ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

โรคจากการประกอบอาชีพ อาชีวเวชศาสตร์และอาชีวอนามัย

โรคจากการประกอบอาชีพ อาชีวเวชศาสตร์และอาชีวอนามัย Thumb HealthServ.net
โรคจากการประกอบอาชีพ อาชีวเวชศาสตร์และอาชีวอนามัย ThumbMobile HealthServ.net

โรคจากการประกอบอาชีพ และ โรคที่เกี่ยวเนื่องจากการประกอบอาชีพ เป็น 2 ประเภทของโรคที่เกิดจากการทำงาน เจาะจงกับการทำงานอาชีพในภาคอุตสาหกรรม เป็นการมองถึงการสาธารณสุขที่จะให้ความใส่ใจและดูแลพื้นฐานด้านสวัสดิภาพของกลุ่มคนผู้มีอาชีพการทำงานในสาขาเหล่านี้



กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้คำนิยาม ทั้ง 2 ประเภท ไว้ดังนี้


โรคจากการประกอบอาชีพ (occupational diseases)  หมายถึง โรคที่เกิดจากปัจจัยในการประกอบอาชีพโดยตรง ซึ่งเป็นปัจจัยเดียวที่ก่อให้เกิดโรค โดยอาจเกิดทันทีเช่น ได้รับสัมผัสไอกรดในโรงงานแบตเตอรี่ มีอาการแสบตา แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หรือการสัมผัสสารกำจัดแมลงในขณะฉีดพ่น มีอาการแน่นหน้าอก หนังตากระตุกน้ำตาไหล คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นคันตามผิวหนัง เป็นต้น หรือเกิดขึ้นภายหลังจากการประกอบอาชีพเป็นระยะเวลานานเช่นโรค นิวป์โมโคนิโอสิส ได้แก่โรคซิลิโคสิส โรคจากแร่ใยหินแอสเบสตอสมีระยะการก่อโรค (latency period) ตั้งแต่เริ่มสัมผัสจนมีอาการและอาการแสดง ใช้เวลานานอย่างน้อย 15 ปี โดยส่วนใหญ่โรคจากการประกอบอาชีพจะมีระยะฟักตัวนานและความสำคัญคือ เมื่อเป็นโรคแล้วมักจะรักษาไม่หายขาด
 

โรคที่เกี่ยวเนื่องจากการประกอบอาชีพ (work-related diseases) หมายถึง การประกอบอาชีพไปกระตุ้นให้โรคเดิมของผู้ป่วยคนนั้นให้แสดงอาการออกมา หรือทำให้อาการแย่ลงกว่าเก่า เช่น ในคนที่มีโครงสร้างผิดปกติอยู่แล้ว หรือผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานจะมีอาการโรคเส้นเอ็นอักเสบได้ง่าย ดังนั้นการประกอบอาชีพเมื่อมีการออกแรงซ้ำ ๆ หรือมีท่าทางการทำงานที่ไม่ถูกต้อง ก็จะแสดงอาการขึ้น

จากทั้ง 2 ประเภท ได้จัดจำแนกอีกลักษณะโดยจำแนกเป็น "กลุ่มโรค" ได้ 6 กลุ่ม ตามสาเหตุ ที่ก่อให้เกิดโรค 

1. กลุ่มโรคที่เกิดขึ้นจากสารเคมี (Diseases caused by chemical agents)
  1.1 โรคจากเบนซีน ( Disease caused by benzene or its toxic homologues)
  1.2 โรคจากโทลูอีน ( Disease caused by benzene or its toxic homologues )
  1.3 โรคจากสไตรีน ( Disease caused by benzene or its toxic homologues )
  1.4 โรคจากไซลีน  ( Disease caused by benzene or its toxic homologues )
  1.5 โรคจากแคดเมียม ( Disease caused by cadmium or its toxic compounds)
  1.6 โรคจากโครเมียม ( Disease caused by chromium or its toxic compounds)
  1.7 โรคจากแมงกานีส ( Disease caused by manganese or its toxic compound)
  1.8 โรคจากสารหนู (Disease caused by arsenic or its toxic compound)
  1.9 โรคจากปรอท ( Disease caused by mercury or its toxic compound)
  1.10 โรคจากตะกั่ว (Disease caused by lead or its toxic compound)
  1.11 คลอรีน  ( Disease caused by chlorine)
  1.12 โรคจากแอมโมเนีย ( Disease caused by ammonia)
  1.13 ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ( Disease caused sulphur dioxide or sulphuric acid )
  1.14 โรคคาร์บอนมอนนอกไฃด์ (Disease caused by carbon monoxide)
  1.15 โรคจากไฮโครเจนซัลไฟด์ ( Disease caused by hydrogensulphide)
  1.16 โรคจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Disease caused by pesticides)
   
2. กลุ่มโรคที่เกิดขึ้นจากสาเหตุทางกายภาพ ( Diseases caused by physical agents )
  2.1 โรคประสาทหูเสื่อมจากการทำงาน( Hearing impairment caused by noise)
  2.2 โรคจากความร้อน ( Disease caused by heat radiation)
   
3. กลุ่มโรคที่เกิดขึ้นจากสาเหตุทางชีวภาพ ( Diseases caused by biological agents )
  3.1 วัณโรคปอด (Tuberculosis)
  3.2 โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax)
  3.3 โรคเลปโตสไปโรสิส (Leptospirosis)
   
4. กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจที่เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงาน ( Occupational Respiratory Diseases)
  4.1 โรคซิลิโคสิส ( Silicosis )
  4.2  โรคแอสเบสโตลิส  (โรคปอดจากแร่ใยหิน, Asbestosis )
  4.3 โรคบิสสิโนสิส  (Byssinosis)
  4.4 โรคหอบหืดจากการประกอบอาชีพ ( Occupational asthma)
   
5. กลุ่มโรคผิวหนังจากการทำงาน (Occupational skin disease)
  5.1 โรคผิวหนังอักเสบจากสารก่อระคายจากการประกอบอาชีพ (Occupational Irritant Contact Dermatitis)
  5.2 โรคผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสแบบก่อภูมิแพ้จากการประกอบอาชีพ  ( Occupational Allergic Contact Dermatitis)
   
6. โรคระบบกล้ามเนื้อและโครงสร้างกระดูกจากการทำงาน (0ccupational musculo-skeletal disorders)
  6.1 อาการปวดหลังส่วนล่างจากการทำงาน


กฏหมาย 

ปี 2536 กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมออกประกาศ เรื่อง กำหนดชนิดของโรค ซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงาน จำนวน 32 โรค ดังต่อไปนี้
 
1. โรคจากสารตะกั่ว หรือสารประกอบของสารตะกั่ว
2. โรคจากแมงกานีส หรือสารประกอบของแมงกานีส
3. โรคจากสารหนู หรือสารประกอบของสารหนู
4. โรคจากเบอริลเลี่ยม หรือสารประกอบของสารเบอริลเลี่ยม
5. โรคจากสารปรอท หรือสารประกอบของปรอท
6. โรคจากโครเมี่ยม หรือสารประกอบของโครเมี่ยม
7. โรคจากนิเกิ้ล หรือสารประกอบของนิเกิ้ล
8. โรคจากสังกะสี หรือสาร ประกอบของสังกะสี
9. โรคจากแคดเมี่ยม หรือสาร ประกอบของแคดเมี่ยม
10. โรคจากฟอสฟอรัส หรือสาร ประกอบของฟอสฟอรัส
11. โรคจากคาร์บอนไดซัลไฟด์
12. โรคจากไฮโดรเจนซัลไฟ
13. โรคจากซัลเฟอร์ไดอ๊อกไซด์ หรือกรดซัลฟูริค
14. โรคจากไนโตรเจนอ๊อกไซด์ หรือกรดไนตริค
15. โรคจากแอมโมนีย
16. โรคจากคลอรีน หรือสารประกอบของคลอรีน
17. โรคจากคาร์บอนมอนอกไซด์
18. โรคจากเบนซิน หรือสารประกอบของเบนซิน
19. โรคจากสารฮาโลเจน ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของไฮโดรเย็นกลุ่มน้ำมัน
20. โรคจากสารกำจัดศัตรูพืช
21. โรคจากสารเคมีอื่นหรือสารประกอบของสารเคมีอื่น
22. โรคจากเสียง
23. โรคจากความร้อน
24. โรคจากความเย็น
25. โรคจากความสั่นสะเทือน
26. โรคจากความกดดันอากาศ
27. โรคจากรังสีไม่แตกตัว
28. โรคจากรังสีแตกตัว
29. โรคจากแสงหรือคลื่นแม่เหล็ก - ไฟฟ้าอื่น ๆ
30. โรคจากฝุ่น
31. โรคติดเชื้อจากการทำงาน
32. โรคอื่น ๆ ซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงาน หรือเนื่องจากการทำงาน
 
ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
 
 ประกาศ ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536



 

การสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับอาชีพ

อาชีวเวชศาสตร์ Occupational Medicine
เป็นสาขาทางคลินิกของอายุรศาสตร์ในการวินิจฉัยโรค รักษา ฟื้นฟูประเมินผู้ป่วยกลุ่มคนทำงาน ทั้งการประเมินสุขภาพให้เหมาะกบัการทำงาน การประเมินเพื่อกลับเข้าทำงาน หลังการเจ็บป่วย และการประเมินการสูญเสียสมรรถภาพ รวมทั้งการให้คำแนะนำด้านสุขภาพแก่สถานประกอบการ หรือคนทำงาน ให้สามารถเข้าถึงมาตรฐานสูงสุดด้านสุขภาพ และความปลอดภัยในการทำงานในประเทศไทย อาชีวเวชศาสตร์ เป็นสาขาเฉพาะทางของแพทย์ จัดเป็นสาขาหนึ่งใน
สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงอาชีวเวชศาสตร์ ปัจจุบันมีเปิดสอน 5 แห่ง ได้แก่ รพ.จุฬาลงกรณ์ รพ.นพรัตนราชธานี รพ.พระมงกุฎฯ ม.สงขลานครินทร์ ม.ขอนแก่น
 
แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ Occupational Physician
แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ คือ แพทย์ที่ทำงานด้านการส่งเสริมป้องกัน วินิจฉัย รักษา และฟื้นฟู ผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสิ่งคุกคามในการทำงานโดยจะต้องมีความรู้ด้านต่างๆ อย่างกว้างขวาง โดยจบเฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงอาชีวเวชศาสตร์ ซึ่งจะต้องมีความรู้กว้างขวางด้านอายุรกรรมคลินิก การวินิจฉัยโรคจากการทำงาน และมีสมรรถนะในหลายด้าน โดยเฉพาะการประสานกับวิชาชีพอื่นๆ เพื่อให้เกิดการจัดบริการ อาชีวอนามัย อย่างมีประสิทธิภาพ แพทย์อาชีวเวชศาสตร์สามารถทำงานในบริบทที่แตกต่างกัน เช่น ให้บริการในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โรงงานขนาดกลาง โรงพยาบาลรัฐบาล รพ.เอกชน หน่วยงานราชการ มหาวิทยาลัย แพทย์ที่ปรึกษา
 
อาชีวอนามัย Occupational Health
เป็นการส่งเสริมสุขภาพ การทำให้คงไว้ซึ่งสุขภาพกาย ใจ และความเป็นอยู่ที่ดีในสังคม รวมทั้งเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการเบี่ยงเบนด้านสุขภาพ ที่มีสาเหตุจากการทำงานของคนทำงานในทุกอาชีพ โดยการดูแล สภาพแวดล้อม เครื่องมือ กระบวนการให้เหมาะสมกับสภาพกาย และจิตใจของคนทำงาน โดยการปรับแต่งงานแต่ละงานให้เข้ากับคนแต่ละคน

กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
เป็นหน่วยงานวิชาการส่วนกลาง ทำหน้าที่ผลิตองค์ความรู้ที่สนองตอบต่อการแก้ไขและป้องกันปัญหาโรคและภัยสุขภาพจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ผลผลิตที่ได้ส่วนหนึ่งจะผ่านไปตามโครงสร้างของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อตอบสนองความต้องการทางด้านวิชาการและการพัฒนาศักยภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งระดับเขตและระดับจังหวัด รวมถึงหน่วยงานปฏิบัติในโครงสร้างการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ผลผลิตอีกส่วนหนึ่งจะตอบสนองปัญหาและความต้องการของหน่วยงานอื่น ๆ รวมถึงประชาชน โดยวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตจะมาจากข้อมูลต่าง ๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในและภายนอกกระทรวงสาธารณสุข ทั้งที่เป็นปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ
 
การแก้ไขและป้องกันปัญหาโรคและภัยสุขภาพจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก คุณภาพในการดำเนินงานจึงเป็นประเด็นที่สำคัญที่หน่วยงานวิชาการส่วนกลางจำเป็นต้องกำกับและติดตามด้วย และเนื่องจากเป็นหน่วยงานวิชาการส่วนกลางทำหน้าที่ผลิตองค์ความรู้เพื่อแก้ปัญหาในระดับประเทศ สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม จึงต้องเป็น องค์กรกลางในการนำองค์ความรู้ที่ได้ไปผลักดันในเชิงนโยบายเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ
 
ภารกิจโดยสรุปของสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม จึงประกอบด้วย
 
การผลิต/พัฒนาองค์ความรู้ ผ่านกระบวนการวิจัยและพัฒนา
การจัดทำมาตรฐานเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และรูปแบบการดำเนินงานผ่านกระบวนการพัฒนาวิชาการ
การจัดทำสถานการณ์โรคและภัยสุขภาพจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมผ่านกระบวนการเฝ้าคุมเฝ้าระวัง
การพัฒนาคุณภาพการดำเนินงานของหน่วยบริการสาธารณสุข โดยผ่านกระบวนการกำกับและติดตามคุณภาพการจัดการ
การจัดการแก้ไขและป้องกันปัญหาโรคและภัยสุขภาพจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมผ่านกระบวนการผลักดันในเชิงนโยบาย
 
ผลผลิตขององค์กร ประกอบด้วย
 
องค์ความรู้ทางด้านโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม
มาตรฐานเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และรูปแบบการดำเนินงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
สถานการณ์โรคและภัยสุขภาพจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม
โอกาสของความเสี่ยงต่อการเกิดโรคและภัยสุขภาพจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม
มาตรฐานการจัดบริการอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมของหน่วยบริการสาธารณสุข
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดการแก้ไขและป้องกันปัญหาโรคและภัยสุขภาพจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม 
 
ลูกค้าหรือผู้รับบริการของสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย 3 กลุ่มใหญ่ คือ
1.  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด       
2. โรงพยาบาล   
3. ผู้ประกอบอาชีพ/ประชาชน

 

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด