ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ภาวะสังคมไทยไตรมาสสาม ปี 2564 (Social situation and outlook) สภาพัฒน์ฯ

ภาวะสังคมไทยไตรมาสสาม ปี 2564 (Social situation and outlook) สภาพัฒน์ฯ Thumb HealthServ.net
ภาวะสังคมไทยไตรมาสสาม ปี 2564 (Social situation and outlook) สภาพัฒน์ฯ ThumbMobile HealthServ.net

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ออกรายงาน 44 หน้า ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2564 และนำเสนอครม. 28 ธันวาคม 2564 ความเคลื่อนไหวและสถานการณ์ทางสังคม และบทความเรื่อง โควิด-19 ภัยต่อสุขภาพ กับความยากจนและความเหลื่อมล้ำ

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอภาวะสังคมไทยไตรมาสสาม ปี 2564 (เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564) [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2561 มาตรา 20 (2) ที่บัญญัติให้ สศช. ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย และติดตามภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศและของโลก รวมทั้งปัญหาและโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม และคาดการณ์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทั้งในบริบทประเทศและโลก เพื่อจัดทำข้อเสนอในเชิงนโยบาย และมาตรการการพัฒนาประเทศหรือรองรับผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเสนอคณะรัฐมนตรี] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. ความเคลื่อนไหวทางสังคมไตรมาสสาม ปี 2564


ประกอบด้วย

1.1 สถานการณ์ด้านแรงงานไตรมาสสาม ปี 2564 พบว่า ตลาดแรงงานได้รับผลกระทบรุนแรงจากมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่เข้มงวด ส่งผลให้มีผู้ว่างงานและอัตราการว่างงานสูงสุดตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19

1.1.1 ภาพรวมการจ้างงาน ผู้มีงานทำมีจำนวนลดลงร้อยละ 0.6จากช่วงเดียวกันของปีก่อน การจ้างงานในภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มฤดูการเพาะปลูกข้าว ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 1.3 โดยสาขาที่มีการจ้างงานลดลงมาก ได้แก่ สาขาก่อสร้าง โรงแรม/ภัตตาคาร ส่วนสาขาที่ขยายตัวได้ ได้แก่ สาขาการผลิต ขายส่ง/ขายปลีก และขนส่ง/เก็บสินค้า ทั้งนี้ การว่างงานเพิ่มขึ้นสูงสุดตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 โดยมีจำนวนผู้ว่างงาน 8.7 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 2.25 ส่วนการว่างงานของแรงงานในระบบ มีผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานร้อยละ 2.47 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าและปีก่อน เนื่องจากช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการและผู้ประกันตนในพื้นที่ควบคุมสูงสุด และมีจำนวนผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย 2.1 แสนคน ในเดือนกันยายน 2564 เพิ่มขึ้นจาก 0.9 แสนคน ณ สิ้นไตรมาสก่อน

1.1.2 ประเด็นที่ต้องติดตามในระยะต่อไป ได้แก่

(1) การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยวและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งในเดือนตุลาคมที่ผ่านมามีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่และการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่จะช่วยเพิ่มการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ควรมีมาตรการเพิ่มเติม เช่น
1) การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เข้มงวด
2) การกำหนดมาตรการช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยวขนาดเล็ก และ
3) การดำเนินมาตรการอื่น ๆ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและการจ้างงาน โดยเฉพาะโครงการที่ก่อให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น

(2) ผลกระทบของอุทกภัยต่อแรงงานภาคเกษตรและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร โดยในช่วงที่ผ่านมามีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยทั้งสิ้น 33 จังหวัด รวม 225 อำเภอ ซึ่งรัฐบาลได้มีมาตรการเยียวยาเบื้องต้นจากความเสียหายของผลผลิตทางการเกษตรแล้ว แต่อาจต้องมีมาตรการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อนำไปใช้ในการซ่อมแซมบ้านเรือนและเป็นทุนในการทำการเกษตร

(3) ภาระค่าครองชีพที่อาจปรับเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ราคาสินค้าหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้นและกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน โดยเฉพาะผู้ว่างงานชั่วคราวที่ไม่ได้รับค่าจ้างที่มีจำนวนสูงถึง 7.8 แสนคน

(4) การจัดการปัญหาการสูญเสียทักษะจากการว่างงานเป็นเวลานานและการยกระดับทักษะให้กับแรงงาน โดยแรงงานต้องมีการพัฒนาทักษะของตนให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง เช่น รูปแบบการทำงานและทักษะเทคโนโลยี ซึ่งภาครัฐควรส่งเสริมให้ผู้ว่างงานเข้ารับการอบรมเพื่อพัฒนาทักษะเพิ่มขึ้น และ

(5) การส่งเสริมให้แรงงานที่ประกอบอาชีพอิสระที่ลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ของสำนักงานประกันสังคม เพื่อรับการช่วยเหลือเยียวยาให้เป็นผู้ประกันตนอย่างต่อเนื่อง จากมาตรการช่วยเหลือเยียวยากลุ่มแรงงานนอกระบบในช่วงการระบาดที่ผ่านมา มีแรงงานประมาณ 7 ล้านคน สมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 จึงควรเร่งประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับแรงงานกลุ่มดังกล่าวเพื่อให้ทราบสิทธิประโยชน์ของการเป็นผู้ประกันตนและมีมาตรการเพื่อโน้มน้าวแรงงานให้คงสถานะเป็นผู้ประกันตนอย่างต่อเนื่อง

 

1.2 หนี้สินครัวเรือนขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ปรับลดลงเล็กน้อยแต่ยังคงอยู่ในระดับสูง ด้านคุณภาพสินเชื่อต้องเฝ้าระวังหนี้เสียจากบัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้น
 
       1.2.1 ภาพรวมหนี้สินครัวเรือน โดยไตรมาสสอง ปี 2564 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.27 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 จากร้อยละ 4.7 ในไตรมาสก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 89.3 ต่อ GDP ลดลงจากร้อยละ 90.6 ในไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวเร็วกว่าหนี้สินครัวเรือน อย่างไรก็ตาม สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่คุณภาพสินเชื่อยังต้องเฝ้าระวังหนี้บัตรเครดิตที่มีหนี้เสียเพิ่มขึ้น โดยสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสินเชื่อบัตรเครดิตต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเป็นไตรมาสที่สองติดต่อกันจากร้อยละ 3.04 ในไตรมาสก่อน เป็นร้อยละ 3.51 รวมทั้งหนี้สินครัวเรือนยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจาก (1) ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่สามารถขยายตัวได้ปกติซึ่งจะกระทบต่อสภาพคล่องและความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน และ (2) ผลกระทบของอุทกภัยซึ่งทำให้ครัวเรือนต้องก่อหนี้เพื่อนำมาซ่อมแซมบ้านเรือนและเครื่องใช้ที่ได้รับความเสียหาย
     
       1.2.1 ประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป ได้แก่ (1) หนี้เสียโดยเฉพาะบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยปรับสูงเมื่อเทียบกับหนี้ประเภทอื่น (2) การส่งเสริมให้ลูกหนี้เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ซึ่งปัจจุบันหนี้เสียของครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งอาจเกิดจากลูกหนี้ไม่ทราบเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือจึงควรเร่งประชาสัมพันธ์ให้ลูกหนี้เข้าร่วมการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลดภาระและเพิ่มสภาพคล่อง และ (3) การก่อหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น เนื่องจากพบว่ามีมูลค่าหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึง 1.5 เท่า

       

1.3 ภาวะทางสังคมอื่น ๆ

ได้แก่

(1) การเจ็บป่วยโดยรวมลดลงแต่ยังต้องเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจิตและการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้น รวมถึงอาการหลงเหลือหลังติดเชื้อโควิด-19

(2) การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลงแต่ยังต้องเฝ้าระวังผลกระทบจากการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาบุหรี่ปรับตัวสูงขึ้นและทำให้ประชาชนหันไปบริโภคสินค้าทดแทน เช่น ยาเส้นและบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงการลักลอบนำเข้าบุหรี่ผิดกฎหมาย

(3) คดีอาญาโดยรวมเพิ่มขึ้นแต่ยังต้องเฝ้าระวังคดีลักทรัพย์และคดีจับกุมการเสพยาเสพติด

(4) การเกิดอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตลดลง โดยสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุมาจากการขับรถตัดหน้าและการขับรถเร็ว ทั้งนี้ การลดความสูญเสียควรเริ่มจากการปลูกฝังความรู้ความเข้าใจและจิตสำนึกในการใช้รถใช้ถนนที่ปลอดภัยตั้งแต่วัยเด็ก และ

(5) การร้องเรียนผ่านสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ลดลง โดยส่วนใหญ่เป็นการร้องเรียนสินค้าและบริการทั่วไป ขณะที่การร้องเรียนผ่านสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นประเด็นถูกคิดค่าบริการผิดพลาด ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อลูกหนี้โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เนื่องจากยังมีช่องว่างทางด้านกฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและสัญญาเช่าซื้อฯ ดังนั้น สคบ. จึงได้ออกประกาศคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้เพื่อปรับลดค่าธรรมเนียมทวงถามหนี้ และอยู่ระหว่างปรับปรุง (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่องให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถแทรกเตอร์ และเครื่องจักรกลการเกษตร เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. .... เพื่อสร้างความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค
ภาวะสังคมไทยไตรมาสสาม ปี 2564 (Social situation and outlook) สภาพัฒน์ฯ HealthServ
 

2. สถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญ


ได้แก่

2.1 มรดกทางวัฒนธรรม โอกาสของ Soft Power* กับการยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย

ประเทศไทยสามารถผลักดันโมเดลไทยแลนด์ 4.0 ผ่านการยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วยการใช้ Soft Power ซึ่งเป็นการกระทำสิ่งต่าง ๆ ที่จะส่งผลต่อความชอบและพฤติกรรมของคนในประเทศและคนต่างชาติด้วยการโน้มน้าวและไม่มีการบังคับ ทำให้ Soft Power มีความหลากหลายและเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กันในทุกด้าน เช่น วัฒนธรรม ธุรกิจและการค้า และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งนี้ การให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ด้วยการนำวัฒนธรรมมาต่อยอดเพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ มีปัจจัยดังนี้ (1) การตั้งเป้าหมาย และการมีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนด้วย Soft Power (2) กำหนดหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการขับเคลื่อนแผนการดำเนินงาน และ (3) ต้องมีการส่งเสริมและสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

2.2 Blockchain กับการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการข้อมูลภาครัฐ

ปัจจุบันภาครัฐมีการกำหนดนโยบายและการให้สวัสดิการบนพื้นฐานของการวิเคราะห์ข้อมูลมากขึ้น ทำให้ความถูกต้อง ครบถ้วน และการจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบเป็นสิ่งสำคัญ โดยเทคโนโลยีที่มีบทบาทในปัจจุบัน คือ เทคโนโลยี Blockchain ซึ่งเป็นการจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ที่ทำให้ข้อมูลมีความถูกต้องและสามารถตรวจสอบได้ รวมถึงสามารถกำหนดระดับการเข้าถึงและการเปิดเผยข้อมูลได้อีกด้วย ทั้งนี้ การนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้กับงานบริการภาครัฐสามารถแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ (1) การพิสูจน์ตัวตน (2) การบริหารจัดการการจัดเก็บข้อมูล และ (3) การติดตามธุรกรรม โดยการดำเนินการดังกล่าวต้องมีการเตรียมความพร้อม เช่น การบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ การกำหนดมาตรฐานการใช้เทคโนโลยี Blockchain และการปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการใช้เทคโนโลยี

2.3 จัดการปัญหาน้ำท่วมในต่างประเทศ : บทเรียนสำหรับประเทศไทย


โดยประเทศไทยเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมอย่างต่อเนื่องซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ การจัดการน้ำท่วมในประเทศต่าง ๆ สามารถนำมาใช้เป็นบทเรียนและประยุกต์ใช้กับประเทศไทยได้ โดยมีประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ ดังนี้
(1) ผังเมืองและผังน้ำ
(2) การคาดการณ์สถานการณ์และเส้นทางการไหลของน้ำต้องมีความชัดเจน
(3) ระบบเตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมต้องทันต่อสถานการณ์และทั่วถึง
(4) การพัฒนา ฟื้นฟู บำรุงรักษาพื้นที่รองรับน้ำและพื้นที่ชะลอน้ำให้มีจำนวนมากขึ้นและพร้อมใช้งาน
(5) การส่งเสริมให้ประชาชนปรับตัวเพื่อพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม และ
(6) การเตรียมพื้นที่รองรับกรณีมีผู้ประสบภัย
ภาวะสังคมไทยไตรมาสสาม ปี 2564 (Social situation and outlook) สภาพัฒน์ฯ HealthServ
 

3. บทความเรื่อง “โควิด-19 ภัยต่อสุขภาพ กับความยากจนและความเหลื่อมล้ำ”


สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิค-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยหดตัวอย่างรุนแรงเนื่องจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคที่มีความเข้มงวด อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 ความยากจนไม่ได้เพิ่มมากขึ้นเหมือนที่คาดการณ์ไว้ ส่วนความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งเป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของรัฐบาลที่ทำให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถรักษาระดับค่าครองชีพได้ชั่วคราว แต่หากความช่วยเหลือของรัฐบาลสิ้นสุดลงในช่วงที่เศรษฐกิจและการจ้างงานยังไม่ฟื้นตัวสถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำจะรุนแรงกว่าเดิม ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า (1) สมาร์ทโฟน อินเทอร์เน็ต และทักษะดิจิทัล เป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลต่อการเข้าถึงความช่วยเหลือเยียวยาและเป็นภาระที่ครัวเรือนยากจนต้องรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือเยียวยาต่าง ๆ ต้องดำเนินการผ่านสมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ต และ (2) โควิด-19 ส่งผลกระทบที่แตกต่างกันในแต่ละสาขาเศรษฐกิจและอาจนำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นในภายหลัง

 
       นอกจากนี้ แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายลงแต่ยังมีผลกระทบต่อเนื่อง เช่น (1) คนว่างงานเพิ่มและว่างงานยาวนานขึ้น (2) ครัวเรือนต้องนำเงินออมมาใช้จ่ายและมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้น และ (3) รัฐบาลต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการช่วยเหลือเยียวยา ดังนั้น จึงควรมีแนวทางดำเนินการในระยะต่อไป ดังนี้ (1) การช่วยเหลือเยียวยายังคงเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยต้องเน้นเรื่องการจ้างงานและการช่วยเหลือในลักษณะเฉพาะกลุ่ม (2) การพัฒนาทักษะและการอบรมเป็นสิ่งสำคัญ โดยควรพิจารณาให้มีความเชื่อมโยงกับความต้องการของตลาดและตำแหน่งงาน (3) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายอินเทอร์เน็ตให้พร้อมใช้งานและสามารถเข้าถึงได้ และ (4) การปรับโครงสร้างหนี้และการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีดอกเบี้ยต่ำ

___________________

*Soft Power หมายถึง ความสามารถในการส่งผลกระทบต่อผู้อื่นเพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ต้องการด้วยแรงดึงดูดหรือจูงใจมากกว่าบีบบังคับ โดยมีองค์ประกอบ 3 ส่วน ได้แก่ วัฒนธรรม ค่านิยมทางการเมือง และนโยบายต่างประเทศ

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด