4 มิถุนายน 2564 ราชกิจจานุเบกษา ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เพิ่มยาที่มาจากสารสกัดฟ้าทะลายโจร และอื่นๆ รวม 5 รายการ เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพรแล้ว มีผลบังคับใช้ทันที
รายการยาจากสมุนไพร
8 ยาทำลายพระสุเมรุ (คัมภีร์แพทย์ไทยแผนโบราณขุนโสภิตบรรณลักษณ์ เล่ม 2)
- รูปแบบยา ยาแคปซูล (Capsule) ยาผง (Powder) บัญชี 2
- เงื่อนไข ใช้สำหรับแก้ลมเปลี่ยวดำ เป็นยาเสริมเพื่อฟื้นฟูอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงจากโรคลมอัมพฤกษ์อัมพาต
- หมายเหตุ ลมเปลี่ยวดำ เป็นโรคลมชนิดหนึ่ง เกิดจากการกระทบกับความเย็นมากจนเป็นตะคริว ผู้ป่วยมีอาการกล้ามเนื้อเกร็งอย่างรุนแรง กระตุก ทำให้เจ็บปวดบริเวณที่เป็นมาก มักแก้โดยการนวดจุดบริเวณตาตุ่มด้านในหรืออาจรักษาด้วยยาสังขวิไชยหรือยาทำลายพระสุเมรุ
9 ยาบรรเทาริดสีดวงทวารหนัก (เภสัชตำรับโรงพยาบาล)
รูปแบบยา ยาลูกกลอน (Pill) [รพ.] บัญชี 2
เงื่อนไข
- เป็นเภสัชตำรับโรงพยาบาล ใช้สำหรับบรรเทาอาการริดสีดวงทวารหนัก
- สูตรตำรับประกอบด้วยสมุนไพรดังต่อไปนี้ (1) เหงือกปลาหมอ 5 ส่วน (2) เพชรสังฆาต 5 ส่วน (3) สมอไทย 5 ส่วน (4) พริกไทยล่อน 5 ส่วน (5) ขมิ้นชัน 1 ส่วน (6) ราชดัด 2.5 ส่วน และ (7) โกฐน้ำเต้า 2.5 ส่วน
10 ยาสารสกัดผงฟ้าทะลายโจร ที่มีandrographolide ไม่น้อยกว่าร้อยละ 4 โดยนำหนัก (w/w)
รูปแบบยา ยาแคปซูล (Capsule) บัญชี 1 (1.1) ยาเม็ด (Tablet)
เงื่อนไข
- ใช้สำหรับบรรเทาอาการของโรคหวัด (common cold) เช่น ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล มีไข้
- รับประทานในขนาดยาที่มีปริมาณ andrographolide 60 - 120 มิลลิกรัม ต่อวัน โดยแบ่งให้วันละ 3 ครั้ง
11 ยาสารสกัดจากฟ้าทะลายโจร
รูปแบบยา ยาแคปซูล (Capsule) ไม่ระบุบัญชี ยาเม็ด (Tablet)
เงื่อนไข
- ใช้กับผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่มีความรุนแรงน้อย เพื่อลดการเกิดโรคที่รุนแรง
- เฉพาะผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่มีการควบคุมปริมาณ andrographolide
- รับประทานในขนาดยาที่มีปริมาณ andrographolide 180 มิลลิกรัมต่อวัน โดยแบ่งให้วันละ 3 ครั้ง
- ใช้ได้โดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
- มีการติดตามประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยหลังการใช้อย่างเป็นระบบ
12 ยาจากผงฟ้าทะลายโจร
รูปแบบยา ยาแคปซูล (Capsule) ไม่ระบุบัญชี ยาเม็ด (Tablet)
เงื่อนไข
- ใช้กับผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่มีความรุนแรงน้อย เพื่อลดการเกิดโรคที่รุนแรง
- เฉพาะผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่มีการควบคุมปริมาณ andrographolide
- รับประทานในขนาดยาที่มีปริมาณ andrographolide 180 มิลลิกรัมต่อวัน โดยแบ่งให้วันละ 3 ครั้ง
- ใช้ได้โดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
- มีการติดตามประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยหลังการใช้อย่างเป็นระบบ
ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ
เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564
4 มิถุนายน 2564
ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ
เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564
เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนและส่งเสริมการใช้ยาจากสมุนไพรในระบบบริการสุขภาพอย่างเป็นรูปธรรม ส่งเสริมภูมิปัญญาให้ได้รับการต่อยอดโดยการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านกลไกการวิจัยและพัฒนายาจากสมุนไพรอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเอง และเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงทางยาให้กับประเทศ ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเพื่อให้บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพรมีการปรับปรุงแก้ไขให้ทันต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน
อาศัยอำนาจตามความในข้อ 8 (4) แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ. 2551 คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ จึงออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในวรรคสอง สาม สี่ และห้า ตามรายการบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร แนบท้ายประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร พ.ศ. 2564 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“บัญชี 1 หมายความถึง รายการยาที่ใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพ มีหลักฐานที่สนับสนุนการใช้ตามสรรพคุณ (health benefits) หรือข้อบ่งใช้ (clinical indication) มีประสบการณ์การใช้ในประเทศไทยอย่างเพียงพอ สามารถใช้ในสถานพยาบาล โดยแบ่งเป็น
1.1 ไม่มีเงื่อนไขการใช้
1.2 มีเงื่อนไขการใช้ เช่น คุณสมบัติของแพทย์ผู้สั่งใช้ ระดับสถานพยาบาล
บัญชี 2 หมายความถึง รายการยาที่ต้องใช้โดยแพทย์แผนไทยหรือแพทย์แผนไทยประยุกต์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการของสถานพยาบาลนั้นๆ โดยใช้องค์ความรู้การแพทย์แผนไทย
บัญชี 3 หมายความถึง รายการยาสำหรับโครงการพิเศษของหน่วยงานของรัฐ มีองค์ประกอบต่อไปนี้
1. มีหน่วยงานรับผิดชอบทั้งโครงการและงบประมาณ
2. นำเสนอโครงการเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งประกอบด้วย
2.1 บทสรุปผู้บริหาร
2.2 หลักการและเหตุผลของโครงการ รวมทั้งที่มาของการพัฒนาสูตรตำรับ (ถ้ามี)
2.3 มีวัตถุประสงค์
2.4 วิธีการดำเนินโครงการ
2.5 กำหนดระยะเวลาเริ่มต้น- สิ้นสุดโครงการชัดเจน
2.6 ต้องมีการระบุ สรรพคุณเฉพาะ (specific health benefits) หรือข้อบ่งใช้ (clinical indication) และกำหนดวิธีใช้ยา ให้ชัดเจน
2.7 แนวทางการติดตามประเมินผลการใช้ยาทั้งด้านประสิทธิผลและความปลอดภัยโดยมีการรายงานความปลอดภัยไปยังศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ (HPVC) ในทุกรายที่พบ
2.8 มีแนวทางการติดตามความร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วย
2.9 มีหนังสือแสดงความจำนงในการรับผิดชอบและสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานภาครัฐ
3. ให้รายงานผลการดำเนินงานต่อคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพรทุก 1 ปี และเมื่อสิ้นสุดโครงการ โดยรายการยาจากสมุนไพรประกอบด้วย ชื่อยา รูปแบบยา และบัญชีย่อย นอกจากนั้น อาจระบุเงื่อนไข และ/หรือหมายเหตุ และ/หรือความแรง ไว้ด้วย
ข้อ 2 ให้เพิ่มเติมรายการยาจากสมุนไพรในบัญชีแนบท้ายประกาศนี้ เป็นยาในบัญชียาหลัก
แห่งชาติด้านสมุนไพร พ.ศ. 2564
ข้อ 3 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป