นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เป็นบริการภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ สปสช. ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนไทยทุกคนทุกสิทธิการรักษาพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นสิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ หรือสิทธิอื่นๆ เข้าถึงบริการอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อป้องกันโรคและมีสุขภาพที่ดี ลดภาวะเจ็บป่วยที่ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งในด้านค่าใช้จ่ายและสุขภาพ โดยเป็นหนึ่งในระบบบริการปฐมภูมิ
ในปี 2566 นี้ ภายใต้กองทุนบัตรทองได้จัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับประชากรทุกสิทธิ 66.286 ล้านคน ในอัตรา 322.56 บาท/คน วงเงินมากกว่า 21,300 ล้านบาท โดย สปสช. บริหารงบประมาณสนับสนุนบริการเป็น 3 ส่วน คือ
บริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคที่บริหารระดับประเทศ จำนวน 26.75 บาท/คน เพื่อสนับสนุนการจัดหาวัคซีน ยาและวัสดุที่จำเป็นจ่ายให้แก่หน่วยบริการเพื่อให้บริการแก่กลุ่มเป้าหมาย อาทิ วัคซีนพื้นฐาน (EPI) วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก วัคซีนป้องกันโรคอุจจาระร่วง วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ยายุติการตั้งครรภ์ ถุงยางอนามัย สมุดบันทึกสุขภาพ รวมถึงเป็นค่าบริการสำหรับสายด่วนให้คำปรึกษาตามโครงการเพิ่มความสะดวกและการเข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค อาทิ สายด่วนสุขภาพจิต สายด่วนเลิกบุหรี่
บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เป็นปัญหาพื้นที่ระดับเขต/จังหวัด จำนวน 4 บาท/คน เป็นค่าบริการแก่หน่วยบริการ/หน่วยงาน/องค์กรภาคประชาชนที่ให้บริการตามโครงการที่ต้องการเร่งรัดการเข้าถึงบริการตามนโยบายหรือแก้ปัญหาพื้นที่ระดับเขต/จังหวัด ตามความจำเป็นทางสุขภาพภายใต้ประเภทและขอบเขตบริการฯ
บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับบริการพื้นฐาน จำนวน 291.81 บาท/คน โดยจัดสรรจำนวน 232.32 บาท/คน จ่ายแบบเหมาจ่ายให้หน่วยบริการเพื่อบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมคัดกรองการได้ยินเด็กแรกเกิดทุกราย การตรวจไวรัสตับอักเสบบี (HBe Ag) ในหญิงตั้งครรภ์ บริการคัดกรองโควิด และค่าบริการฉีดวัคซีนโควิด บริการตรวจวัดความดันโลหิตสูงที่บ้าน และอีกจำนวน 59.49 บาท/คน เป็นการจ่ายตามรายการบริการ หรือ Fee schedule ซึ่ง สปสช.มีเงื่อนไขให้หน่วยบริการจะต้องมีระบบ พิสูจน์ตัวตนของประชาชนผู้ใช้บริการ (Authentication) และสปสช.จัดให้มีระบบการตรวจสอบเพื่อป้องกันการทุจริต
นพ.จเด็จ กล่าวว่า สำหรับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เป็นรายการ Fee schedule ในปี 2566 นี้ สปสช.ได้ปรับการบริหารการจ่ายเพื่อให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มเติมรายการบริการใหม่นำมาจัดกลุ่มรวมกับรายการเดิม รวมเป็น 22 รายการ บริการที่เป็นรายการใหม่ ได้แก่ บริการทดสอบการตั้งครรภ์ การตรวจหลังคลอด บริการวางแผนครอบครัวและการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ บริการคัดกรองโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก บริการยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กและโฟลิค บริการคัดกรองและประเมินปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต บริการเคลือบฟูลออไรด์ (กลุ่มเสี่ยง) และจ่ายเป็นค่าฉีดสำหรับบริการวัคซีนคอตีบ-บาดทะยักในผู้ใหญ่และบริการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล
ส่วนรายการบริการ Fee schedule ที่ยังคงบริการเช่นเดิมนั้น ได้แก่ บริการฝากครรภ์ บริการป้องกันและควบคุมโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียในหญิงตั้งครรภ์ บริการป้องกันและควบคุมกลุ่มอาการดาวน์ในหญิงตั้งครรภ์ บริการคัดกรองธาลัสซีเมียและการคัดกรองซิฟิลิสในสามีหรือคู่หญิงตั้งครรภ์ บริการป้องกันและควบคุมภาวะพร่องฮอร์โมนทัยรอยด์ (TSH) และ โรคฟินิลคีโตนูเรีย (PKU) บริการคัดกรองผู้ป่วยโรคพันธุกรรมเมตาบอลิกด้วยเครื่อง Tandem mass spectrometry (TMS) ในเด็กแรกเกิด บริการแว่นตาเด็กที่มีสายตาผิดปกติ บริการคัดกรองรอยโรคเสี่ยงมะเร็งและมะเร็งช่องปาก บริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก บริการตรวจยีน BRCA1/BRCA2 ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูงและญาติสายตรงที่มีประวัติครอบครัวตรวจพบยีนกลายพันธุ์ บริการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง (Fit test) บริการป้องกันยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย และบริการตรวจคัดกรองและค้นหาวัณโรคในกลุ่มเสี่ยง
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า สำหรับในปี 2566 นี้ สปสช.ยังได้เพิ่มการเข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยเพิ่มจุดให้บริการผ่านร้านยาและคลินิกพยาบาล เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ถุงยางอนามัย ยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กและโฟลิก และการทดสอบการตั้งครรภ์ เป็นต้น
“บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เป็นบริการปฐมภูมิที่สำคัญที่หน่วยบริการปฐมภูมิจากหลากหลายวิชาชีพสามารถดูแลประชาชนให้มีสุขภาพที่ดี ป้องกันภาวะเจ็บป่วยได้ ซึ่งสิทธิประโยชน์นี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทองเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมประชาชนทุกสิทธิการรักษา ไม่ว่าจะเป็นสิทธิประกันสังคม สิทธิสวัสดิการข้าราชการ และสิทธิรักษาพยาบาลอื่น ๆ โดยปีงบประมาณ 2566 นี้ ที่ สปสช.ได้เพิ่มเติมรายการบริการใหม่ รวมถึงการปรับการบริหารการจ่าย เชื่อมั่นว่าจะทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายได้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว