 สาขา ได้แก่ สาขาศัลยศาสตร์ ศัลยศาสตร์ออโธปิดิคส์ อายุรศาสตร์ กุมารเวชศาสตร์ เวชศาสตร์ครอบครัวและเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
Part 3 : พัฒนาศูนย์ความเชี่ยวชาญ สู่อนาคตอย่างไม่หยุดยั้ง
โรงพยาบาลนครพิงค์ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องสู่การเป็นศูนย์ความเชี่ยวชาญใน 4 ด้าน ได้แก่
1.ศูนย์ความเชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ : ศูนย์โรคหัวใจโรงพยาบาลนครพิงค์ ให้บริการผู้ป่วยโรคหัวใจ ทั้งในด้านการวินิจฉัย การรักษาและการวิจัย อย่างครบวงจร มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งในด้านอายุรกรรมโรคหัวใจ กุมารแพทย์โรคหัวใจ สามารถรักษาผู้ป่วยโดยการสวนหัวใจทั้งในผู้ป่วยเด็กและผู้ใหญ่ ได้ตลอด 24 ชม. รวมไปถึงสามารถให้การรักษาโดยการผ่าตัดเปิดหัวใจ โดยศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจและทรวงอก มีการพัฒนาระบบปรึกษาผ่านเทคโนโลยีสื่อสารทางไกล เพื่อให้แพทย์ในพื้นที่สามารถปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้โดยตรง
2.ศูนย์ความเชี่ยวชาญด้านอุบัติเหตุฉุกเฉิน : พัฒนาระบบช่องทางเร่งด่วน (fast track) สำหรับผู้ป่วยอุบัติเหตุ บาดเจ็บทางสมอง หลอดเลือดสมองตีบ เพื่อลดระยะเวลาการเข้าถึงการรักษา เพื่อเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วย พัฒนาระบบการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ (sky doctor) เพื่อให้ผู้ป่วยในพื้นที่ทุรกันดาร เข้าถึงการรักษาได้รวดเร็วมากขึ้น ทำให้มีโอกาสการรอดชีวิตมากขึ้น
- สร้างห้องแยกโรคความดับลบ 8 ห้องที่ห้องฉุกเฉิน เพื่อให้มีความพร้อมในการรับมือโรคติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากขึ้น
3. ศูนย์ความเชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง : รพ.นครพิงค์ได้มีการก่อสร้างศูนย์โรคมะเร็งแห่งใหม่ขึ้นที่ บ.ขอนตาล ต.ริมใต้ อ.แม่ริม ในเนื้อที่กว่า 25 ไร่ โดยเป็นพื้นที่ที่ได้รับการบริจาคจากวัดพระนอนขอนตาล(ลัฏฐิวัน) เปิดให้บริการรักษาโรคมะเร็งอย่างครบวงจรทั้งการให้ยาเคมีบำบัด การฉายแสง ฝังแร่ โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งอายุรแพทย์โรคมะเร็ง รังสีแพทย์ด้านรังสีรักษา และศัลยแพทย์
4.ศูนย์ความเชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิดและปริกำเนิด : เพิ่มศักยภาพโดยการขยาย NICU เป็น 32 เตียง ให้การรักษา Birth asphyxia ด้วยวิธี Therapeutic Hypothermia ให้การรักษาเส้นเลือดหัวใจผิดปกติแต่กำเนิดชนิด PDA โดยการสวนหัวใจ ผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติแต่กำเนิดโดยกุมารศัลยแพทย์
ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา รพ.นครพิงค์ ได้มีการพัฒนาคุณภาพ Excellence service ในทุกๆด้านอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสู่การเป็น "ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ชั้นนำแห่งล้านนา"
รพ.นครพิงค์
26 กันยายน 2563