ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นตัวแทนนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาเปิดการประชุมนานาชาติเพื่อการสร้างชาติครั้งที่ 4 เผยไทยควบคุมโรคโควิด 19 ได้เป็นอย่างดี จากภาวะผู้นำที่ตัดสินใจบนฐานข้อมูลที่สมบูรณ์ถูกต้อง มีระบบสุขภาพที่เข้มแข็ง นำองค์ความรู้ด้านสาธารณสุขสร้างชาติ ขับเคลื่อนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ภายใต้แนวคิดชีวิตวิถีใหม่
วันนี้ (18 พฤศจิกายน 2563) ที่หอประชุมใหญ่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบหมายจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้เป็นตัวแทนปาฐกถาเปิดการประชุมนานาชาติเพื่อการสร้างชาติครั้งที่ 4 ประจำปี 2020 ภายใต้หัวข้อ การสร้างชาติในสภาวะปกติใหม่จากโรคระบาด (Nation-Building in the Pandemic New Normal)
นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 มาจากภาวะผู้นำของนายกรัฐมนตรีและการตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ การมีระบบสุขภาพที่เข้มแข็งจากการลงทุนวางรากฐานมานานกว่า 40 ปี การมีทีมสอบสวนโรคที่ตรวจจับและกักกันโรคได้รวดเร็ว มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจําหมู่บ้าน (อสม.) ช่วยรับมือในระดับพื้นที่ เพราะประสบการณ์รับมือกับโรคระบาด เช่น ซาร์ส ไข้หวัดนก และไข้หวัดใหญ่ 2009 ทำให้จัดการรับมือได้เป็นระบบรวดเร็ว ขณะที่ประชาชนมีส่วนร่วมป้องกันและควบคุมโรคด้วยการปฏิบัติตามมาตรการ ทั้งการใส่หน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่าง ทำให้ประเทศไทยควบคุมโรคโควิด 19 ได้เป็นอย่างดี จนได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ โดย Global COVID-19 Index (GCI) จัดให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ฟื้นตัวจากการระบาดของโรคโควิด 19 ติดอันดับต้นๆ ของโลก
นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังทยอยเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยใช้มิติด้านสาธารณสุขเป็นแรงขับเคลื่อน มีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) เช่น
- ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในกลุ่มผู้สูงอายุ
- การส่งเสริมการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม โดยเน้นอาหารและสมุนไพรเพื่อสุขภาพ
- รวมถึงใช้มิติด้านสาธารณสุขช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนด้านอื่นๆ เช่น
- การพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยว
- การพัฒนาพื้นที่ทางการเกษตร
- การพัฒนาเมืองสีเขียว
- การพัฒนาระบบนิเวศ และ
- การพัฒนาทักษะแรงงานที่สอดคล้องกับการพัฒนาไทยแลนด์ 4.0 เป็นต้น
โดยทั้งหมดอยู่ภายใต้พื้นฐานของการใช้ชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal
"ประเทศไทยได้ปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับแนวชีวิตวิถีใหม่ตั้งแต่ช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด 19 และต่อเนื่องจนถึงภายหลังการระบาดเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยมีการสร้างองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง และนำความรู้มาสร้างประเทศเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน" นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าว
สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
18 พฤศจิกายน 2563