ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

แพทย์ชี้ คนเคยมีเพศสัมพันธ์กว่า 80% เคยมีเชื้อ HPV อยู่ในตัว

แพทย์ชี้ คนเคยมีเพศสัมพันธ์กว่า 80% เคยมีเชื้อ HPV อยู่ในตัว HealthServ.net
แพทย์ชี้ คนเคยมีเพศสัมพันธ์กว่า 80% เคยมีเชื้อ HPV อยู่ในตัว ThumbMobile HealthServ.net

แพทย์ชี้ คนเคยมีเพศสัมพันธ์กว่า 80% เคยมีเชื้อ HPV อยู่ในตัว ปล่อยติดเชื้อเรื้อรังยิ่งเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก รู้ทันก่อนสาย รีบตัดวงจรโรคร้ายด้วยการฉีดวัคซีน และตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

แพทย์ชี้ คนเคยมีเพศสัมพันธ์กว่า 80% เคยมีเชื้อ HPV อยู่ในตัว HealthServ
 
จากโรคมะเร็งทั้งหมดที่มีอยู่ มะเร็งปากมดลูกคือสาเหตุการเสียชีวิตลำดับสองของผู้หญิงวัยทำงานในประเทศไทยรองจากมะเร็งเต้านม ในหนึ่งวัน พบหญิงไทยเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกถึง 25 คน คิดเป็น 9,158 คนต่อปี และเสียชีวิตถึงวันละ 13 คน ตัวเลขที่น่ากลัวนี้ยังไม่เท่าการที่ผู้เคยผ่านการมีเพศสัมพันธ์มาแล้วทั้งชายและหญิงกว่า 80% มีโอกาสติดเชื้อ HPV อันเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูกมาแล้วอย่างน้อยหนึ่งครั้ง โดยไม่มีอาการใดๆ ซึ่งเป็นภัยเงียบ ที่อาจพัฒนาเป็นมะเร็งได้เมื่อเวลาผ่านไป 
 

ภายในงานเสวนา Road to Zero HPV มิชชันลดมะเร็งปากมดลูกในไทย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างเอกชนและรัฐบาล อันมีจุดมุ่งหมายสำคัญในการสร้างความรู้ความเข้าใจในโรคมะเร็งปากมดลูกให้กับบุคคลทั่วไป ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์ถึง 3 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย  ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ. สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วย นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งประเทศไทย (สปสช.) มาเป็นวิทยากรภายในงาน และยังมี คุณสมควร สระทองแก่น อดีตผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูก มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ด้วย 
 

 

จาก HPV สู่มะเร็งปากมดลูก ความเสี่ยงรอบตัวที่ไม่ควรมองข้าม - นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์

 เริ่มที่ นพ. วิทยา ที่ได้กล่าวถึงข้อมูลเบื้องต้นของโรคชนิดนี้ว่า “HPV หรือ Human Papillomavirus คือเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่มีลักษณะที่ชอบเกาะอยู่ตามพื้นผิวชื้นแฉะตามร่างกายคน พบได้มากตามช่องคลอดเพศหญิง ทำให้เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด  มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก หูดหงอนไก่ ฯลฯ ความน่ากลัวของ HPV คือถึงแม้ร่างกายคนส่วนใหญ่จะสามารถขจัดไวรัสไปได้ด้วยตนเอง แต่ก็อาจยังมีส่วนน้อยที่จะฟักตัวอยู่ในร่างกายต่อไปอีก 10-20 ปี โดยไม่แสดงอาการ นอกจากจะทำให้เซลล์ตรงส่วนที่ไวรัสฟักตัวอยู่กลายเป็นเซลล์มะเร็งแล้ว ระหว่างนั้นผู้ติดเชื้อก็อาจกลายเป็นพาหะที่ส่งต่อไวรัสสู่คู่นอนคนอื่นได้ด้วย ยิ่งไปกว่านั้นคือเชื้อ HPV สามารถเกาะอยู่ตามพื้นผิวสัมผัสต่าง ๆ ได้ในระยะเวลาหนึ่ง ฉะนั้นการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น ก็มีโอกาสรับเชื้อ HPV เข้าสู่ร่างกายได้เช่นกัน 
 โดยในช่วงแรก การติดเชื้อ HPV ไม่ได้แสดงอาการให้เห็นชัดนัก การตรวจคัดกรองเชิงรุกจึงมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้ประชาชนสามารถรู้ตัวและเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที ในประเทศไทย มีการตรวจหาเชื้อ HPV อยู่สองรูปแบบ ได้แก่ 
 
ตรวจ PAP Smear (แป๊บสเมียร์) กับสูตินรีแพทย์ ซึ่งเป็นวิธีตรวจผ่านการสอดเครื่องมือเข้าไปในช่องคลอดและนำเซลล์มดลูกส่งแล็บเพื่อตรวจหาเซลล์ที่ผิดปกติ  
ตรวจ HPV DNA Testing เป็นการตรวจลึกถึงระดับดีเอ็นเอ ดูการติดเชื้อ HPV ซึ่งมีความแม่นยำสูง ช่วยให้ประเมินความเสี่ยงของโรคได้ตั้งแต่เริ่ม 
ทำไมวัคซีนป้องกัน HPV จึงสำคัญ ในเมื่อร่างกายเราขจัดเชื้อได้เอง 

ความแตกต่างและความสำคัญที่ทำให้เราต้องฉีดวัคซีน - ศจ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา


อย่างที่กล่าวว่าปกติแล้วร่างกายคนเราสามารถขจัดเชื้อไวรัส HPV ออกไปได้เอง เหลือเพียง 10% ที่อาจตกค้างอยู่เท่านั้น หลายคนเห็นดังนี้ก็อาจรู้สึกว่าการป้องกันไม่ได้จำเป็นนัก เพราะเชื่อมั่นในความแข็งแรงของร่างกายตนเอง ศาสตราจารย์นายแพทย์สมศักดิ์ ได้อธิบายถึงความแตกต่างและความสำคัญที่ทำให้เราต้องฉีดวัคซีนไว้ว่า  “ปัจจุบัน วัคซีนป้องกันไวรัส HPV มี 3 ชนิด ได้แก่ ชนิดป้องกันได้ 2 สายพันธุ์, ชนิดป้องกันได้ 4 สายพันธุ์ และชนิดป้องกันได้ 9 สายพันธุ์ ซึ่งแต่ละชนิดมีประสิทธิภาพการป้องกันเชื้อไวรัสได้แตกต่างกัน โดยชนิด 2 สายพันธุ์ ป้องกัน เชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 ป้องกันสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกได้ 70%, ชนิด 4 สายพันธุ์ ป้องกันเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 ได้เช่นเดียวกับ ชนิด 2 สายพันธุ์ และเพิ่มเติมการป้องกัน HPV สายพันธุ์ 6,11 ที่เป็นสาเหตุถึง 90% ที่ก่อให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ บริเวณอวัยวะเพศทั้งผู้หญิงและผู้ชายได้ นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดหูดในทางเดินหายใจของเด็กแรกเกิดซึ่งอาจทำให้เด็กเสียชีวิตเนื่องจากแม่ติดเชื้อ HPV ได้  ส่วนวัคซีนชนิด 9 สายพันธุ์ ป้องกัน HPV สายพันธุ์ 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58 ซึ่งสามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูก และหูดหงอนไก่และหูดที่ทางเดินหายใจได้ถึง 90%   โดยการทำงานของวัคซีน คือการให้ร่างกายได้ทำความคุ้นเคยกับเชื้อไวรัสที่ไม่ทำให้เกิดโรคแล้ว จากนั้นภูมิคุ้มกันจะถูกกระตุ้นขึ้นมาเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสจริง 
 
      ในทางการแพทย์ แพทย์แนะนำให้เริ่มฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV ได้ทุกเพศตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป แต่เหมาะสมที่สุดในอายุ 9-15 ปี เพราะเป็นวัยที่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุด  อีกทั้งฉีดครบคอร์สแล้ว สามารถให้การป้องกันการติดเชื้อไปได้ยาวนาน โดยไม่ต้องฉีดกระตุ้นซ้ำอีก น.พ.สมศักดิ์ ยังแนะนำว่า เด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ฉีดเพียงแค่ 2 เข็ม ห่างกัน 6-12 เดือน และถ้าอายุมากกว่า 15 ปี ควรฉีด 3 เข็ม ห่าง 0, 1-2 และ 6 เดือน  โดยแนะนำให้ฉีดได้ทุกเพศ โดยการฉีดในผู้ชาย นอกจากจะลดการเกิดโรคโดยตรงและลดความเสี่ยงการเป็นพาหะในการแพร่เชื้อ HPV อีกด้วย  
 
    ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าการฉีดวัคซีนป้องกัน HPV ไม่เกี่ยวกับการพร้อมให้ลูกมีเพศสัมพันธ์ แต่การป้องกันโรคไว้ก่อนย่อมดีกว่า เนื่องจากการฉีดวัคซีนในเด็กตั้งแต่ยังไม่เคยติดเชื้อจะให้ประสิทธิภาพดีที่สุด จึงขอแนะนำให้พาบุตรหลานของท่านเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกัน HPV ตามที่แต่ละโรงเรียนจะจัดนัดหมาย  
 
     และสำหรับผู้ที่อายุ 27 ปีขึ้นไป หรือมีเพศสัมพันธ์แล้ว ก็สามารถปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมเพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกัน HPV ได้เช่นกัน โดยวัคซีนจะป้องกันสายพันธุ์ที่ยังไม่เคยติด และป้องกันการติดเชื้อซ้ำในสายพันธุ์ที่เคยติดแล้ว 

เสียงสะท้อน จากประสบการณ์ตรงของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก

หลายคนอาจมีข้อสงสัยว่าอาการแรกเริ่มของมะเร็งปากมดลูกเป็นอย่างไร ต้องรักษาในรูปแบบใด ใช้เวลานานแค่ไหนจึงจะหายขาด ซึ่งภายในงานเสวนา นางสมควร สระทองแก่น อดีตผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูก ได้มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ด้วย “เราเคยเป็นผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก และต้องเข้ารับการรักษาประมาณปีกว่า ตลอดชีวิตก่อนหน้านี้ไม่เคยเข้ารับการตรวจภายในมาก่อนเลย ในช่วงแรกเลยเริ่มจากการที่ประจำเดือนมาในปริมาณมากทุกวัน และมาไม่เป็นเวลา มีอาการปวดท้องหนักเมื่อประจำเดือนมา ในตอนแรกเข้าใจว่าเป็นผลข้างเคียงจากการที่อายุมากขึ้น กำลังเข้าใกล้วัยหมดประจำเดือน แต่เมื่ออาการหนักเข้าเราก็ต้องไปหาหมอ และก็ได้พบว่าตัวเองเป็นมะเร็งปากมดลูก และเข้าสู่ระยะที่สองแล้ว ณ เวลานั้นตกใจมาก ต้องตั้งสติและนั่งทบทวนว่าจะรักษาอย่างไร วิธีการแบบไหน ก็ได้ความว่าต้องเข้ารับการฉายแสงและทำคีโมเป็นประจำด้วยระยะเวลามากกว่า 1 ปี โดยมีค่าใช้จ่ายหลายแสนบาท” 

การตรวจคัดกรองและเข้ารับวัคซีนป้องกัน HPV

สำหรับบริการตรวจคัดกรองและเข้ารับวัคซีนป้องกัน HPV ฟรีเพื่อประชาชน นายแพทย์จักรกริช ได้กล่าวเสริมเรื่องการสนับสนุนจากภาครัฐว่า “ทางสปสช. เล็งเห็นถึงอันตรายของโรคมะเร็งปากมดลูกที่ต้องเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด โดยมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลโรคดังกล่าวอย่างครบวงจร ตั้งแต่ส่งเสริมการตรวจคัดกรองสำหรับหญิงไทยอายุ 30-60 ปี ให้มีสิทธิเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคนี้ทุก 5  ปีได้ฟรี ณ สถานพยาบาลที่มีรายชื่อสังกัดอยู่  และจัดบริการฉีดวัคซีนในโรงเรียนให้กับนักเรียนหญิงชั้น ป.5 ทั่วประเทศกว่า 4 แสนราย ซึ่งโครงการนี้ได้ดำเนินมามาตลอดตั้งแต่ก่อนหน้าการระบาดของโควิด-19 แม้จะมีการขาดช่วงไปเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด และมีปัญหาวัคซีนขาดตลาด แต่เราก็ได้กลับมาดำเนินการต่อในปี 2565 ซึ่งปีนี้ สปสช. สามารถจัดหาวัคซีน HPV ชนิด 4  สายพันธุ์ให้กับนักเรียนชั้นป.5 ทั่วประเทศ  
 
นอกจากนี้ สปสช.ได้ส่งเสริมให้มีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยสนับสนุน ชุดตรวจ HPV DNA Testing เพื่อให้ประชาชนสามารถเก็บตัวอย่างได้ด้วยตนเองเพื่อส่งตรวจมะเร็งปากมดลูกโดยคาดว่าจะสามารถเริ่มให้บริการได้ในเร็ว ๆ นี้ ตลอดจนพัฒนาสิทธิประโยชน์ในการดูแลการติดเชื้อ HPV ที่รับข้อเสนอจากคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงกระทรวงสาธารณสุข และอาจมีการพิจารณาเพิ่มช่วงอายุของเด็กและเยาวชนที่ได้รับสิทธิในการฉีดวัคซีน HPV  รวมถึงเด็กผู้ชายในอนาคต เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยด้านสุขภาพให้คนไทยอีกด้วย” 
 
มะเร็งปากมดลูกแม้เป็นโรคร้ายสำหรับทุกคนในสังคม แต่ก็สามารถป้องกันได้ไม่ยาก โดยการฉีดวัคซีน HPV ในประชาชนทุกเพศ ตั้งแต่อายุ 9  ปีขึ้นไป และเข้ารับการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอทุก 5 ปี  เมื่อมีอายุ 30  ปีขึ้นไป แต่สำหรับผู้เคยตรวจพบมะเร็งปากมดลูกและรักษาหายแล้วก็ยังต้องมีการเข้ารับคำแนะนำจากแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการกลับมาป่วยซ้ำ โดยทางการแพทย์แนะนำให้ประชาชนทุกคนทั้งที่ไม่เคยมีประวัติการป่วยเป็นมะเร็งมาก่อน รวมถึงผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วเข้ารับการตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่ามีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงตลอดเวลา สามารถรับการรักษาได้ทันท่วงทีหากตรวจเจอความผิดปกติ เพื่อสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน 
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด