คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เป็นสถาบันที่มีศักยภาพในการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง เรามีทีมแพทย์และพยาบาลที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนี้ มีอุปกรณ์เครื่องมือที่จำเป็นในการักษาอย่างครบถ้วน และมีประสบการณ์ในการรักษาโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองมาเป็นเวลานานนับสิบปีอีกทั้งผู้บริหารยังตระหนักถึงความเร่งด่วนของภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพองแตก จึงได้ดำเนินการเปิดเป็น “ศูนย์ศัลยกรรมประสาทผ่าตัดโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองเพื่อผู้ประกันตน”โดยร่วมมือกับสำนักงานประกันสังคมตั้งแต่ปี 2559 เป็นศูนย์รับส่งต่อผู้ป่วยหลอดเลือดสมองโป่งพองจากทั่วประเทศ
โดยมีการพัฒนาระบบการรับส่งต่อผู้ป่วยให้มีความรวดเร็วมากขึ้นเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วและครบวงจร
วชิรพยาบาลให้การรักษาโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานานมีผลการรักษาดีเทียบเท่ากับสถาบันชั้นนำของโลกมีงานวิจัยเกี่ยวกับการรักษาโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติและในวารสารชั้นนำของโลกหลายชิ้น มีการพัฒนาการรักษาแบบครบวงจรโดยสหสาขาวิชาชีพ จนในปี 2562 วชิรพยาบาลได้รับการรับรองมาตราฐานเฉพาะโรค (DSC : Disease Specific Certification) โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง จากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาลเป็นแห่งแรกในประเทศ และในปี 2563 ได้มีการจัดตั้งเป็น “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านประสาทศัลยศาสตร์”ขึ้นอย่างเป็นทางการโดยได้รับการสนับสนุนจากคณะผู้บริหารโรงพยาบาลทั้งในด้านบุคลากรและครุภัณฑ์ทำให้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านประสาทศัลยศาสตร์วชิรพยาบาลมีการพัฒนาทั้งในด้านโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง โรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง เนื้องอกสมองและไขสันหลัง การผ่าตัดฐานกะโหลกศีรษะผ่านทางจมูกโดยใช้กล้อง endoscope และการผ่าตัดกระดูกสันหลังอย่างต่อเนื่อง
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด
ปัจจุบันโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นปัญหาหลักที่สำคัญของประชากรในเขตเมืองทั้งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และระดับประเทศ ซึ่งสาเหตุหลักนั้นเกิดจากการรับประทานอาหารที่เปลี่ยนไป สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศที่เพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต จากเหตุผลดังกล่าวทางคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช จึงได้ริเริ่มสร้างศูนย์ความเป็นเลิศทางบริการทางการแพทย์ การศึกษา และการพัฒนางานวิจัย โดยเน้นการสร้างความรู้เพื่อบริการผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดในเขตเมืองและในระดับประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหัวใจและหลอดเลือดให้บริการตรวจและรักษาผู้ป่วยด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด ประกอบไปด้วย
หน่วยหัตถการรักษาโรคเลือดหัวใจ ให้การรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดหัวใจผิดปกติ เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบ ผู้ป่วยที่มีโครงสร้างของหัวใจผิดปกติ เช่น ผนังหัวใจมีรูรั่ว ลิ้นหัวใจตีบ
หน่วยสรีระไฟฟ้าหัวใจคลินิก ให้การดูแลและรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยสามารถรักษาด้วยการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ และการทำหัตถการเพื่อรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะผ่านทางสวนหลอดเลือด
หน่วยปฏิบัติการสืบค้นโรคหัวใจ ที่ภายในศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งจะมีห้องปฏิบัติการย่อยเพื่อสืบค้นโรค อาทิ ห้องปฏิบัติการคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiography laboratory) ห้องปฏิบัติการตรวจสมรรถภาพหัวใจ ประกอบด้วย การตรวจด้วยการออกกำลังกาย (Exercise stress test), การตรวจหัวใจด้วยเตียงปรับระดับ (Tilt table test), ภาพวินิจฉัยหัวใจด้วยวิธีเวชศาสตร์นิวเคลียร์ (Cardiac nuclear imaging) ห้องปฏิบัติการภาพวินิจฉัยหัวใจและหลอดเลือดด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์และคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า รวมถึงเรายังมี คลินิกดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart failure clinic) ด้วย
การดูแลและรักษาผู้ป่วยเด็กที่มีโรคภาวะโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และที่เกิดขึ้นภายหลัง ซึ่งจะทำหัตถการผ่านสายสวนหัวใจเพื่อแก้ไขความผิดปกติของหัวใจแต่กำเนิด
จึงเรียกได้ว่า การดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ของ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหัวใจและหลอดเลือดนั้น ได้มีการดูแลตั้งแต่ผู้ป่วยเด็กจนกระทั่งถึงระดับผู้ใหญ่ โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือ เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย ให้มีสุขภาพกายที่ดียิ่งขึ้น
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านทารกเกิดก่อนกำหนด
จากรายงานขององค์การอนามัยโลก อุบัติการณ์ของทารกเกิดก่อนกำหนดโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10 คิดเป็นจำนวนทารกเกิดก่อนกำหนดทั่วโลกได้เป็นจำนวนถึง 15 ล้านคน ในจำนวนนี้มีเด็กเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของการเกิดก่อนกำหนดมากกว่าปีละ 1ล้านคน ทำให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิต ทรัพยากรในการดูแล และส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของทารกและครอบครัว
เนื่องจากอวัยวะต่าง ๆของทารกเหล่านี้มีความไม่สมบูรณ์อย่างมากและไวต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทั้งในเรื่องของการช่วยเหลือทางการหายใจ, การให้สารน้ำเพื่อเพิ่มความดัน, สารน้ำและเกลือแร่รวมถึงสารอาหารทางหลอดเลือด และระบบอื่น ๆ จึงต้องให้ความระมัดระวังเป็นอย่างมากในการดูแลทารกเหล่านี้ ทารกเหล่านี้ควรคลอดในโรงพยาบาลที่มีความพร้อม มีทีมกุมารแพทย์ทารกแรกเกิดและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาอื่น ๆที่อาจเกี่ยวข้อง, อุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงยาที่อาจจำเป็นต้องใช้ เช่นsurfactant, indomethacin เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนจากการที่ต้องส่งตัวทารกมายังโรงพยาบาลที่ใหญ่ขึ้นหลังทารกเกิด นอกจากนี้สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการที่หอผู้ป่วยวิกฤตมีแนวทางในการดูแลทารกเกิดก่อนกำหนดน้ำน้อยมากที่ตรงกันและมีการร่วมมือกันของสหสาขา ได้แก่ แพทย์สาขาต่าง ๆเช่นกุมารทารกแรกเกิด, สูติแพทย์, กุมารแพทย์โรคหัวใจ, กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการ, กุมารศัลยแพทย์, ศัลยแพทย์ผ่าตัดทรวงอก, รังสีแพทย์, พยาบาล, เภสัชกร, และนักโภชนาการเป็นต้น คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เล็งเห็นถึงความสำคัญของการดูและและอภิบาลทารกที่เกิดก่อนกำหนด จึงก่อตั้งศูนย์ความเป็นเลิศ ด้านทารกเกิดก่อนกำหนดขึ้น