ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

รณรงค์วันป้องกันการจมน้ำโลก เสริมทักษะเอาชีวิตรอดจมน้ำ CPR ช่วยคนจมน้ำ

รณรงค์วันป้องกันการจมน้ำโลก เสริมทักษะเอาชีวิตรอดจมน้ำ CPR ช่วยคนจมน้ำ HealthServ.net
รณรงค์วันป้องกันการจมน้ำโลก เสริมทักษะเอาชีวิตรอดจมน้ำ CPR ช่วยคนจมน้ำ ThumbMobile HealthServ.net

กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์วันป้องกันการจมน้ำโลก ภายใต้แนวคิด “เริ่มทำ-ทำต่อ-ต่อขยาย...คนไทยไม่จมน้ำ” เพื่อสร้างการรับรู้ให้คนไทยทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันการจมน้ำ รวมถึงส่งเสริมให้เด็กและประชาชนทั่วไปมีทักษะความปลอดภัยทางน้ำ ซึ่ง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำเฉลี่ยปีละ 3,640 คน หรือวันละ 10 คน

        
 
         25 กรกฎาคม 2566 ที่สระว่ายน้ำองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี นายแพทย์ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานรณรงค์วันป้องกันการจมน้ำโลก (World Drowning Prevention Day) ปี 2566 ภายใต้แนวคิด “Do one thing - Improve one thing - Add one thing” หรือ “เริ่มทำ - ทำต่อ - ต่อขยาย...คนไทยไม่จมน้ำ” โดยมี นายแพทย์ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค Dr.Jos Vandelaer ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำตามมติสหประชาชาติ และภาคีเครือข่าย เข้าร่วมงาน
 
รณรงค์วันป้องกันการจมน้ำโลก เสริมทักษะเอาชีวิตรอดจมน้ำ CPR ช่วยคนจมน้ำ HealthServ
 
          นายแพทย์ณรงค์ กล่าวว่า ประเทศไทยได้กำหนดให้วันเสาร์แรกเดือนมีนาคมของทุกปีเป็นวันรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำ และมีการจัดกิจกรรมทุกปีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552 และในปี 2564 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้มีมติเรื่อง Global Drowning Prevention กำหนดให้วันที่ 25 กรกฎาคมของทุกปีเป็นวันป้องกันการจมน้ำโลก โดยในปีนี้ องค์การอนามัยโลกกำหนดแนวคิด คือ “Do one thing - Improve one thing - Add one thing” เพื่อให้ทุกประเทศทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อดำเนินงานป้องกันการจมน้ำ ซึ่งสามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่ระดับบุคคล เครือข่ายหรือภาครัฐ


           ทั้งนี้ การจมน้ำยังคงเป็นปัญหาสำคัญทางด้านสาธารณสุขทั่วโลก จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก พบว่า ในแต่ละปีทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำประมาณ 236,000 คน โดย 1 ใน 4 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งในกลุ่มเด็กอายุ 5 - 14 ปีนั้น พบว่าการจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ส่วนประเทศไทย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2556 - 2565) มีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำ 36,403 คน เฉลี่ยปีละ 3,640 คน หรือวันละกว่า 10 คน โดยในจำนวนนี้ เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 6,992 คน สาเหตุหนึ่งที่พบบ่อยคือ ขาดทักษะการเอาชีวิตรอดและการช่วยเหลือคนตกน้ำ/จมน้ำ ที่ถูกต้อง
 
 
           นายแพทย์ดิเรก กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้กำหนดจัดกิจกรรมรณรงค์วันป้องกันการจมน้ำโลก (World Drowning Prevention Day) ปี 2566 ขึ้น โดยกำหนดแนวคิดให้สอดคล้องกับองค์การอนามัยโลก คือ “เริ่มทำ - ทำต่อ - ต่อขยาย คนไทยไม่จมน้ำ” เริ่มทำ คือ เริ่มลงมือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการจมน้ำ โดยเริ่มต้นจากตัวบุคคล เครือข่าย หน่วยงานหรือองค์กร ทำต่อ คือ ทำสิ่งที่มีอยู่เดิมหรือปรับปรุงสิ่งที่ทำอยู่แล้วให้ดีขึ้น ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายหรือหน่วยงานอื่นๆ ในการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเสี่ยงได้มากขึ้น ต่อขยาย คือ การผลักดัน เพิ่มกลยุทธ์และวิธีการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำอย่างเป็นวงกว้าง ลดปัญหาการจมน้ำในพื้นที่ เช่น ให้หน่วยงานสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้มีการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย, สนับสนุนให้เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีพื้นที่เล่นที่ปลอดภัย มีรั้ว/ผนังกั้นล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน, สนับสนุนให้เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไปและประชาชนได้เรียนหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด รวมทั้งความรู้เรื่องความปลอดภัยทางน้ำ การเอาชีวิตรอดในน้ำ การช่วยเหลือคนตกน้ำ/จมน้ำ, สนับสนุนให้เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปและประชาชน มีทักษะการปฐมพยาบาลและการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) คนตกน้ำ/จมน้ำที่ถูกต้อง และสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้บุคลากรในองค์กรเป็นต้นแบบการมีพฤติกรรมป้องกันการจมน้ำที่ถูกต้อง เช่น การสวมเสื้อชูชีพทุกครั้งที่เดินทางทางน้ำ ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ก่อนหรือขณะทำกิจกรรมทางน้ำ เป็นต้น





 
          สำหรับการรณรงค์ในปีนี้ มีผู้เข้าร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งเด็กและประชาชนทั่วไปเกือบ 500 คน กิจกรรมประกอบด้วย การสอนการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) โดยมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย, การสาธิตทักษะการเอาชีวิตรอดในน้ำของเด็กนักเรียน, การแสดงพลังความร่วมมือของประเทศไทย “Do one thing to prevent drowning”, การมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันการจมน้ำ, การเรียนรู้วิธีการ CPR ช่วยคนจมน้ำ และการประกวดโยนเชือกช่วยคนตกน้ำในระดับประเทศ 2 ประเภท ได้แก่ การโยนเชือกเปล่า และการโยนเชือกผูกถังแกลลอน แบ่งเป็น 5 รุ่น ตั้งแต่เด็กอายุ 7 ปี จนถึงประชาชนทุกกลุ่มอายุ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประกวด จำนวน 151 ทีม จาก 14 จังหวัด
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด