ไวรัสตับอักเสบ
ตับอักเสบ เป็นภาวะที่มีการอักเสบเกิดจากการทำลายเนื้อเยื่อ ทำให้การทำหน้าที่ต่างๆ ของตับผิดปกติ นำไปสู่การเจ็บป่วยไม่สบาย
โรคตับอักเสบ เป็นโรคที่รู้จักกันมานาน ยังคงเป็นปัญหาทางสาธารณสุขทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยซึ่งผู้ป่วยโรคนี้ทุกวัย ทั้งชายและหญิง ส่วนใหญ่เป็นโรคตับอักเสบเฉียบพลัน ขณะที่ส่วนน้อยเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง ซึ่งอาจมีภาวะแทรกซ้อนตามมา คือ โรคตับแข็ง และมะเร็งตับ
สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของโรคตับอักเสบ คือ การติดเชื้อไวรัสรองลงมาเกิดจากสุรา ยาบางชนิด ฯลฯ
ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะ เชื้อไวรัสตับอักเสบแบ่งเป็น
- ไวรัสตับอักเสบชนิด เอ
- ไวรัสตับอักเสบชนิด บี
- ไวรัสตับอักเสบชนิด ซี
- ไวรัสตับอักเสบชนิด ดี
- ไวรัสตับอักเสบชนิด อี
ไวรัสตับอักเสบชนิด เอ
การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด เอ เกิดจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป ผัก ผลไม้ และน้ำดื่ม
ระยะฟักตัวของเชื้อนี้ ใช้เวลาประมาณ 2-6 สัปดาห์ โดยเฉลี่ย 4 สัปดาห์หลังรับเชื้อ เด็กมักจะมีอาการน้อย ผู้ใหญ่จะมีอาการชัดเจนของตับอักเสบเฉียบพลัน เชื้อนี้จะออกมากับอุจจาระของผู้ป่วยต้องแต่ในระยะ 2 สัปดาห์ก่อนมีอาการ จนถึงระยะที่มีอาการของโรค เชื้อไวรัสนี้จะทนอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน ทำให้พบมีการระบาดในชุมชน กลุ่มคนที่รวมกันตาม โรงเรียน หอพัก ค่ายทหาร เป็นต้น
ตับอักเสบจากไวรัส เอ เมื่อเป็นแล้วจะหายเป็นปกติ ไม่เป็นพาหะของ ไม่เป็นเรื้อรัง ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นได้หลังจากฟื้นตัว อัตราการตายต่ำมาก
ไวรัสตับอักเสบชนิด บี
พบคนที่เป็นพาหะ(Carrier) ของเชื้อไวรัสนี้ ในประชาการโลกกว่า 200 ล้านคน ประเทศไทยมีความชุกของพาหะร้อยละ 8-10 คือ ประมาณ 5 ล้านคนที่มีเชื้อไวรัสนี้ในร่างกาย พบเชื้อได้ในเลือด น้ำเหลือง สิ่งคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ เช่น น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด น้ำลาย น้ำตา น้ำนม ทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อได้หลายทาง ทางเข้าของเชื้อได้แก่
- ทางเพศสัมพันธ์ กับผู้เป็นพาหะของเชื้อนี้
- ทารกคลอดจากมารดาที่เป็นหาหะ อาจติดเชื้อระหว่างคลอด การเลี้ยงดู
- ทางเลือดและน้ำเหลือง การได้รับเลือดของผู้ที่เป็นพาหะอาจเกิดจากการใช้เข็มฉีดยาเสพติดเข้าเส้นร่วมกัน การฝังเข็มการสักการเจาะหูที่ไม่สะอาด การใช้ใบมีดโกน แปรงสีฟันร่วมกัน เป็นต้น
- ทางผิวหนังที่เกิดบาดแผล ผิวหนังถลอก
- ทางสัมผัสใกล้ชิด (Close contact) ระหว่างพาหะกับผู้อื่น เช่นสมาชิกในครอบครัว เด็กวัยเรียน เป็นต้น
ระยะการฟักตัวของเชื้อนี้กินเวลา 30-180 วัน เฉลี่ย 60-90 วัน ร้อยละ 90 ของผู้ป่วยตับอักเสบเฉียบพลันจากไวรัสนี้จะหายเป็นปกติที่เหลือเป็นพาหะของเชื้อต่อไป
พาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบบีนี้ มักไม่มีอาการแต่สามารถแพร่เชื้อต่อไป ส่วนหนึ่งอาจป่วยเป็นตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง มะเร็งตับได้ผู้เป็นพาหะของเชื้อนี้มีโอกาสเสี่ยงของมะเร็งตับสูงกว่าคนทั่วไปถึง 223 เท่าอย่างไรก็ตาม เราสามารถป้องกันโรคนี้ได้โดยใช้วัคซีน
ไวรัสตับอักเสบชนิด ซี
เป็นสาเหตุที่สำคัญของตับอักเสบที่เกิดขึ้นภายหลังการได้รับเลือดหรือ เดิมเรียกว่า ไวรัสตับอักเสบชนิด ไม่ใช่เอ ไม่ใช่บี
การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี พบในประชากรทั่วไปประมาณร้อยละ 1 ติดต่อได้โดยทางเลือดและน้ำเหลือง การใช้เข็มฉีดยาร่วมในกลุ่มผู้ติดยาเสพติด นอกจากนี้ อาจติดเชื้อได้ทางเพศสัมพันธ์
ระยะฟักตัวของเชื้อนี้ ประมาณ 15-160 วัน เฉลี่ย 50 วัน ทำให้เกิดโรคตับอักเสบเฉียบพลัน เชื้อไวรัสนี้ยังทำให้เกิดโรคตับอักเสบเรื้อรังและเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับได้เช่นเดียวกับไวรัสตับอักเสบชนิดบี และยังคงเป็นปัญหาต่อไปตราบเท่าที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้
ไวรัสตับอักเสบชนิด ดี
เป็นไวรัสที่ไม่สมบูรณ์ ต้องอยู่ร่วมกับไวรัสตับอักเสบ บี พบเชื้อนี้ในกลุ่มผู้ติดยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้นที่มีเชื้อไวรัส บี และการติดต่อ เช่นเดียวกับไวรัสตับอักเสบ บี
ไวรัสตับอักเสบชนิด อี
มีรายงานการระบาดของไวรัสนี้ในบางประเทศ เช่น อินเดีย กัมพูชา เชื้อไวรัสนี้แพร่โดยการกิน เช่นเดียวกับไวรัสตับอักเสบ เอ
อาการของโรคตับอักเสบเฉียบพลัน
มีอาการแบ่งได้เป็น 3 ระยะดังนี้
- ระยะอาการนำ มีอาการอ่อนเพลีย มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามลำตัว ปวดกล้ามเนื้อ บางรายมีอาการคล้ายไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ เบื่ออาหารมาก คลื่นไส้ อาเจียน อาจปวดท้องบริเวณชายโครงขวามีท้องเสียได้ ปัสสาวะสีเหลือง เข็มผิดปกติ ฯลฯ อาการนำเป็นอยู่ 4-5 วัน จนถึง 1-2 สัปดาห์
- ระยะอาการเหลือ “ดีซ่าน” ผู้ป่วยมีตาเหลือง ตัวเหลือง อาการทั่วไปดีขึ้น แต่ยังอ่อนเพลียอยู่อาการข้างต้นหายไป หายเหลือง โดยทั่วไประยะเวลาของการป่วย นาน 2-4 สัปดาห์ จนถึง 8-12 สัปดาห์
- ระยะฟื้นตัว อาจใช้เวลา 2-24 สัปดาห์ (เฉลี่ย 8 สัปดาห์)
การวินิจฉัยโรคตับอักเสบจากไวรัส
จากอาการดังกล่าว ทราบจาก การตรวจร่างกาย และการตรวจเลือดดังนี้
- ตรวจเลือดสมรรถภาพของตับ (Liver function test) เอ็นไซม์ SGOT & SGPT สูงกว่าปกติด้วย ถ้าผู้ป่วยมีดีซ่าน
- ตรวจเลือดว่าเป็นไวรัสชนิดใด เช่น
- IgM Anti HAV
- HBsAg;IgM Anti HBc
- Anti HCV
การรักษาโรคตับอักเสบจากไวรัส
ยังไม่มียารักษาโรคโดยตรง เป็นการรักษาตามอาการได้แก่ การพักผ่อนเต็มที่ ในระยะต้นจะทำให้อ่อนเพลียลดลง งดการออกกำลังกายการทำงาน งดการดื่มสุรา รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย น้ำหวาน น้ำผลไม้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูงในระยะที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนมาก ในรายที่อาการมากอาจให้สารน้ำเข้าเส้นเลือดดำ ให้ยาแก้คลี่นไส้ ยาวิตามิน ฯลฯ
การป้องกันการติดเชื้อ ไวรัสตับอักเสบ
- การมีอนามัยส่วนบุคคล ส่วนรวมที่ดี เช่น การล้างมือให้สะอาด ก่อนทำสิ่งใดหลังการขับถ่าย การประกอบอาหารถูกหลักอนามัยเลือกรับประทานอาหารที่สุก น้ำดื่มที่สะอาด เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการรับ การสัมผัสเลือด น้ำเหลือง สิ่งขัดหลั่งของผู้อื่น ไม่ใช่เข็มหรือของมีคม ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
- ไม่สำส่อนทางเพศ ใช้ถุงยางอนามัย
- การฉีดวัคซีนป้องกัน ไวรัสตับอักเสบบี
4.1 ทารกแรกคลอดทุกราย โดยเฉพาะถ้ามารดาเป็นพาหะของเชื้อ
4.2 เด็กทั่วไป เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
4.3 เด็กโต วัยรุ่น ผู้ใหญ่ อาจเคยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บีแล้ว ให้ตรวจเลือดก่อนพิจารณาฉีดวัคซีนคือ ตรวจหาภูมิคุ้มเคยต่อไวรัส บี (HBc Ab) ถ้าผลตรวจเป็นลบ ควรฉีดวัคซีนป้องกันให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรคไวรัสตับอักเสบบี ถ้ามีผลตรวจเป็น บวกตัวใดตัวหนึ่ง ไม่ต้องรับการฉีดวัคซีนนี้ รายละเอียดการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี โปรดปรึกษาแพทย์
- การฉีดวัคซีนป้องกัน ไวรัสตับอักเสบ เอ ใช้เมื่อมีการระบาดในบริการทารก โรงเรียน ฯลฯ
ด้วยความปรารถนาดีจาก
อายุรกรรมโรคระบบทางเดินอาหาร
โรงพยาบาลวิภาวดี