โรคข้อเข่าเสื่อม นับเป็นภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพ ส่วนใหญ่จะพบผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มวัยกลางคนและผู้สูงอายุ ซึ่งผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อโรคมากกว่าผู้ชาย อาการเริ่มแรกจะเริ่มปวดเมื่อยตึงที่เข่าและจะปวดมากขึ้นหากมีการเคลื่อนไหวและมีเสียงในข้อ
หากมีอาการมากขึ้นจะมีภาวะข้อบวม ข้อเข่าโก่งงอ เดินลำบากจนเกิดอาการข้อเข่ายึดส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อีกทั้ง การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจะต้องผ่าตัดเปลี่ยน #ข้อเข่าเทียม ซึ่งเป็นการรักษาที่มีประสิทธิผลแต่มีค่ารักษาที่สูงมากถึงหลักแสนบาท ทำให้ในอดีตมีผู้ป่วยจำนวนไม่มากที่เข้าถึงการรักษาด้วยวิธีนี้
สปสช.จึงจัดสิทธิประโยชน์การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าฟรี! สำหรับผู้ใช้สิทธิบัตรทอง
สปสช.ได้มีการบริหารจัดการในรูปแบบการเบิกจ่ายอุปกรณ์ข้อเข่าเทียมมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการช่วยเพิ่มการเข้าถึงอุปกรณ์ข้อเข่าเทียมให้กับผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยโรคข้อเข่าได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าตามประสงค์
จากข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปี 2560 -2564 มีผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมได้รับการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมทั้งกรณีผ่าตัด 1 ข้าง และ 2 ข้างรวมจำนวน 9,559 ครั้ง 10,434 ครั้ง 10,864 ครั้ง 10,052 ครั้ง และ 8,090 ครั้ง ล่าสุดปี 2565 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาแล้วจำนวน 9,408 ครั้ง ภาพรวมเฉลี่ยผู้ป่วยรับบริการ 9,735 ครั้งต่อปี โดยมีโรงพยาบาลที่มีศักยภาพผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ทั้งในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ โรงเรียนแพทย์ และสังกัดหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศร่วมให้บริการ 232 แห่ง
นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการรักษาผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าให้กับผู้ป่วย ปี 2566 นี้ สปสช. ยังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ในการดำเนินโครงการผ่าตัดข้อเข่าและสะโพกเทียม ปี 2566 เพื่อให้บริการผู้ป่วยฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย จำนวน 100-200 ข้อ โดยให้ผู้ป่วยที่มีความประสงค์รับการผ่าตัดสมัครเข้าร่วมขอรับบริการได้ในเดือนพฤศจิกายนนี้
12 ตุลาคม วันโรคข้อสากล
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงโอกาสสำคัญวันโรคข้อสากลว่า
“วันที่ 12 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันโรคข้อสากล (World Arthritis Day) สปสช.ร่วมรณรงค์เพื่อให้ประชาชนตระหนักต่อโรคข้อเข่าเสื่อม นอกจากในด้านการรักษาพยาบาลแล้ว ขอให้ดูแลสุขภาพเพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น การควบคุมน้ำหนัก หลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือท่าทางที่เสี่ยงต่อกาทรุดของข้อ อย่างท่านั่งยอง นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ เป็นต้น รวมถึงการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของข้อเข่า เพื่อให้ทุกคนมีข้อเข่าที่ดี ป้องกันภาวะข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยอันควร”