ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

หน้าฝนปีนี้ ไวรัส RSV ระบาด แพทย์แนะผู้ปกครองดูแลเด็กใกล้ชิด

หน้าฝนปีนี้ ไวรัส RSV ระบาด แพทย์แนะผู้ปกครองดูแลเด็กใกล้ชิด Thumb HealthServ.net
หน้าฝนปีนี้ ไวรัส RSV ระบาด แพทย์แนะผู้ปกครองดูแลเด็กใกล้ชิด ThumbMobile HealthServ.net

กรมการแพทย์ ชี้ช่วงฤดูฝนปี 65 นี้ เป็นฤดูกาลระบาดของเชื้อไวรัส RSV ที่กำลังระบาดติดต่อกันง่าย เด็กที่ป่วยจะมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ แนะผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตและปรึกษาแพทย์ทันที

เชื้อไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) มักระบาดมากในช่วงฤดูฝนถึงฤดูหนาว (ประมาณเดือนกรกฎาคม - มกราคม)  ทั้งเด็กและผู้ใหญ่สามารถติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ เชื้อไวรัส RSV จะมีระยะฟักตัว 3-6 วันหลังได้รับเชื้อ
 
หากเกิดในผู้ใหญ่หรือเด็กโตที่มีสุขภาพแข็งแรง อาการป่วยจะหายได้เอง แต่ถ้าหากเกิดในเด็กเล็ก ๆ ที่ภูมิคุ้มกันยังต่ำ อาจทำให้มีอาการรุนแรง โดยเฉพาะเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ ขณะเดียวกันผู้ใหญ่ที่เป็นโรคปอด โรคหัวใจ ก็เป็นกลุ่มเสี่ยงเช่นเดียวกัน
 
สำหรับเด็กที่ติดเชื้อไวรัส RSV อาการจะขึ้นกับสภาพร่างกายและวัยของเด็ก
 
เด็กที่ร่างกายแข็งแรง เมื่อติดเชื้อไวรัส RSV มักจะมีอาการน้อยคล้ายไข้หวัดธรรมดา น้ำมูกไหล ไอ จาม มีไข้ คออักเสบ 
 
แต่ในเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี หรือ ทารกคลอดก่อนกำหนด หรือ ในกลุ่มเด็กที่มีโรคปอดเรื้อรัง โรคหัวใจ ภูมิต้านทานบกพร่อง อาจมีอาการรุนแรงเป็นหลอดลมฝอยอักเสบ และปอดบวม ไข้สูง ไอมีเสมหะ หายใจหอบจนอกบุ๋ม หายใจแรง หายใจออกลำบาก หรือหายใจมีเสียงวี้ด ซึม ตัวเขียว ในบางรายอาจไอมากจนอาเจียน ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ 
 
ผู้ปกครองจึงควรหมั่นสังเกตอาการของลูกอย่างใกล้ชิด หากมีอาการรุนแรงดังกล่าว ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาต่อไป
 
 
 
เชื้อไวรัส RSV เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ โดยเชื้อ RSV สามารถเข้าสู่ร่างกายได้โดยผ่านทางเยื่อบุตา จมูก ปาก หรือผ่านทางการสัมผัสเชื้อโดยตรงจากการสัมผัสผู้ป่วย หรือ สารคัดหลั่งจากปาก จมูก และทางลมหายใจผู้ป่วย ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันไวรัส RSV การรักษาจึงเป็นรักษาตามอาการ สำหรับผู้ป่วยเด็กในรายที่มีอาการรุนแรงจนกินได้น้อย มีหลอดลมฝอยอักเสบ และปอดบวม หายใจหอบแรง ลำบาก หรือหายใจมีเสียงวี้ด  จำเป็นต้อง รับไว้รักษาในโรงพยาบาล 
 
 
ผู้ปกครองสามารถลดความเสี่ยงและป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV ในลูกน้อยได้โดยดูแลสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นล้างมือให้สะอาด แยกผู้ป่วย RSV เพื่อป้องกันการติดต่อทางการสัมผัส ทำความสะอาดบ้านอยู่เสมอ เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ สวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ในที่แออัดหรือในบริเวณสาธารณะ ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเมื่อมีน้ำมูกคั่ง ดื่มน้ำที่สะอาดในปริมาณที่ควรได้รับ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและพักผ่อนให้เพียงพอ

*ภาพจาก ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
 

อาการและวิธีป้องกัน โรค RSV (ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์)

แม้ว่าในวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะค้นพบเชื้อไวรัส RSV มานานกว่า 60 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในการคิดค้นหรือผลิตวัคซีนป้องกันการติดเชื้อนี้ได้ ดังนั้น การป้องกันก็ใช้วิธีเดียวกันกับการป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ คือ การใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่ชุมชนหรือมีคนอยู่แออัด หมั่นล้างมือบ่อยๆด้วยน้ำกับสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ พยายามสอนหรือฝึกเด็กเล็กไม่ให้นำนิ้วมือใส่จมูก ปาก หรือ ขยี้ตา รักษาระยะห่างจากคนที่ป่วย หลีกเลี่ยงการนำเด็กไปเล่นคลุกคลีใกล้ชิดกับกลุ่มเด็กเล็ก หรือเด็กที่ป่วย ไอ ไม่สบาย ทำความสะอาดของเล่นเด็กและของใช้เป็นประจำ ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกันกับเด็กคนอื่น หลีกเลี่ยงควันบุหรี่หรือมลพิษฝุ่นพิษในอากาศ ดื่มน้ำอุ่นน้ำสะอาดเป็นประจำ - รศ.นพ.ปรีดา วาณิชยเศรษฐกุล แพทย์เฉพาะทางสาขากุมารเวชศาสตร์ โรคมะเร็งและโลหิตวิทยา ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

อ่านทั้งหมด
 

RSV ทำไมอันตราย หมอรามามีคำอธิบาย

ทั้งเด็กและผู้ใหญ่สามารถติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ หากเกิดในผู้ใหญ่หรือเด็กโตที่มีสุขภาพแข็งแรง อาการป่วยจะหายได้เอง แต่ถ้าหากเกิดในเด็กเล็ก ๆ ที่ภูมิคุ้มกันยังต่ำ อาจทำให้มีอาการรุนแรง โดยเฉพาะเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ ขณะเดียวกันผู้ใหญ่ที่เป็นโรคปอด โรคหัวใจ ก็เป็นกลุ่มเสี่ยงเช่นเดียวกัน [ชมวิดีโอ RamaChannel - อ.พญ.โสภิดา บุญสาธร สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์]

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด