26 กันยายน 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า คณะกรรมการฯ ได้เห็นชอบ ต่อ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบยาของประเทศไทย พ.ศ. 2566-2570 โดยมีเป้าประสงค์ 4 ประเด็น ได้แก่
1. ประเทศมีความมั่นคงด้านยามียาจำเป็นไว้ใช้อย่างต่อเนื่องและทันท่วงทีทั้งในภาวะปกติและฉุกเฉิน
2. อุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศมีขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล
3. ประชาชนมีความปลอดภัยเมื่อใช้ยาและมีผลลัพธ์ทางสุขภาพที่ดี และ
4. ระบบยามีการจัดการบนพื้นฐานของสารสนเทศอย่างมีธรรมาภิบาล มุ่งหวังให้ระบบยาที่มั่นคง บนพื้นฐานของการวิจัยและพัฒนายา ประชาชนเข้าถึงยาคุณภาพอย่างทั่วถึงและปลอดภัย
ทั้งนี้ การนำร่างแผนปฏิบัติการด้านยาฯ ไปสู่การปฏิบัติ จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพของอุตสาหกรรมยาในประเทศ โดยผลักดันให้เกิดการผลิตยานวัตกรรมได้อย่างรวดเร็วและเพิ่มมูลค่าการส่งออก อีกทั้งยังผลักดันให้มียาสามัญทดแทนยาต้นแบบ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาจำเป็นของประชาชน และปรับปรุงบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งมียาสำคัญเช่น ยาสำหรับรักษาโรคติดเชื้อ COVID-19 ไว้ในบัญชีพิเศษ จำนวน 4 รายการ ได้แก่ ยานีมาทรีเวียร์และรีโทนาเวียร์ (แพ็กซ์โลวิด) ยาเรมเดซิเวียร์ ยาโมลนูพิราเวียร์ และยาฟาวิพิราเวียร์ ภายใต้เงื่อนไขจะมีการทบทวนข้อมูล ทุก 6 เดือนหรือเมื่อมีข้อมูลหลักฐานใหม่ และยังเพิ่มยาน้ำมันสารสกัดกัญชาที่มี THC ชนิดเข้มข้นกว่าเดิม 6 เท่า เพื่อใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดปานกลางจนถึงรุนแรง ส่งเสริมการเข้าถึงและการใช้ยาจากสมุนไพรในระบบบริการสุขภาพได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงควบคุมค่าใช้จ่ายจากการกำหนดราคากลางของยาที่มีราคาแพง ซึ่งคาดว่าช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของภาครัฐได้กว่า 1,200 ล้านบาท ในปี 2566 รวมทั้งการขับเคลื่อนประเทศสู่การใช้ยาอย่างสมเหตุผลสอดคล้องตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก
นายอนุทิน ชาญวีรกูล กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า จะเร่งผลักดัน (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบยาของประเทศไทย พ.ศ. 2566 -2570 นี้ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศใช้ พร้อมมอบหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้ระบบยามั่นคงด้วยการวิจัยพัฒนา ประเทศมีการจัดหายาจำเป็นไว้ใช้อย่างต่อเนื่องและทันท่วงที ทั้งในภาวะปกติและฉุกเฉิน