ผู้สื่อข่าวรายงาน สำหรับร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ. …. ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากได้ให้ความเห็นชอบรับหลักการในวาระที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ก่อนตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ….. ซึ่งมีการประชุมต่อเนื่องจนถึงเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ที่ผ่านมา มีสาระสำคัญ ดังนี้
1. มีการควบคุมกัญชาโดยการผสมผสานประยุกต์ใช้กฎหมายการควบคุมยาสูบและการควบคุมสุรา และกระท่อม ดังนั้นการควบคุมกัญชาจึงไม่ต่ำกว่าการควบคุมสุรา ยาสูบ และกระท่อม
2. แม้สำหรับประเทศไทยแล้วจะไม่ได้จัดให้กัญชาเป็นยาเสพติด แต่ยังคงให้สารสกัดที่มี THC (สารทำให้มีนเมา) เกินกว่าร้อยละ 0.2 เป็นยาเสพติด ดังนั้นสารสกัดของกัญชา กัญชงที่มีสาร THC เกินกว่าร้อยละ 0.2 ของน้ำหนักจะต้องไปดำเนินการตามประมวลกฎหมายยาเสพติด
3. ได้กำหนดให้มีการแบ่งพืชกัญชา กัญชง ออกจากกันเพื่อให้มีระดับการบริหารจัดการที่แตกต่างกัน โดยจะให้พิจารณาจากปริมาณสารที่ทำให้มีนเมา คือ สาร THC ในช่อดอกเป็นตัวแบ่งกัญชา (ควบคุมเข้มมากกว่า) และกัญชง (ควบคุมอ่อนกว่า) แต่ไม่ว่ากัญชาหรือกัญชงก็ยังคงจะต้องมีการควบคุมต่อไป
4. คณะกรรมาธิการฯ ยังคงเห็นว่าทั้งกัญชา กัญชง โดยภาพรวมจะยังคงต้องปฏิบัติตามแนวทางของอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ปี ค.ศ. 1961 โดยให้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และทางวิทยาศาสตร์ และยังคงให้ใช้ประโยชน์ในฐานะเป็น “พืชกรรมสวน” (Horticultural purpose) เพื่อใช้ประโยชน์ในครัวเรือนได้ โดยปรากฏหลักฐานการใช้ส่วนต่างๆ ของกัญชาในการประกอบอาหารในประวัติศาสตร์ตำราอาหารของประเทศไทยที่ใช้อย่างเหมาะสมและมีความปลอดภัย สำหรับวัตถุประสงค์ในเชิงอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ โดยในด้านอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับใยไฟเบอร์ของพืชกัญชง รวมถึงการพาณิชย์เพื่อสุขภาพและทางการแพทย์ และยังคงมีการให้มีไว้เพื่อการพาณิชย์ในรูปของอาหารและเครื่องดื่ม ภายใต้การควบคุมระดับความปลอดภัยในด้านอาหารตามกฎหมายที่เกี่ยวกับอาหารหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติอาหาร ประกาศกรมอนามัย ฯลฯ และยังมีพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ควบคุมเข้มข้นกว่าอีกหลายประเทศที่ได้เปิดกัญชาในทางนันทนาการ ซึ่งรวมถึง หลายมลรัฐในสหรัฐอเมริกา, แคนนาดา, อุรุกกวัย, เนเธอร์แลนด์ ฯลฯ
5. สำหรับการปลูกกัญชา และกัญชง “ในครัวเรือนจะห้ามขาย” จะใช้เพียงการ “จดแจ้ง” เท่านั้นและหน่วยงานที่รับจดแจ้งจะต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 1 วัน โดยกำหนดให้กัญชาเพื่อใช้ในครัวเรือนได้ไม่เกิน 15 ต้น ในขณะที่กัญชงที่ไม่มึนเมาและเน้นการใช้ใยผ้าสามารถจดแจ้งใช้ในครัวเรือนได้ไม่เกิน 5 ไร่ ให้ใช้การจดแจ้งโดยไม่ต้องขออนุญาตเช่นกัน
6. สำหรับการปลูกกัญชา และกัญชง การผลิต การสกัด การแปรรูป และขาย “เพื่อธุรกิจ” จะต้องขออนุญาตทุกกรณี และหากภาครัฐได้รับเอกสารครบถ้วนทางคณะกรรมการอาหารและยาจะต้องอนุญาตให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน
7. การใช้กัญชา กัญชง หรือสารสกัด ที่เป็นวัตถุดิบที่มีกฎหมายอื่นๆ ควบคุมดูแลอยู่แล้ว ก็ให้ดำเนินการตามกฎหมายฉบับนั้นๆไป เช่น เป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร เป็นยาตามกฎหมายว่าด้วยยา เป็นอาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร เป็นเครื่องสำอางตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์อื่นใดตามที่มี กฎหมายเฉพาะบัญญัติไว้ รวมถึงการนำเข้า การส่งออก การขาย และการโฆษณา ซึ่งผลิตภัณฑ์ ดังกล่าวให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
8. กฎหมายฉบับนี้ห้ามโฆษณา “ช่อดอกหรือยางของกัญชา หรือสารสกัด” รวมถึงเครื่องมือและอุปกรณ์ในการสูบกัญชาโดยเด็ดขาดไม่ว่าในรูปแบบใด อีกทั้งรวมถึงการห้ามโฆษณาส่วนอื่นๆ ของกัญชาและกัญชงที่เกินจริงด้วย
9. ห้ามขายกัญชา กัญชง สารสกัดให้กับเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ซึ่งถือเป็นกลุ่มเปราะบางและมีบทลงโทษจำคุก 1 ปีและปรับไม่เกิน 1 แสนบาท ส่วนบทลงโทษในมาตราอื่นๆหากกระทำกับกลุ่มเปราะบางดังกล่าวด้วย จะมีบทลงโทษเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า
10. ประการที่สิบ มีการควบคุมวิธีการขาย และสถานที่ห้ามขาย
11. ห้ามสูบกัญชาในสถานที่ต้องห้าม ซึ่งรวมถึง วัด, สถานที่สาธารณะ, สถานที่ราชการ, สถานศึกษา, สถานพยาบาล, หอพัก, สวนสาธารณะ, ร้านอาหาร รวมถึงสถานที่ซึ่งรัฐมนตรีอาจประกาศกำหนดเพิ่มเติมในพื้นที่ห้ามสูบเพิ่มเติมได้โดยคำแนะนำของคณะกรรมการฯ
12. ห้ามผู้มีนเมาจากกัญชาขับยานพาหนะ
13. เปิดให้มีการปลูกเพื่อปรุงยาเพื่อผู้ป่วยเฉพาะรายได้ในสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลโดยการจดแจ้ง
14. บทลงโทษในความผิดเล็กน้อยมีตั้งแต่ปรับ ไปจนถึงโทษจำคุก โดยโทษสูงสุดคือกรณีการ “นำเข้า” กัญชากัญชงจากต่างประเทศโดยไม่ได้ขออนุญาตจะมีบทลงโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ถ้าความผิดใดกระทำความผิดร่วมกับการขายให้กับเด็ก เยาวชน สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ให้มีบทลงโทษเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของความผิดนั้น
15. กฎหมายฉบับนี้อนุญาตให้สำหรับการบริโภคกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้ รวมถึงการสูบของผู้ป่วยในสถานพยาบาลของภาครัฐและสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล (เช่น ผู้ป่วยระยะท้าย หรือผู้ป่วยระยะประคับประคอง ฯลฯ )โดยการอนุญาตของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ผู้ประกอบวิชาชีพโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีน อีกทั้งยังให้คณะกรรมการกัญชา กัญชงสามารถให้ความเห็นชอบเพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนดเขตหรือสถานที่สูบกัญชาได้อย่างมีการควบคุมและได้มาตรฐานเพื่อคุ้มครองผู้ไม่สูบกัญชา โดยต้องมีการประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเอาไว้ในกฎกระทรวง ซึ่งคณะรัฐมนตรีต้องให้ความเห็นชอบกฎกระทรวงนั้นด้วย
16. ผู้ที่จะออกกฎกติกา หลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการ คือคณะกรรมการกัญชา กัญชง ซึ่งมีองค์ประกอบคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานกรรมการ คณะกรรมการไม่รวมรัฐมนตรีมี 24 คน มีข้าราชกระทรวงสาธารณสุข 6 คน (รวมเลขาอ.ย.), มีผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน, ข้าราชการอื่นๆนอกกระทรวงสาธารณสุข 4 คน เป็นผู้แทนเอกชนจากองค์กรอาชีพและวิชาชีพต่างๆ 6 คน
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
20 สิงหาคม 2565