ปัญหาหูตึง ภัยเงียบที่กำลังคร่าสมองคุณ
อ.ดร.พญ.นัตวรรณ อุทุมพฤกษ์พร แพทย์เฉพาะทาง หน่วยโสตประสาทวิทยา ฝ่ายโสต ศอ นาสิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และนักวิจัยอาวุโส ระดับ senior fellow หนึ่งในทีมวิจัย University College London นำนิทรรศการสื่อผสมผสาน “บ้านนก” มาแสดงครั้งแรกในไทย พร้อมกับเสวนาให้ความรู้เรื่อง “ปัญหาหูตึง ภัยเงียบที่กำลังคร่าสมองคุณ” ร่วมกับ ดร.นพ.ชัยภัทร ชุนหรัศมิ์ แพทย์เฉพาะทางด้านประสาทวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยเริ่มที่สวางคนิเวส โครงการต้นแบบที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ในกำกับของสภากาชาดไทย พร้อมเผยว่า “ปัจจุบัน จำนวนผู้มีปัญหาการได้ยิน โดยเฉพาะในผู้มีอายุเกินกว่า 60 ปี มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากเรื่อย ๆ ซึ่งในขณะนี้ สามารถพบผู้มีปัญหาการได้ยินถึง 1 ใน 3 คน ทั้งนี้ ปัญหาการได้ยิน นำมาซึ่งภาวะไม่พึงประสงค์หลายประการ เช่น ภาวะแยกตัวจากสังคม ภาวะซึมเศร้า ปัญหาการทรงตัวพลัดตกหกล้ม สับสน มีอารมณ์ฉุนเฉียว ทะเลาะกับครอบครัว กลายเป็นไม่พูดคุยกัน ซึ่งภาวะเหล่านี้นั้นนอกจากทำให้คุณภาพชีวิตลดลงแล้ว ยังล้วนเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมตามมาด้วยทั้งสิ้น”
“ปัญหาการได้ยิน นับเป็นปัจจัยเสี่ยงสูงสุดของการเกิดภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนทั่วไปนึกไม่ถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในผู้สูงอายุที่มีปัญหาการได้ยิน จะมีความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 2 เท่าเมื่อเทียบกับคนวัยเดียวกันที่ไม่มีปัญหาทางการได้ยิน อย่างไรก็ดี นับเป็นข่าวดีที่ภาวะสมองเสื่อมที่เกิดจากปัญหาการได้ยินนี้เป็นสิ่งที่สามารถป้องกันได้ เพราะทีมวิจัยพบว่าความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองเสื่อมนี้จะหายไปถ้าผู้สูงอายุได้รับการดูแลและรักษาด้านการได้ยินจนหายดีแล้ว ส่วนสาเหตุที่ทำให้ผู้ที่มีปัญหาทางการได้ยินเกิดความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองเสื่อมนั้น เกิดจาก เมื่อมีเสียง คำพูด การสนทนาเข้าไปกระตุ้นสมองน้อยลง สมองก็จะเสื่อมถอยและประมวลผลได้น้อยลง ช้าลงเรื่อย ๆ เมื่อนานวันเข้านั้นจากงานวิจัยแสกนสมองพบว่าเนื้อสมองฝ่อลงไปได้เลยทีเดียวโดยเฉพาะเนื้อสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแปลผลภาษา ซึ่งเมื่อถึงภาวะนี้แล้วนั้น การกระตุ้นให้สมองกลับมาทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพดังเดิมอาจต้องใช้เวลามาก”
นิทรรศการ “เสียงนั้น เธอได้ยินบ้างไหน” ผ่านบ้านนก
ในนิทรรศการสื่อผสม “เสียงนั้น เธอได้ยินบ้างไหม” ถูกทำขึ้นมาในรูปแบบบ้านนกสีเหลืองสดใส ซึ่งเป็นที่อยู่ของนก 5 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ นกกระเต็น นกเดินดง นกเดินดงสีดำ นกคัคคู และนกเขาแขก ซึ่งเมื่อกดปุ่ม นกในบ้านแต่ละหลังจะส่งเสียงร้องออกมา เพื่อให้ผู้เข้าชมประเมินตนเองว่าสามารถได้ยินเสียงนกร้องหรือไม่
อ.ดร.พญ.นัตวรรณ อุทุมพฤกษ์พร ได้กล่าวเสริมว่า “เนื่องจากนกแต่ละตัวที่ทีมวิจัยเลือกมา จะมีเสียงร้องที่มีระดับความถี่หรือที่เราเรียกว่า เฮิรตซ์ ต่างกัน ซึ่งโดยทั่วไป ผู้ที่สูญเสียการได้ยิน จะเริ่มจากเสียงที่มีระดับความถี่สูง ดังนั้นการจัดนิทรรศการบ้านนกนี้ จะเป็นการกระตุ้นให้ผู้เข้าชมสามารถประเมินตนเองได้ในเบื้องต้น เพราะเนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่มีภาวะสูญเสียการได้ยินเล็กน้อย จะยังได้ยินเสียงที่มีระดับความถี่ต่ำ ทำให้คิดว่าตนเองไม่มีปัญหาอะไรและละเลยการตรวจคัดกรอง รวมถึงการดูแลตนเองที่สามารถป้องกันได้ ซึ่งนิทรรศการ “เสียงนั้น เธอได้ยินบ้างไหม” ในครั้งนี้ ได้รับการตอบรับและความสนใจจากผู้เข้าชมเป็นอย่างดี ดังนั้นทางทีมวิจัยจึงจะจัดให้ความรู้กับผู้สูงอายุในสถานที่พักผู้สูงอายุอื่น ๆ ต่อไป”
เป้าให้ความรู้ผู้สูงอายุในไทยทุกคน
อ.ดร.พญ.นัตวรรณ อุทุมพฤกษ์พร เผยว่า “ในปีที่แล้ว องค์การอนามัยโลกเพิ่งแถลงคำแนะนำว่าผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจคัดกรองการได้ยินทุกคน เพื่อทำการวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและรับการดูแลรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่แรกเริ่ม ก่อนที่ปัญหาจะลุกลานใหญ่โต และเกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ ตามมา เช่นภาวะสมองเสื่อมเป็นต้น ดังนั้นเพื่อที่จะทำให้เกิดความตื่นตัวสำหรับปัญหาการได้ยินนี้ ทางทีมวิจัยได้ร่วมมือกับทุนวิจัยรัฐบาลอังกฤษ British Council และ PMU-B รวมทั้งมหาวิทยาลัย University College London จากประเทศอังกฤษ จะนำนิทรรศการบ้านนกนี้ นำไปจัดแสดง ที่สถานที่พักผู้สูงอายุต่าง ๆ ทั่วประเทศต่อไปตลอดทั้งปี สำหรับท่านใดหรือองค์กรใดที่มีความประสงค์ในการนำนิทรรศการบ้านนกไปจัดแสดงเพื่อให้ความรู้แก่ชุมชน สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์การได้ยิน การสื่อสารและการทรงตัว โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย”
สำหรับผู้ที่สนใจติดตามข่าวสารความรู้เกี่ยวกับการได้ยิน สามารถติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Facebook ของทางศูนย์การได้ยิน การสื่อสารและการทรงตัว โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่
facebook.com/ChulaHearingBalance หรือติดต่อขอนิทรรศการสื่อผสม “บ้านนก” เพื่อนำไปแสดง ได้ที่ email: info.loylombon@gmail.com