ทั้งนี้ สปสช.ได้เร่งดำเนินการเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้กับผู้ป่วย เพื่อให้ได้รับการรักษาและดูแลต่อเนื่อง โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 20 กันยายน ที่ผ่านมา สปสช. ได้ร่วมหารือกับผู้บริหารหน่วยงานกรุงเทพมหานคร ในฐานะหน่วยงานหลักในการจัดระบบบริการสุขภาพดูแลประชาชนในเขตพื้นที่ กทม.
พญ.ลลิตยา กล่าวว่า เบื้องต้นทางกรุงเทพมหานครโดย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. และผู้บริหาร กทม. ต่างมีความยินดีเข้ามาช่วยสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุขเพิ่มเติม เพื่อลดความเดือดร้อนให้ประชาชน รองรับการดูแลประชาชนที่ขึ้นทะเบียนใช้สิทธิกับโรงพยาบาลเอกชน 9 แห่ง ที่จะยกเลิกสัญญา
ทั้งนี้ในส่วนของสำนักอนามัยที่ดูแลศูนย์บริการสาธารณสุขใน กทม. มีแนวทางที่จะช่วยขยายการบริการเพิ่มเติม อาทิ การยกระดับบริการของของศูนย์บริการสาธารณสุขสาขา 6 แห่ง การดึงแพทย์ที่เกษียณอายุมาร่วมดูแลผู้ป่วย การนำระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) มาเสริมการบริการ เป็นต้น
ขณะที่ในส่วนของสำนักการแพทย์ นอกจากการบริหารจัดการเตียงผู้ป่วย โดยให้แต่ละโรงพยาบาลภายใต้สังกัดจัดเตียงว่างรองรับการรักษาผู้ป่วย การขยายบริการคลินิกนอกเวลาแล้ว ยังจะเข้ามาร่วมสนับสนุนในส่วนบริการปฐมภูมิให้กับศูนย์บริการสาธารณสุข พร้อมกับจะมีการจัดทีมแพทย์ลงพื้นที่ร่วมเสริมบริการเป็นระยะ นอกจากนี้ยังมีการจัดทำ Sandbox บริการรูปแบบใหม่ที่ รพ.เวชการุณย์รัศมิ์ อาทิ บริการตรวจรักษาผ่านระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เป็นต้น
อย่างไรก็ตามในการหารือครั้งนี้ยังมีประเด็นต่างๆ ที่เป็นข้อห่วงใย ทั้งในเรื่องของภาระงานแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้น ความเพียงพอของทรัพยากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะปัญหาการรองรับบริการในส่วนบริการของเขตพื้นที่กรุงเทพฯ เหนือ ซึ่งไม่มีโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ในพื้นที่ โดยในประเด็นนี้ทาง สปสช. ได้รับมาประสานไปยังโรงพยาบาลสังกัดหน่วยงานอื่นๆ มาช่วยดูแลเพิ่มเติม
“สปสช.ขอบคุณกรุงเทพมหานครที่มาร่วมดูแลประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองโรงพยาบาลเอกชนทั้ง 9 แห่งที่ สปสช. เตรียมยกเลิกสัญญา โดยในช่วงระหว่างช่วงการเปลี่ยนผ่านบริการถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 นี้ เชื่อว่าด้วยศักยภาพของ กทม. ความร่วมมือของทุกๆ ฝ่าย จะทำให้ประชาชนได้รับการดูแลภายใต้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างต่อเนื่องต่อไป” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว